เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีฯตรวจพบ’ผักชี’สารตกค้างเกินมาตรฐาน

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ แถลง(เมื่อ 7 ส.ค.) ถึงผลการสุ่มตรวจผัก 7 ชนิด เมื่อ  ได้แก่ กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา โดยสุ่มเก็บจากตลาดสดทั่วไป 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดห้วยขวาง และตลาดประชานิเวศน์ รวมถึงผักที่ขายในรถเร่ รวม 21 ตัวอย่าง เพื่อนำไปวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต ที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ผลปรากฎว่าพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐานทั้งหมด 8 ตัวอย่าง คิดเป็น 38.1% หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผักทั้งหมด โดยผัก 3 ชนิดที่มีสารพิษตกค้างมากที่สุด ได้แก่ 1.ผักชี พบสารตกค้างเกินมาตรฐาน 5 ชนิด  ได้แก่ Carbofuran, Chlorpyrifos, EPN, Methidathion และ Methomyl  2.ถั่วฝักยาว พบสารตกค้าง 6 ชนิด และ 3.ผักคะน้าและพริกจินดา พบสารตกค้าง 2 ชนิด

img_2545

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบปริมาณสารที่พบในผักจะเห็นว่า ผักชีมีความรุนแรงและน่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากพบสารคาร์โบฟูรานเกินค่ามาตรฐานยุโรปถึง 37-56 เท่า และพบสารอีพีเอ็นเกิน 102 เท่า (ผักชีตลาดประชานิเวศน์ พบ Carbofuran เกิน 56.5 เท่า ตลาดห้วยขวาง พบ EPN เกิน 102 เท่า) ขณะที่ถั่วฝักยาวพบคาร์โบฟูราน เมโทมิล และอีพีเอ็นเกินมาตรฐาน 3.5, 4 และ 34 เท่า ตามลำดับ ขณะที่ผักบุ้งจีนไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมตตกค้าง ส่วนกะหล่ำปลีและผักกาดขาวเดิมคาดว่าจะมีสารตกค้างมาก แต่จากการสำรวจพบการตกค้างน้อยกว่ามาตรฐานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้

สำหรับอันตรายจากสารสหกรณ์กำหนดไว้  สำหรับอันตรายจากสารเคมี 4 ชนิดร้ายแรง ได้แก่ 1.คาร์โบฟูราน 2.เมโทมิล 3.ไดโครโตฟอส และ 4.อีพีเอ็น โดยจะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตและส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ได้แก่ โรคมะเร็งและเป็นหมัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเรียกร้องให้ยกเลิกการขึ้นทะเบียน เนื่องจากหลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีฯเสนอข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1.กรมวิชาการเกษตรต้องควบคุมการส่งเสริมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้เข้มงวดเท่าเทียมกับมาตรฐานการส่งออก 2.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องมีมาตรฐานสุ่มตรวจโดยทำงานเชิงรุก 3.ผลักดันเกษตรกรรมอินทรีย์และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี และ 4.ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผักพื้นบ้าน และให้ล้างน้ำหลายๆ ครั้ง หรือใช้ด่างทับทิม

img_2541
img_2557

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า  เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เตรียมยื่นเรื่องไปยังกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการควบคุมการส่งเสริมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของบริษัทสารเคมีและเกษตรกรให้เข้มงวดเท่าเทียมกับที่มีมาตรการที่ใช้กับผักส่งออก และให้การยกเลิกการขึ้นทะเบียนและห้ามมิให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่หลายประเทศห้ามใช้แล้วโดยทันที นอกจากนี้ จะยื่นเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้มีมาตรการในการสุ่มตรวจดูความปลอดภัยของผักและผลไม้ด้วย

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 8 สิงหาคม 2555 โดย ณัฐญา เนตรหิน http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=135233:2012-08-08-04-04-22&catid=176:2009-06-25-09-26-02&Itemid=524

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post