ลูกน้ำเต้าแห้งแขวนบนผนังบ้านเขียนด้วยตัวลายมือพลิ้วไหวว่า ‘เดือนห่ม ดินหอม’
นั่นเป็นชื่อใหม่ของ ‘ไร่กอนสะเดิน’ แห่งอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
กอนสะเดิน แปลว่า คนหนุ่ม มาจากภาษาขะมุ-ชาติพันธุ์หนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในอำเภอบ้านไร่ ส่วนชื่อใหม่ ไม่ได้มีที่มาจากอารมณ์โรแมนติกจากการมองดวงเดือน แต่ ‘เดือน’ ในที่นี้หมายถึง ‘ไส้เดือน’ สิ่งมีชีวิตที่ช่วยพรวนดินให้ร่วนซุย ที่ใดมีไส้เดือนที่นั่นดินจะอุดมสมบูรณ์
ราเมศวร์ เลขขยัน เจ้าของไร่วัย 30 เศษ ไว้ผมไว้หนวดและแต่งกายเรียบง่าย ด้วยลักษณะคล้ายศิลปินและชอบเป็นคนเล่นดนตรี ชาวบ้านจัดให้เขาอยู่ในประเภท ‘เพื่อชีวิต’ ไม่ว่าใครจะนิยามตัวเขาอย่างไร แต่สถานภาพตอนนี้ เขาคือ ชาวไร่
พื้นที่ 40 ไร่ ที่ขนาบข้างด้วยภูเขาหินปูน ไร่มีพันธุ์ไม้หลายชนิด มีบ้านไม้หลังกะทัดรัดน่ารัก มีแผงโซล่าเซลล์เก็บพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้สอย บ้านอีกหลังถัดขึ้นไปเป็นบ้านของพี่ชายของราเมศวร์ที่ลงหลักปักฐานใช้ชีวิตในวิถีเดียวกัน
ยามเช้าที่ไก่ป่าและเสียงนกร้องดังมาจากป่าบนภูเขา ราเมศวร์เก็บผักสดในไร่มาประกอบอาหารมื้อเช้า ยามสาย เขาจะเริ่มงานในไร่อย่างไม่รีบเร่ง เขาตัดแต่งกิ่งมะขาม ขนุน นำกิ่งเตรียมเข้าเตาเผาถ่าน เก็บกวาดใบไม้ ถางหญ้าสุมใส่โคนต้นไม้ให้เป็นปุ๋ยไร่ของราเมศวร์ปลูกมะขาม ลำไย ขนุน และพืชผักพื้นบ้าน เมื่อถึงฤดูทำนา เขาปลูกข้าวแซมในไร่ ข้าวเหลืองน้อยกับข้าวเหลืองใหญ่พอกินทั้งปี ผลผลิตในไร่พอกินพอขายเลี้ยงครอบครัว
จากเด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพียง 2 ปี ก่อนหลงใหลการทำกิจกรรมด้วยการเล่นดนตรีให้กับค่ายของมูลนิธิโกมลคีมทอง แต่กระนั้นเขาก็เรียนจนจบ เขาคลุกคลีกับองค์กรพัฒนาเอกชนแถบจังหวัดภาคเหนือ ก่อนจะทำงานกับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ บุกป่าฝ่าดงขึ้นเขาลงห้วยทั่วประเทศ
หลังจากนั้น เขาเข้าไปเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเองที่ ‘สวนฝากดิน’ ของ ป้าปอน-ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล เป็นเวลา 1 ปี ป้าปอนถือเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการใช้ชีวิตทางเลือกให้เขา อีกทั้งการได้พบปะเรียนรู้จากปราชญ์ทั่วประเทศ ทำให้เขาเกิดความมั่นใจและกลับมาทำไร่ที่บ้านเกิด
ด้วยความที่เคยทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและเป็นคนรักธรรมชาติ เขาจินตนาการถึงโลกในอุดมคติ
“ตอนนั้นเป็นเรื่องของความโรแมนติกของวัยหนุ่ม ปลูกกระท่อมติดลำธาร ทำไร่ ปลูกต้นไม้อย่างที่เราชอบ แต่ก็ยังปลูกพืชผัก ปลูกข้าว เพราะความคิดแรกคือ ตั้งใจจะอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้าน ปลูกและเก็บสะสมพันธุ์พืช เพราะได้เรียนรู้จากชุมชนชาวสวน ทำให้มีทุนทางความคิดเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ”
‘ชุมชนชาวสวน’ คือเครือข่ายคนที่ใช้ชีวิตทางเลือกด้านการทำเกษตร ที่มีส่วนบ่มเพาะความคิดและทำให้ราเมศวร์รู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว
ราเมศวร์ปรารถนาจะทำเกษตรธรรมชาติ ตามแบบของ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ที่เขาได้ซึมซับมาจากหนังสือ ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว เป็นการทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี ไม่ไถพรวนดิน เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับความต้องการของเขาที่อยากใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิม
ราเมศวร์คิดถึงภาพอดีตวัยเด็กที่เคยคลุกคลีในสวนหมาก เนื่องด้วยวิถีชีวิตของคนบ้านไร่สมัยก่อนผูกพันอยู่กับสวนหมาก ซึ่งถือเป็นการเกษตรผสมผสาน ในสวนหมากมีพืชผักกินได้มากมาย แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน สวนหมากถูกถางลงเพื่อทำไร่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่าง อ้อย ข้าวโพด มะเขือ
ระบบนิเวศดั้งเดิมเปลี่ยนไป รายรอบไร่ของราเมศวร์เต็มไปด้วยไร่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งใช้สารเคมี เขาคิดว่าน่าจะมีหนทางหยุดยั้งและทำให้ผืนป่ากลับมา แต่การกลับมาอยู่ไร่ของเขาก็ไม่ได้ทำตัวแปลกแยกไปจากชาวบ้านจนสุดขอบโลก
“เราไม่ได้ทำแบบสุดขั้ว ยังใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน เวลามีวงคุยกับชาวบ้าน เขาพูดเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมี เราก็ฟังเขา แรกๆ ยังใช้ปุ๋ยกับเขาบ้าง แต่เราแบ่งพื้นที่ที่ไม่ใช้สารเคมี ทำให้ชาวบ้านยังมองว่าเราไม่ได้แตกต่างจากเขานัก แต่เรายังยืนยันกับชาวบ้านว่า จะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลง แต่จะใช้น้ำหมักและพืชผักสมุนไพรเป็นยาแทน”
ปัจจุบันไร่ของราเมศวร์ไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ เขาบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด ปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ปอเทือง เพื่อห่มคลุมรักษาหน้าดิน ใช้ปุ๋ยคอกบ้าง ซึ่งเป็นวิธีที่เขาบอกว่าถูกจริตที่สุด
6 ปีของชีวิตชาวไร่ รายได้เลี้ยงชีพของเขามาจากผลไม้ อย่างเช่น มะขามพันธุ์กระดาน เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ให้ฝักใหญ่ เขานำมาแปรรูปเป็นมะขามแช่อิ่ม วางขายตามรีสอร์ตให้นักท่องเที่ยว
งานในไร่ของราเมศวร์ บางครั้งดูเหมือนสบาย จนผู้หลักผู้ใหญ่พูดแซวว่า เขาทำงานสบาย ดายหญ้าด้วยสายกีตาร์ แต่บางวันเขาทำงานหนัก เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด
แม้จะเหนื่อย แต่ในวันที่พืชในไร่ออกดอกผล ตอนเช้าๆ เขาจะตื่นมาเดินดูผลผลิตอย่างชื่นชม ลูบคลำรวงเรียวข้าวไร่ด้วยความสุขล้น
เหมือนว่าราเมศวร์ทำความฝันกับความจริงให้บรรจบกันอย่างลงตัว เขาได้ใช้ชีวิตอยู่ในไร่ ได้เล่นดนตรีและเขียนเพลงบ้าง แต่ความฝันของเขายังไม่สิ้นสุด เขาวาดฝันที่จะเห็นพื้นที่บางส่วนของไร่เป็นวนเกษตร เป็นสวนป่าที่เดินเข้าไปเก็บหาอะไรกินได้ มีสมุนไพร มีต้นไม้พันธุ์พื้นถิ่น ทำเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ
“เรามีความฝันที่จะทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนในเรื่องวนเกษตร คืออยากให้ชาวบ้านเขาเห็นว่าสิ่งที่เราทำตรงนี้คืออะไร ทำยังไง แต่ภาพตอนนี้ยังไม่ได้ทำให้ชาวบ้านสะดุดตา เพราะยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน ยังเป็นความหวังระยะยาว”
ในระยะใกล้ ราเมศวร์คิดอยากทำร้านขายผลิตภัณฑ์สุขภาพหน้าไร่ ขายพืชผักพื้นบ้าน ทาบกิ่งพันธุ์ไม้ในไร่ขาย รวมถึงสินค้าแปรรูปจากวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเพื่อการเลี้ยงชีพ แต่อีกส่วนเขาหวังว่าชาวบ้านจะเห็นคุณค่าของวิถีที่ทำอยู่ทำกินกับผืนดิน เพราะลำพังไปพูดคงไม่มีใครเชื่อ ดังนั้นจำเป็นต้องทำให้เห็น
“ทุกวันนี้ชาวบ้านใช้ดินโดยไม่เคารพดิน สักวันหนึ่งต้องทำให้ชาวบ้านเห็นว่าเราเคารพต่อดินแค่ไหน ดินของเราจะไม่มีวันตาย ปลูกอะไรก็งอกงาม เราเคารพพระแม่ธรณี รู้บุญคุณของแผ่นดิน เมื่อเขาเห็นเขาคงจะเข้าใจ และคงอยากจะรักษาผืนดิน รักษาป่าไม้เหมือนเราบ้าง”
แม้จะเรียกตัวเองว่า เกษตรกรตัวปลอม แต่วิถีที่ราเมศวร์ปฏิบัติอยู่นั้น มันบอกว่าเขาทำจริง
…………………………………………………………………….
เมนูคู่สวน
“น้ำพริกมะเขือส้ม” ของคนลาวบ้านไร่
ชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่มากในอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี คือ ‘ลาว’
และน้ำพริกที่ถือเป็นเป็นอาหารพื้นบ้านของอำเภอบ้านไร่ คือ น้ำพริกมะเขือส้ม อาหารง่ายๆ ที่เก็บพืชผักในไร่ในสวนมาทำ
วิธีทำเริ่มจาก นำปลาร้ามาสับให้ละเอียด ตำพริกสด กระเทียม หอมแดงให้เข้ากัน ใส่ปลาร้าที่สับละเอียดลงไป ตามด้วยมะเขือเทศ (มะเขือส้ม) ลงไป เหยาะน้ำปลาให้รสชาติกลมกล่อม เท่านี้ก็ได้น้ำพริกมะเขือส้ม หรือ แจ่วมะเขือส้ม สุดแต่จะเรียกขาน
เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่การนำมะเขือเทศไปคั่วนิดหน่อยในกระทะร้อนๆ
หากไม่นิยมกินปลาร้าดิบ ก็สามารถนำน้ำพริกไปผัดให้สุก ได้รสชาติดีไม่แพ้กัน
*********************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ พฤษภาคม 2550)
ที่มา: ไร่กอนสะเดิน เรื่องและภาพ : สุวิทย์ สุดสมศรี way magazine http://waymagazine.org/life/เดือนห่ม-ดินหอม-ของคนหนุ/
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”