ตอนที่ 18 วันฟ้าใส บุญกุ้มข้าวใหญ่ที่บ้านบุ่ง (1)

17 ม.ค. – วันอาทิตย์  วันหยุดวันนี้ไม่ได้สาละวนอยู่ในรกๆ สวนที่บ้านแต่กำลังนั่งรถกระบะจะไปบ้านบุ่ง ต.โนนกาเล็น อ.สำโรง อ.อุบลราชธานี  กับตุ๊กกี้ และทีมงานโครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ  พร้อมกับรวมข้าวที่มัดแยกเป็นฟ่อนตามสายพันธุ์ราว 30 สายพันธุ์  สายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่พวกเขาเก็บรวบรวมมาจากชาวบ้านที่ปลูกศึกษาวิจัย เพื่อการอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์ไว้ในพื้นที่ของชาวบ้านเอง

กว่าเราจะเสร็จจากการเตรียมรวงข้าวและของที่จะต้องใช้ เราก็ถึงโรงเรียนบ้านบุ่งในตอนบ่าย แต่ยังทันเห็นพ่อทองเจือ สารีอาจ พ่อใหญ่ในหมู่บ้านกำลังทำพิธีไว้สิ่งศักดิ์ในลานข้าว  พิธีที่บอกกล่าวขอบคุณและขอแม่โพสพทำการปลงข้าว นวดข้าวที่เก็บเกี่ยวได้   โดยมีแม่ใหญ่อีก 3 – 4 คน นั่งร่วมในพิธี

หลังจากเสร็จพิธีง่ายๆ พ่อหมอทองเจือว่าก็หันไปบอกให้คนหนุ่มๆ แถวๆ นั้นจัดเตรียมลานพิธีโดยเอากระสอบข้าวมาล้อมแบ่งเป็น 2 วง  เพื่อให้หมู่ญาติพี่น้องที่จะทำทานข้าวเปลือกเทข้าวเปลือกข้าวเจ้าใส่วงใน  ส่วนวงนอกที่ใหญ่กว่านั้นสำหรับข้าวเหนียว

ที่หัวเสาทั้ง 4 มุมของลานพิธีซึ่งมีหลากสีสันสดกระจ่างตาด้วยริ้วกระดาษสีมีจานสังกะสีเล็กๆ ใส่มัน เผือก กล้วย และข้าวต้มมัดวางไว้ทุกมุม  เสาตรงกลางมีรวงข้าวที่ใช้ในการประกอบพิธีปลงข้าวห่อมัดรวบเครื่องเซ่นไหว้

เสร็จพิธีปลงข้าว  กับข้าว ปลา ส้มตำที่แม่ครัวทำเลี้ยงคณะเตรียมงานก็เสร็จแล้ว  ทีมงานนั่งกินข้าวโฮมกัน คุยแข่งกันม่วนซื่นท่ามกลางเสียงดนตรีคึกคัก

ระหว่างการเตรียมการ ชาวบ้านทยอยนำข้าวสารมากุ้มโฮมที่ลาน  เสียงคณะกรรมการจัดงานบรรยายเจื้อแจ้วสลับเสียงเพลงยอดนิยมผ่านเครื่องเสียงและลำโพงตัวใหญ่ยักษ์ แม่ใหญ่ 3 – 4 คนที่เมื่อครู่นี้นั่งร่วมพิธีหันมาเตรียมจัดพานบายศรีสำหรับเช้ารุ่งของวันพรุ่งนี้

dsc05065-800
dsc05068-800
dsc05072-800

ตะวันคล้อยลงแต่บรรยากาศยังคงคึกคักผิดปกติวิสัยของหมู่บ้านนี้ ทำให้ลุง  2 – 3 คนหัวเราะเย้ากับเสียงอาจารย์ใหญ่ และผู้ใหญ่บ้านที่ผลัดกันมาเป็นโฆษกเป็นระยะๆ  ระหว่างที่กำลังทำ รังผึ้ง ซึ่งสร้างจากโครงไม้ไผ่แต่งด้วยกาบกล้วย สำหรับให้ชาวบ้านนำดอกขี้ผึ้งที่ต้องการถวายวัดเพื่อนำไปหล่อรวมกันทำเป็นเทียนมาประดับตกแต่ง  มีคณะทำงานอีก 2 กลุ่มง่วนอยู่กับการตอกเสาลงหลักเตรียมจัดแสดงภาพถ่าย นิทรรศการ  และพันธุ์ข้าวเปลือก

ค่ำแล้ว… ก่อนพระจะมา  พ่อใหญ่แม่ใหญ่ พาเอาจานที่ใส่ข้าวสาร ดอกไม้ และดอกขี้ผึ้ง  ที่ประพรมน้ำปรุงน้ำหอมจนฟุ้ง รอทำพิธีที่นานเกือบ 20 ปีแล้วที่พวกเขาไม่ได้ร่วมทำกัน

dsc05117-800

เสร็จจากการเตรียมงานที่งานก็ค่ำแล้ว …   ฉันเดินไปตามทางที่พี่ประวัติชี้ให้ทาง  
“บ้านแม่สั้น …. เขาเตรียมงานกันอยู่ที่นั่น” ตอนฟ้าหรี่แสง

“ตุ๊บ ๆ ๆ ๆ ……..”  เสียงหนักๆ ดังอยู่ด้านหน้ากองไฟที่มีกระทะเหล็กขนาดใหญ่ใส่น้ำตั้งรออยู่  ปรี่เข้าดูจึงรู้ว่าเป็นการตำนวดแป้งขาวๆ  ถามดูจึงรู้ว่าเป็นแป้งที่ได้จากข้าวที่กำลังจะทำเป็นข้าวปุ้น

คนตำข้าวชี้ไปทางใต้ถุนบ้านซึ่งมีแม่บุญมา จันทร์ผิว นั่งนวดแป้งข้าวจี่อยู่อย่างแข็งขัน โดยมีลูกสาวตัวเล็กคอยเติมน้ำให้เป็นระยะไม่ขาด

แม่สั้น หรือแม่ทองมวย  มีสง่า  เจ้าของบ้าน แม่งานหลักเลยมานั่งเล่าวิธีทำขนมจีนแบบดั้งเดิมจากแป้งข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวแดง

ยี่สิบกว่าปีที่แม่สั้นไม่ได้ทำข้าวปุ้น แต่ยังจำและยังทำได้

สาว หนุ่ม เด็กและผู้เฒ่าในหมู่บ้านบ้านบุ่ง มุ่งมั่นแข็งขันเตรียมการกันเต็มที่มา 5 วันแล้ว

2 ปีก่อน พวกเขาไปร่วมงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ที่เพื่อนชาวนาร่วมใจกันจัดที่บ้านหนองพรานคาน  และเพราะปีนี้การทดลองปลูกข้าวพื้นบ้านของพวกเขาได้ผลดีจนน่าภูมิใจจึงย้ายมาทำบุญใหญ่กันที่นี่  โดยมีชาวบ้านบุ่งทั้งหมู่บ้าน กับคณะ ครู อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงโครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน ร่วมกับเป็นเจ้าภาพ เชิญสมาชิกในหมู่บ้านและเพื่อนชาวนาที่ร่วมขบวนการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาและใช้ประโยชน์ อีกหลายอำเภอ คือ บ้านหนองพรานคาน บ้านสุขสมบูรณ์ บ้านบุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์,อ.ตระการพืชผล, อ.เขื่องในและอีกหลายอำเภอ ซึ่งเป็นเครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน จ.อุบลราชธานี มาร่วมม่วนซื่นกันอย่างพร้อมหน้า

รอจน 3 ทุ่มก็ยังดูท่าว่าจะยังไม่ได้ดูพวกเขาบีบเส้นข้าวปุ้นก็ต้องกลับที่พักก่อน  มีของรางวัลที่ต้องเตรียมสำหรับการแข่งขันมันๆ ม่วนๆ  ที่พวกชาวบ้านช่วยกันคิดขึ้นมาเล่นในงานบุญที่ต้องเตรียม  พรุ่งนี้เรายังต้องกลับมาบ้านบุ่งกันแต่เช้ามืด

ครั้นปะหน้าแม่สั้นในตอนเช้าของวันพิธีในอีกวัน 
แม่สั้นเล่าอย่างขำขันว่า ….. “คนนวดข้าวปุ้นร้องไห้!”

จริงสินะ…. อึดแค่ไหนที่ต้องใช้แรงนวดเฟ้นกันขนาดนั้น  และที่สำคัญ… กะทำเส้นข้าวปุ้นเลี้ยงกันไม่ใช่แค่ทั้งหมู่บ้าน แต่เป็นตั้ง 3 – 4 หมู่บ้านแบบนี้  ไม่รู้ว่าปีหน้าจะยังเข็ดไหม?

(โปรดอ่านต่อตอนหน้า)

วิธีทำข้าวปุ้น

  • ข้าวเจ้าแดงแช่น้ำ 1 วัน แล้วสงขึ้นใส่กระสอบทิ้งไว้ 4 วัน
  • นำไปตำเพื่อให้เป็นแป้ง  แล้วเอาไปละลายน้ำแล้วคั้นกรองเอาแต่เนื้อแป้งไว้ ทิ้งไว้ 2 วัน แป้งข้าวจะแข็งขึ้น ก็นำมาปั้นเป็นก้อนแล้วนำไปนึ่ง
  • นำแป้งที่นึ่งไปแช่น้ำให้เย็นแล้วตำอีกครั้ง
  • นำแป้งปุ้นที่ตำแล้วมานวดแล้วค่อยๆ ผสมกับน้ำ เพื่อเตรียมเอาไปบีบเป็นเส้นลงในน้ำร้อนๆ แล้วจับขึ้นมาเป็นหัว

คลิ๊ป
นวดข้าวปุ้นบ้านบุ่ง (3.01 นาที)  http://www.youtube.com/watch?v=BitR9yZ9Wpo

จี่ข้าวปุ้น probiotic พื้นบ้าน (7.17 นาที)   http://www.youtube.com/watch?v=FC6KqlV2IQc

Relate Post