ว่างทำนา แหย่ไข่มดแดงขาย สู้ภัยเศรษฐกิจ

ในยุคข้าวยาก หมากแพง ผู้คนต่างดิ้นรนเอาตัวรอด โดยเฉพาะผู้ที่หาเช้ากินค่ำ รายได้ไม่พอรายจ่าย ชักหน้าไม่ถึงหลัง เดือดร้อนแสนสาหัส ซึ่งก็มีหลายคน ที่ไม่ท้อแท้ ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อชีวิต ก้มหน้าทำมาหากิน ปากกัดตีนถีบ จนสามารถฝันฝ่าสภาพเศรษฐกิจตกสะเก็ดไปได้ในระดับหนึ่ง

อย่างเช่น แม่บ้านชาวนาอีสานที่ชื่อ นางแต ลุนพันธ์ อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 152 หมู่ที่ 7 บ้านคำกลาง ต.โนนหนามแท่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ มีอาชีพทำนาปลูกข้าว มาตั้งแต่บรรพบุรุษ แม้ผลผลิตปีนี้จะไม่ดี แถมผจญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังสู้ทนก้มหน้าทำนาปลูกข้าวทุกปี เพื่ออนุรักษ์ไว้ ซึ่งอาชีพชาวนาที่แสนรัก

โดยเฉาพะเมื่อถึงฤดูร้อน แสงแดงแรงกล้า ทำให้ผืนดินบริเวณท้องนาแห้งแตกระแหง น้ำฝนที่กักเก็บไว้ ในรูปแบบ สระน้ำ ก็แห้งขอด ไม่มีน้ำจึงไม่สามารถปลูกพืชผัก หลังว่างเว้นทำนาได้ ก็รอให้ถึงฤดูฝนอย่างเดียว จึงจะสามารถทำนา ซึ่งเรียกว่า การทำนาปี นี่คือสภาพความเป็นจริงของชาวนาภาคอีสาน

ทว่าชาวอีสาน ไม่เคยย่อท้อกับสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย และได้ชื่อว่า เป็นนักสู้ชีวิต ด้วยการปรับสภาพการกิน การอยู่ ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม จึงเป็นที่มาของอาหารท้องถิ่นที่หลากหลายชนิด เช่น ส้มตำ คั้วแมงกีนูน ก้อยกะปอม ฯลฯ ด้วยรสชาติอร่อยที่แตกต่างกัน ส่งผลให้อาหารอีสานมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะ ส้มตำ

นอกจากนี้ “ไข่มดแดง” ก็เป็นอาหารยอดนิยมของชาวอีสานที่นิยมรับประทานในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากมดแดงวางไข่ในช่วงนี้ และหาง่าย จึงพบเห็นชาวอีสาน ตามหมู่บ้าน ตำบล ถืออุปกรณ์แหย่ไข่มดแดงกันอย่างคึกคัก หลายคนนำไปบริโภคและมีจำนวนไม่น้อยที่นำไข่มดแดงไปขายสร้างรายได้เป็นอย่างดี

นางแต ลุนพันธ์ อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 152 หมู่ที่ 7 บ้านคำกลาง ต.โนนหนามแท่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ขณะกำลังแหย่ไข่มดแดง บอกว่า ตนมีอาชีพทำนาปลูกข้าว ผ่านมา 3 ปีแล้ว ปลูกข้าวก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็พอมีข้าวไว้กินปีชนปี เมื่อหมดฤดูทำนาก็จะว่างงาน ก็รอทำนาอย่างเดียว ก็อยู่ในฐานะยากจน อยากฝากไปถึงรัฐบาลควรช่วยเหลือชาวนาให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำนา เพราะฝนตกไม่ดี ต้องไปหารับจ้างทำงานก่อสร้างในตัวเมืองอำนาจเจริญเพื่อได้มีเงินซื้อข้าวกินไปวันๆ  ถึงจะอย่างไร ตนก็ยังคงทำนาต่อไปเพราะเป็นอาชีพที่ตกทอดมาจาก ปู่ ย่า ตา ยาย แม้จะเสี่ยงกับการขาดทุนก็ตาม

นางแต ลุนพันธ์ บอกที่ต้องมาแหย่ไข่มดแดง ว่า ช่วงหน้าร้อนของทุกปีมดแดงเริ่มวางไข่ ในรังบนต้นไม้ ซึ่งสมัยเด็กๆ เคยไปหาแหย่ไข่มดแดงกับแม่ เรียนรู้ วิธีการทำอย่างชำนาญ กระทั่งโตจึงเดินตามรอยแม่ ทำการแหย่ไข่มดแดงจนกระทั่งปัจจุบันนี้

นางแต บอกถึงอุปกรณ์และวิธีแหย่ไข่มดแดงว่า เครื่องมือ-อุปกรณ์ในการแหย่ไข่มดแดง ก็คือ 1.ไม้ไผ่ยาว 5- 6 เมตร 2. ที่รองไข่มดแดง ทำมาจาก ตาข่ายใช้เส้นลวดลัดให้แน่น ซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลม โดยนำไปผูกไว้หรือยึดติดกับปลายไม้ไผ่  3. ถังใส่น้ำ สำหรับใส่ไข่มดแดง

วิธีแหย่ไข่มดแดง เมื่อพบเห็นรังมดแดงที่อยู่บนกิ่งไม้ ก็จะใช้ไม้แหย่ๆจนรังมดแดงแตก ซึ่งมดแดงและไข่ก็จะตกลงมาที่บ่วงทำจากตาข่ายซึ่งยึดติดกับปลายไม้ไผ่ ก็จะไช้เวลาแหย่อยู่ประมาณ 1- 2 นาทีจนมดแดงหรือไข่หมดรัง จากนั้น ก็จะนำบ่วงจุ่มลงน้ำที่ถังเตรียมไว้ ทั้งมดแดงและไข่ก็จะอยู่ที่ถังน้ำ(น้ำครึ่งถัง) แล้วใช้ผ้ากวน ให้มดแดงจับที่ผ้า เพื่อเป็นการแยกมดแดงกับไข่ออกจากกัน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการแหย่ไข่มดแดงรังแรก จากนั้นก็จะเดินตระเวนหารังต่อไปจนกว่าจะได้ไข่มดแดงตามต้องการ

สำหรับการซื้อขายไข่มดแดง นางแต บอกว่า หลังจากที่แหย่ไข่มดแดงได้ตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ก็จะนำมาห่อด้วยใบตองกุง ซึ่งจำหน่ายห่อละ 10 บาท บางวันก็ขายได้ 10 ห่อ เป็นเงิน 100 บาท วันไหนไปใกล หาได้เยอะจำนวนเงินก็เพิ่มขึ้นก็อยู่ที่ 200 -300 บาท ถ้าเป็นกิโลกรัม ก็จะขายกิโลกรัมละ 200 บาท ส่วนมากตามร้านอาหารจะสั่งซื้อเป็นกิโลกรัม โดยเอาไปปรุงอาหาร เป็นเมนูจานเด็ดที่ชื่อว่า ยำไข่มดแดง ลูกค้านิยมรับประทานมาก นอกจากนี้ยังนำไป ก้อยไข่มดแดง หรือผสมกับไข่ไก่หรือไข่เป็ดทอด บางคนก็จะนำไข่มดแดงกับผักสะเดารับประทานสดๆ หรือไม่ก็แกงอ่อมกับเนื้อวัว แกงไข่มดแดงกับผักหวาน หรือหน่อไม้ เป็นต้น แต่ทุกวันนี้รังมดแดงเริ่มจะหายาก เพราะไม่ค่อยมีป่า ถึงอย่างไร ก็ต้องดิ้นรนหาแหย่ไข่มดแดงต่อไป เนื่อจากเป็นรายได้เสริมหลังทำนานั่นเอง…

ที่มา: แนวหน้า วันที่ 20 กุมภาพันธ์  2556 โดย สนธยา ทิพย์อุตร http://www.naewna.com/local/42111

ที่มารูปภาพ: http://www.gotoknow.org/posts/479820

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post