หน้าหนาวเป็นช่วงที่มีอากาศเย็น จึงทำให้เกิดโรคหวัดและโรคภูมิแพ้ต่างๆ ตามมามากมาย นพ.พงศ์ธร เกียรติดำรงวงศ์ ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ได้ออกมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารที่เหมาะสำหรับหน้าหนาว ตลอดจนวิธีดูแลตนเองที่เหมาะสมในช่วงที่มีอากาศเย็น
นพ.พงศ์ธร เกียรติดำรงวงศ์ กล่าวว่า อาหารที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นนั้นเป็น อาหารที่เหมาะที่สุดสำหรับฤดูหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีไขมันสะสมน้อย หรือมีความต้านทานต่ออากาศเย็นต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงพักฟื้น เป็นต้น อาหารที่มีไขมันสูงจะให้พลังงานสูง เพื่อที่จะทำให้ร่างกายสามารถสร้างความร้อนได้เพียงพอกับความต้องการ ดัง นั้น อาหารจำพวกทอดทั้งหลายจึงเป็นที่นิยมกันในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น แต่ก็มีข้อควรระวังในเรื่องของการรับประทานสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น
ขณะเดียวกันในช่วงฤดูหนาวก็มักมีโรคหวัดแพร่ระบาด ดังนั้น อาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ป้องกันการติดเชื้อ และช่วยลดความเสี่ยงตลอดจนเพิ่มภูมิต้านทานต่อการติด เชื้อ ได้แก่ วิตามินซี วิตามินดี สังกะสี และซีลีเนียม สำหรับอาหารที่มีซีลีเนียมสูงได้แก่ ถั่วเปลือก แข็ง (Nuts) ปลาทะเล หอย ปลาหมึก ส่วนสังกะสีก็สามารถพบได้มากในหอยทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอยนางรม ผลไม้ เป็นแหล่งของวิตามินซีที่ดี รวมถึงผักบางชนิด เช่น มะเขือเทศ ส่วนวิตามินดีนั้นสามารถหาได้จากแสงแดดที่มีอยู่ตลอดปี ซึ่งโดยปกติแล้วร่าง กายสามารถสร้างวิตามินดีได้เมื่อได้รับแสงแดด ดังนั้น ควรหาเวลาออกไปเดินรับแสงแดดอย่างน้อยวันละ 15 นาที
นอกจากนี้ คุณหมอก็ได้แนะนำอาหารที่มีกลิ่นฉุน ที่สามารถช่วยลดและบรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ อันได้แก่ โพรงจมูกบวม หายใจลำบาก เช่น หอมหัวใหญ่ กระเทียม ตะไคร้ และพริก เป็นต้น แต่หากอาการภูมิแพ้นั้นเด่นชัดที่บริเวณผิวหนังและมีอาการแห้ง คัน ลอก เป็นสะเก็ด ก็ควรรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมกา 3 สูง ซึ่งจะมีในอาหารประเภทปลาทะเลที่มีไขมันสูง (แซลมอน ทูน่า คอด หรือจะเป็นปลาทูของไทยก็ใช้ได้เหมือนกัน) ถั่วเปลือกแข็ง (Nuts) ก็จะช่วยบรรเทาอาการคันลงได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่งในช่วงหน้าหนาวคือ เรื่องของน้ำหนักตัวที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะช่วงที่มีอากาศเย็นคนทั่วไปมักไม่ค่อย อยากเล่นกีฬา ประกอบกับการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากก็จะทำให้น้ำหนักตัวควบคุมได้ยาก ดังนั้น การรับประทานอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยคุณหมอได้แนะนำถึงจำนวนพลังงานที่ในแต่ละวัยควรได้รับว่า
สำหรับผู้ที่มีอายุ 15-18 ปี ต้องการพลังงานประมาณ 2,200 กิโลแคลอรี อายุ 19-24 ปี ต้องการพลังงานประมาณ 2,200 กิโลแคลอรี อายุ 25-35 ปี ต้องการพลังงานประมาณ 1,800-2,000 กิโลแคลอรี อายุ 36-50 ปี ต้องการพลังงานประมาณ 1,600 กิโลแคลอรี อายุ 51 ปีขึ้นไป ต้องการพลังงานประมาณ 1,400 กิโลแคลอรี แต่ทั้งนี้การใช้พลังงานจากกิจกรรมของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป จึงต้องมีการปรับตามความต้องการที่แท้จริง ดังนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรวมถึงนักโภชนาการอาหารที่มีประสบการณ์จะช่วยในการประเมินความต้องการพลังงานที่เหมาะสมได้ดีที่สุด คุณหมอกล่าว
ที่มา: ไทยโพสต์ 16-12-53