แอ่ว “กาด 3 วัย” เมืองแพร่ สัมผัส…เศรษฐกิจชุมชน

จัดเป็นยุทธศาสตร์อันดับต้น ๆ ของจังหวัดแพร่ ที่พยายามผลักดันชุมชนให้มีรายได้เลี้ยงชีพ โดยการจัดพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนคนเมืองขึ้นทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ ภายใต้ชื่อ “กาด 3 วัย” โครงการนี้ทำให้เกิดกระแสการเงินหมุนเวียน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน มาถึงตอนนี้ เรียกว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เริ่มต้นจากจำนวนร้านค้าเพียง 40 ร้าน เพิ่มเป็น 80 ร้านค้า มีเงินหมุนเวียนสัปดาห์ละ 2-3 แสนบาท

โครงการกาด 3 วัย รองรับได้ตั้งแต่ วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุร่วมกิจกรรมบนลานคนเมือง โดยปรับพื้นที่สนามเทนนิสเดิมหน้าศาลากลางจังหวัดแพร่ เปิดเป็นลานเศรษฐกิจชุมชนกาด 3 วัยขึ้น ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา เดิมทีเป็นความร่วมมือระหว่างจังหวัดแพร่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และเทศบาลเมืองแพร่ แต่ขณะนี้อยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองแพร่

“สมชัย หทยะตันติ” ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ บอกว่า จังหวัดพยายามสนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เลี้ยงชีพและครอบครัว ไม่จำเป็นต้องเป็นระบบเศรษฐกิจ หรือภาคธุรกิจขนาดใหญ่ แต่พื้นที่ขนาดเล็ก ๆ หากอัดแน่นไปด้วยคุณภาพเช่นกาด 3 วัยนี้ ก็สามารถทำให้มีกระแสเงินหมุนเวียนได้ ส่วนใหญ่ให้ประชาชนเป็นเจ้าของธุรกิจเอง

ที่สำคัญเมื่อริเริ่มโครงการแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับช่วงไปดำเนินการ เพื่อทำให้พื้นที่เศรษฐกิจชุมชนสร้างรายได้ต่อเนื่องและยั่งยืนกับคนเมืองแพร่

“กาด 3 วัย” มีจุดเด่นด้านอาหารการกิน และสินค้าที่จำหน่าย มีกฎว่า ต้องเป็นของพื้นเมืองหากินยาก และอาจเลือนหายจากวิถีชีวิตคนเมืองไปแล้ว ที่สำคัญ บนเวทีได้เพิ่มกิจกรรมให้เยาวชนได้มีพื้นที่แสดงออก เช่น การประกวดประเภทต่าง ๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก จนต้องจัดคิวให้แสดงกันในแต่ละสัปดาห์

ส่วนพื้นที่ด้านล่างที่เป็นลานโล่ง นำเสื่อมาปู มีสะโตก หรือขันโตกเปล่า ๆ มาวางไว้เป็นจุด ๆ เพื่อรองรับประชาชนที่เข้ามาซื้อของกิน ถ้าไม่ซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน ก็สามารถนั่งรับประทานกันกลางลานที่จัดไว้ให้ได้เลย พร้อมชมการแสดงบนเวทีได้อีกด้วย

ในส่วนของร้านค้า เก็บค่าเช่าร้านละ 50 บาท เพื่อนำส่งกองคลัง ก่อนที่จะเบิกจ่ายมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมแต่ละสัปดาห์

ที่ผ่านมา บรรดาพ่อค้าแม่ค้าต่างพึงพอใจกับรายได้ครั้งละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท เช่น ร้านขายน้ำสมุนไพร ข้าวโพดคั่ว หรือลูกชุบ บางรายขายเพียงอาหารพื้นเมืองที่หากินไม่ได้ คือ ตำเตา และหลามบอน สามารถสร้างรายได้มากถึง 6,000-7,000 บาท/สัปดาห์ เฉลี่ยแล้วมีเงินหมุนเวียนเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,200,000 บาทเลยทีเดียว ต่อมาจึงต้องมีการขยายพื้นที่ไปบริเวณริมถนนหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองแพร่อีก 30 ร้าน

ทุกวันนี้ ผู้คนต่างโหยหาอดีตกันอีกครั้ง…เมื่อบางสิ่งบางอย่างเริ่มสูญหาย “กาด 3 วัย” แห่งนี้มีคำตอบในตัวเอง และคนเมืองแพร่น่าจะรู้ดีที่สุดว่า “เศรษฐกิจชุมชน” ที่พึงปรารถนา ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และสืบทอดอย่างไร

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ  12 สิงหาคม 53

Relate Post