แฉสาเหตุใหญ่เผาป่าภาคเหนือหวังหาเห็ด-ผักหวาน

อธิบดีกรมคบคุมมลพิษชี้สาเหตุคนเผาป่าภาคเหนือเพื่อหาเห็ด เผาะและเก็บผักหวาน หากไม่เผาผักหวานจะไม่แตกยอด เผยปัญหาหมอกควันเริ่มลดลง แต่นิ่งนอนใจไม่ได้ กำชับผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดกวดขันเต็มที่…

เมื่อ วันที่ 20 ก.พ. นายวิจารณ์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า ช่วงวันที่ 16-19 ก.พ.ที่ผ่านมา คุณภาพอากาศในภาคเหนือมีปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก มีปริมาณเฉลี่ยเกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในหลายพื้นที่คือ ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะ จ.ลำปาง ที่ อ.เมือง และ อ.แม่เมาะ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 24 ชั่วโมง คือ 235 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สาเหตุสำคัญคือ การเผาป่าเพื่อหาเห็ดเผาะและเก็บผักหวาน โดยการเก็บผักหวานนั้นหากไม่เผาป่า ผักหวานจะไม่แตกยอด ส่วนเห็ดเผาะหากมีต้นไม้และหญ้าขึ้นคลุมผิวดินมากๆ ก็จะขึ้นไม่ได้

“พบว่า พื้นที่ที่พบไฟป่ามี 3 พื้นที่คือ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่เกษตรกรรม ที่มีชุมชน นอกจากนี้ ก็เป็นการเผาเศษวัสดุในไร่นา เช่น ซางข้าวโพด เพื่อเตรียมเพาะปลูกคราวต่อไป แต่จากการตรวจวัดล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.พ. พบว่าหลายพื้นที่สถานะการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ยกเว้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ยังเกินค่ามาตรฐานเล็กน้อย ส่วนที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ก็เหลือเพียง 70-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์หมอกควันที่คลี่คลายลงก็ใช่ว่าจะหายไป สาเหตุที่คลี่คลายเป็นเพราะเมื่อมีการเผาป่า ควันไฟก็จะเกิดขึ้นสูงสุดตามปริมาณเชื้อเพลิง และค่อยๆ หายไป แน่นอนว่า เมื่อมีการเผาอีกควันไฟก็จะเกิดขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้น จึงไว้ใจไม่ได้ว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วมันจะไม่เกิดขึ้นมาอีก ต้องกำชับให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดกวดขันกับเรื่องนี้” นายวิจารณ์ กล่าว

อธิบดี คพ. กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบจุดกำเนิดความร้อนที่ก่อให้เกิดหมอกควันแล้ว พบว่าพื้นที่พรมแดน และประเทศเพื่อนบ้านก็สร้างปัญหาเรื่องนี้ไม่น้อย เพราะควันไฟเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะลอยฟุ้งกระจายไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีชนกลุ่มน้อยของประเทศเพื่อนบ้าน ที่รัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการเผาไหม้ป่าได้ สร้างปัญหาหมอกควันกระจายเข้าจังหวัดที่อยู่แนวชายแดนประเทศไทยมาก

ที่มา: ไทยรัฐ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 http://www.thairath.co.th/content/edu/239875

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post