กินดีไม่มีสูตรสำเร็จ สำคัญกินด้วยใจเป็นสุข

อาหารธรรมชาติ ผักพื้นบ้านไทยจัดเป็นอาหารธรรมชาติที่มีประโยชน์โดยเป็นทั้งอาหารและยาที่ มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีได้ และยังมีผลช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคไขมันในเส้นเลือดสูง ผักพื้นบ้านส่วนใหญ่มักเป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือนิยมปลูกไว้ใช้ในครัวเรือน เช่น ตำลึง กระถิน มะระ กะเพรา ตะไคร้ มะละกอ กล้วย ฟักทอง ขี้เหล็ก และมะขาม


แนวทางการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี
ประการแรกต้องให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ที่สำคัญต้องนึกถึงอาหารประเภทที่มีเส้นใยด้วยเสมอ วัฒนธรรมการกินอาหารแบบไทย เน้นการกินพืชผักเป็นส่วนใหญ่ อาหารคู่สำรับไทยที่ใคร ๆ รู้จักดี ได้แก่ ผักน้ำพริก ซึ่งโดยทั้วไปการตำน้ำพริกจะมีการปรุงแต่งที่หลากหลายรสชาติของแต่ละท้อง ถิ่น แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การนำพืชผักพื้นบ้านสดๆ มาเป็นเครื่องเคียง เครื่องจิ้ม หรือนำมาลวก อีกทั้งอาจดัดแปลงราดกะทิตามความเหมาะสม

ปริมาณอาหารในแต่ละมื้อต้องพอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป การปรุงอาหารที่ดีต้องเน้นความสะอาดเป็นหลัก จัดเป็นสำรับที่มีคุณภาพและปลอดสารพิษ อาหารสมุนไพรส่วนใหญ่ปลอดภัยจากสารพิษ พืชผักเหล่านี้ในชนบทจะไม่ต้องซื้อหาเพราะมีอยู่ทั่วไป สำหรับในเมืองก็สามารถหาซื้อได้ในราคาถูก จึงเป็นการเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่จะหันมาพึ่งพาธรรมชาติ ว่าไปแล้วอาหารสมุนไพรให้กำไรหลายต่อ ทั้งอิ่มอร่อยได้คุณค่า ประหยัดเงินตรา และเป็นยาบำรุงร่างกายช่วยป้องกันและรักษาโรคได้อย่างคุ้มค่า ยกตัวอย่างอาหารบางประเภท เช่น แกงเลียงผักรวม ผัดสายบัว ตำลึงไฟแดง แกงขี้เหล็ก น้ำพริกตะไคร้ ยำใบบัวบก มะระขี้นกผัดไข่ เป็นต้น

พึงระลึกไว้เสมอว่ามื้ออาหารควรมีความหลากหลาย ทั้งนี้เพื่อความสมดุลของสารอาหารและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ และเป็นการเพิ่มความเอร็ดอร่อยในการรับประทานอาหาร ดังที่โบราณสอนว่าไม่กินอาหารจำเจ บางคนนิยมกินอาหารเมนูเดียวตลอดเป็นเพราะความเคยชิน ชอบอย่างไหนก็จะกินแต่แบบนั้น จึงควรพยายามเลือกอาหารที่แตกต่างหลากหลายไปจากเดิมบ้าง ไม่กินตามใจปาก แต่ใช้สมองคิดถึงประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าเพียงแค่ความอยาก อยากโน่นอยากนี่ และไม่ควรปรุงแต่งอาหารโดยไม่จำเป็น ปัจจุบันพบว่าอาหารธรรมชาติที่มีการปรุงแต่งน้อยที่สุดจะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่ร่างกาย

ประการสุดท้าย หลักการบริโภคอาหารที่ถูกต้องไม่มีสูตรสำเร็จ ธรรมชาติไม่เคยกำหนดให้ร่างกายต้องกินอะไรในวันที่หนึ่ง วันที่สอง วันที่สาม… สูตรอาหารต่างๆ ที่มีบางคนประดิดประดอยคิดค้นขึ้นมาเป็นสูตร A สูตร B นั้นไม่มีความจำเป็นเลยแม้แต่น้อย ขอให้คิดเพียงว่าบริโภคอาหารด้วยจิตใจที่เป็นสุข สุขภาพที่ดีย่อมมาจากทั้งกายและใจ ไม่กังวลกับการบริโภคอาหารจนจิตใจไม่เป็นสุข หากรู้สึกเป็นทุกข์ แสดงว่าต้องมีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นเป็นแน่แท้

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

http://www.bangkokhospital.com
http://www.bangkokhealth.com

คัดลอกมาจาก : คอลั่มไลฟ์สไตล์ | ไทยรัฐออนไลน์

Relate Post