ก่อนตั้งครรภ์มีใครรู้บ้างต้องดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อให้ลูกออกมามีวัยวะครบ 32 สมองดี
วินาทีที่ลูกคลอดออกมาแข็งแรงอวัยวะครบ 32 คือ วินาทีที่พ่อและแม่โล่งอก ส่วนใหญ่มักเน้นบำรุงร่างกายระหว่างตั้งครรภ์แล้ว รู้ไหมว่า ก่อนตั้งครรภ์ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษไม่แพ้กัน
รศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า การตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพให้ลูกออกมามีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงครบ 32 ส่วนและสมองดี พ่อแม่ควรใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองตั้งแต่ก่อนมีน้องอย่างน้อย 3 เดือน
“การเตรียมร่างกายช่วงก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 3 เดือน ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงตรวจสุขภาพและโรคประจำตัวจะช่วยให้ลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมีโอกาสเกิดมาสมบูรณ์ครบ 32 ส่วนและสมองดีได้เต็มร้อยยิ่งขึ้น”รศ.พญ.ชุติมา กล่าว
โภชนาการเป็นสิ่งสำคัญสำหรับว่าที่คุณแม่ โดยเฉพาะโฟเลท หรือวิตามินบีชนิดหนึ่งที่ละลายในน้ำ ซึ่งพบได้มากในผักสดที่มีใบสีเขียวเข้ม ไข่แดง ตับ ดอกและใบกุยช่าย ส้ม ที่ร่างกายคนท้องจะต้องการเป็นพิเศษเพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์
การบำรุงให้ร่างกายมีโฟเลททำไม่ยาก ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า เพียงกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้อ โดยเน้นผักใบเขียวที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุดเพื่อให้ได้โฟเลทตามที่ต้องการ ระดับโฟเลทที่ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรมีในเลือดอยู่ที่ 400 ไมโครกรัมหรือเพิ่มขึ้นอีก 200 ไมโครกรัมขณะตั้งครรภ์
“อาหารปรุงสุกที่นำกลับมาอุ่นทานที่บ้านเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้วเพราะมีโฟเลทน้อยมาก หากมีเวลาควรเลือกรับประทานผักที่เพิ่งซื้อมาจากตลาดใหม่ๆและผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด”ผู้เชี่ยวชาญยกตัวอย่างให้เห็นอย่างง่ายว่า ในแต่ละวันอาจแบ่งอัตราส่วนการกินเป็นเนื้อสัตว์ 15-20% ไขมันไม่เกิน 30% และคาร์โบไฮเดรต ประมาณ 55-60%
การรับประทานอาหารสำหรับการเตรียมพร้อมก่อนมีบุตร ควรดูแลเป็นพิเศษไม่ควรกินอาหารไม่เป็นเวลา ที่สำคัญคือมื้อเช้า เพราะร่างกายขาดอาหารมาตลอดทั้งคืน ซึ่งการกินอาหารมื้อเช้าจะทำให้กิจกรรมระหว่างวันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ไอโอดีนเป็นอีกสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็กอีกอย่างหนึ่ง โดยมีส่วนเสริมสร้างพัฒนาการของสมองเด็กในครรภ์ หากแม่ขาดไอโอดีนจะมีผลทำให้ร่างกายของเด็กไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน และเกิดมาเป็นโรคเอ๋อ พูดไม่ได้ หูไม่ได้ยินก็ได้
ว่าที่คุณแม่ควรเลือกกินอาหารประเภทที่มีการเสริมไอโอดีนและหมั่นตรวจ ร่างกายสม่ำเสมอเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์เพื่อให้แพทย์เป็นผู้ช่วยในการดูแลสุขภาพด้านโภชนาการว่าควรเสริมอะไรอีกบ้างไม่ควรตัดสินใจเองทั้งหมด
แม่ที่ร่างกายขาดโฟเลทจะส่งผลถึงเด็กในครรภ์ทำให้การเติบโตของอวัยวะไม่สมบูรณ์ เช่น หากเกิดบริเวณศีรษะเด็กจะไม่มีสมองและเสียชีวิตในเวลาต่อมาหลังคลอดไม่นาน หรือหากเกิดความพิการบริเวณกระดูกสันหลังจะมีถุงน้ำหรือเนื้อไขสันหลังออกมาจากกลางกระดูกสันหลัง ทำให้ส่วนร่างของร่างกายเป็นอัมพาตและระบบควบคุมปัสสาวะ อุจจาระไม่ทำงาน ซึ่งมีผลทำให้โอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีของครอบครัวเสียไปตลอดชีวิต
นอกจากอาหารแล้ว วัยสำหรับการตั้งครรภ์เป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกสมบูรณ์เช่นกัน โดยการตั้งครรภ์ช่วงอายุระหว่าง 25-30 ปี เป็นช่วงที่เด็กในครรภ์มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น สิ่งที่จำเป็นรองไปอีกคือ การตรวจร่างกายก่อนที่จะตั้งครรภ์ว่าพ่อและแม่มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง รวมถึงควรตรวจเกี่ยวกับโรคติดเชื้ออย่างซิฟิลิส เอชไอวี เพิ่มด้วยแม้ว่าคุณจะรักกันแค่ไหนก็ตาม
สำหรับว่าที่คุณแม่คนไหนที่ไม่เคยรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อมาก่อน ก่อนตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อลดความ เสี่ยงที่จะติดต่อไปยังลูกขณะอยู่ในท้อง เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมควรฉีดก่อนตั้งครรภ์ 2-3 เดือน เพราะวัคซีนทำมาจากเชื้อไวรัสหากฉีดขณะตั้งครรภ์เด็กอาจติดเชื้อหรือมีผล ข้างเคียงได้
ผู้หญิงที่กำลังจะเป็นแม่คน ต้องมีร่างกายที่เหมาะสม ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป ที่สำคัญอีกประการคือ โรคประจำตัวอย่าง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ที่เป็นปัญหาใหญ่หากเป็นโรคเหล่านี้การตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อแม่และ เด็ก รวมถึงโรคโรคธาลัสซีเมียหรือภาวะโลหิตจาง เพราะอาจทำให้เด็กที่เกิดมาจะมีภาวะซีดได้
นอกจากนี้สำหรับว่าที่คุณแม่ที่คุมกำเนิดมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนก่อนตั้งครรภ์เป็นอย่างดี เพราะโดยปกติแล้วควรหยุดยาก่อนที่พร้อมจะเป็นคุณแม่ประมาณ 3 เดือนเพื่อให้ร่างกายปรับสภาพที่พร้อมจะตั้งครรภ์
ที่มา: กานต์ดา บุญเถื่อน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 29 ก.ย. 53