ราชบุรีเร่งเครื่อง”เมืองเกษตรสีเขียว” ยกมาตรฐานพืชผัก2.3หมื่นไร่ รุกส่งออก

คิกออฟไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับโครงการ “เมืองเกษตรสีเขียว” (Green Agriculture City) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับ 13 หน่วยงาน คัดเลือก 6 จังหวัดนำร่องที่มีศักยภาพด้านการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีสินค้าเกษตรที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะภูมิประเทศ สำหรับพื้นที่ 6 จังหวัดนำร่องประกอบด้วย 1.จังหวัดเชียงใหม่ มีความโดดเด่นในการผลิตผลไม้และพืชผักเมืองหนาว 2.จังหวัดศรีสะเกษ โดดเด่นในการผลิตข้าว พืชผัก และผลไม้ 3.จังหวัดจันทบุรี โดดเด่นในการผลิตผลไม้เมืองร้อนและการประมง 4.จังหวัดราชบุรี โดดเด่นในการผลิตปศุสัตว์และพืชผัก 5.จังหวัดหนองคาย โดดเด่นเกษตรอินทรีย์และการค้าชายแดน และ 6.จังหวัดพัทลุง โดดเด่นการผลิตเกษตรผสมผสาน โดยในปี 2557 ได้รับงบประมาณดำเนินโครงการทั้งสิ้น 440 ล้านบาท

ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินงานหลังจากนี้ คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะลงพื้นที่จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นในพื้นที่เป้าหมายทั้ง 6 จังหวัด มุ่งพัฒนาให้เกิดเมืองเกษตรสีเขียวได้ในปี 2561

เป้าหมายจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตสินค้าเกษตร ระบบโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่การผลิต สร้างความปลอดภัยทางอาหาร ตลอดจนกระบวนการผลิตและแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ด้วยการใช้เทคโนโลยีสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับจังหวัดราชบุรีซึ่งเป็น 1 ใน 6 พื้นที่นำร่องนั้น “ประเสริฐ เทพนรประไพ” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 (ดูแลรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี) บอกว่า จะเริ่มโครงการดังกล่าวที่ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เพราะราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการผลิตสินค้าเกษตร เช่น ผักสวนครัว ผลไม้ ประมง ปศุสัตว์ จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุดที่จะใช้เป็นต้นแบบของโครงการนี้ในโซนภาคกลางและภาคตะวันตก

ทั้งนี้ ในปี 2557 จังหวัดราชบุรีได้รับงบประมาณจำนวน 8 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาใช้จ่ายในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพัฒนาคุณภาพดิน, พืช, การส่งเสริมการผลิตตามระบบ GAP การแยกของเสียจากกระบวนการผลิตเพื่อนำมาผลิตพลังงานทดแทน มุ่งเน้นการลดของเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) เน้นให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยสดที่ผลิตจากธรรมชาติ นอกจากนี้ จะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนการเพาะปลูก ลดการปล่อยของเสีย สารเคมีลงสู่แม่น้ำลำคลอง

อย่างไรก็ตาม วางเป้าหมายภายใน 2-3 ปีจะเห็นสินค้าเกษตรปลอดสารพิษจากราชบุรีออกสู่ตลาด และจะมีการผลักดันโครงการนี้กระจายไปทั่วทุกอำเภอ เพราะราชบุรีมีตลาดศรีเมืองซึ่งเป็นตลาดค้าปลีก/ค้าส่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว โดยเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรไปทั่วประเทศ รวมทั้งตั้งอยู่ในทำเลที่สามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศเมียนมาร์ หรือผ่านเมืองทวายเชื่อมโยงไปถึงอินเดียได้ด้วย

ดังนั้น ในเฟสต่อไปที่จะมีการส่งเสริมคือ จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ถึง 2 ด่าน คือ ด่านพุน้ำร้อน และด่านเจดีย์สามองค์ รองลงมาคือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพรมแดนติดกับเมียนมาร์บริเวณด่านสิงขร และจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร ตามลำดับ

ขณะที่ “มานิตย์ พุ่มร่มไทร” ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินราชบุรีบอกว่า ราชบุรีตั้งเป้าเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2,300 ราย พื้นที่ 23,000 ไร่ จากพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 1 ล้านไร่เน้นพัฒนาพืชผักสวนครัวและพืชไร่ให้ผ่านมาตรฐาน GAP ตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่มีแนวโน้มบริโภคสินค้าเกษตรปลอดสารพิษเพิ่มสูงขึ้น

ขณะนี้กำลังชี้แจงเกษตรกรเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการ แนะนำการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้วิธีไถกลบตอซังข้าวให้เป็นปุ๋ย ไม่ใช้วิธีการเผาทิ้งที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในปีนี้จะเร่งเดินหน้าแจกถัง กากน้ำตาล สมุนไพรในการทำยาฆ่าแมลง การทำปุ๋ยสด แจกเมล็ดพันธุ์พืช สาธิตวิธีการทำปุ๋ย เตรียมศึกษาเรื่องการก่อสร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย

“หากโครงการนี้เกิดขึ้นได้ทั้งจังหวัด และสามารถส่งออกผ่านทวายไปยังเมียนมาร์ จีน อินเดีย จะสามารถดันรายได้ภาคเกษตร ปศุสัตว์ทะลุถึง 1 แสนล้านบาท/ปี ปัจจุบันมีมูลค่า 4-5 หมื่นล้านบาท/ปี”

ฉะนั้น ต้องจับตาดูว่าโครงการนี้จะประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน หากทำได้จริงก็จะเพิ่มโอกาสทางการค้าและส่งออก ที่สำคัญคนไทยก็จะได้บริโภคพืชผักไร้สารพิษสุขภาพดีกันถ้วนหน้า

ที่มา http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1399010982&grpid=03&catid=24&subcatid=2400

#########
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์
การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆจากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่
ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post