“ข้าวจีเอ็มโอ” ทางเลือกใหม่ที่ยังน่ากังขา

กรีนพีซ กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ระบุว่า ตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ในจีน รวมถึง วอล มาร์ท เครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่ของโลก สัญชาติสหรัฐ มีข้าวตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) วางขายอยู่ ซึ่งคำกล่าวอ้างนี้ สวนทางกับถ้อยแถลงจากฝั่งรัฐบาลปักกิ่งอย่างสิ้นเชิง

ผลศึกษาของกรีนพีซ ระบุว่า ข้าวจีเอ็มโอมีวางจำหน่ายที่สาขาวอล มาร์ท ในมณฑลหูหนาน และบรรดาเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตจีน ตามมณฑลต่างๆ ในตอนกลางของประเทศ

เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลจีน เผยว่า ได้อนุมัติสิทธิบัตรเบื้องต้น สำหรับการผลิตข้าว และข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรม แต่ยังไม่มีการอนุมัติสำหรับการผลิตในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด และจนถึงขณะนี้ จีนแผ่นดินใหญ่ก็ยังไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าเกษตรตัดแต่งพันธุกรรม

อย่างไรก็ดี กรีนพีซ ซึ่งดำเนินการสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ต 9 แห่ง ใน 8 เมือง ทั่วแดนมังกร ระหว่างเดือนต.ค.- พ.ย. ตรวจพบว่า ร้านค้าหลายแห่งมีผลไม้และผัก ที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงต้องห้าม วางจำหน่ายอยู่ด้วย โดยพืชผักที่ปนเปื้อน รวมถึง ถั่วประเภทต่างๆ แตงกวา และสตรอว์เบอร์รี

กรีนพีซ ยืนยันว่า การปลูกข้าวจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ เป็นการทดลองทางพันธุกรรมที่อันตราย และเรียกร้องให้ทางการปักกิ่ง ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้สำหรับกระบวนการอนุมัติการเพาะปลูกพืชประเภทนี้ด้วย

ทางด้านกระทรวงเกษตรจีน แถลงผ่านทางเว็บไซต์ โดยอ้างถึงการขายข้าวจีเอ็มโอ ตามรายงานของกรีนพีซว่า รัฐบาลยังไม่อนุมัติให้มีการขายข้าวประเภทนี้ และไม่ได้ยืนยันว่า มีข้าวประเภทนี้วางจำหน่ายอยู่ในตลาดจริงหรือไม่ เพียงแต่เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า การออกสิทธิบัตรสำหรับการผลิตพืชจีเอ็มโอ ของทางการจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อปีที่แล้ว เป็นเหมือนการแผ้วถางทางให้กับการเพาะปลูกพืชชนิดนี้ในเชิงพาณิชย์ในอนาคต ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิต และช่วยให้ชาติที่มีประชากรมากที่สุดของโลกชาตินี้ รอดพ้นจากการเกิดภาวะขาดแคลนอาหารได้

จีน เคยประกาศมาตั้งแต่เมื่อปี 2551 ตั้งเป้าที่จะเพาะปลูกพืชจีเอ็มโอ ให้ผลผลิตสูง และมีภูมิต้านทานแมลง เพราะกำลังเผชิญกับความท้าทายในการจัดหาอาหารสำหรับประชากร 1,300 ล้านคน ในช่วงเวลาที่ผืนดินสำหรับการเพาะปลูกกำลังหดหายไป และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกส่งผลกระทบต่อการเกษตร

ปัจจุบัน จีน เป็นผู้ผลิตฝ้าย และผัก อาทิเช่น พริกไทย และมะเขือเทศ ตัดต่อพันธุกรรมรายใหญ่ของโลกรายหนึ่ง

ประเด็นเรื่องการปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่หลายประเทศตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ทำให้การเพาะปลูกในหลายประเทศไม่ได้ผลตามเป้า และกระแสนิยมใช้เชื้อเพลิงจากพืช ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงมากขึ้น

ล่าสุด โรเบิร์ต ซิกเลอร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (อีร์รี) เผยว่า ฟิลิปปินส์ อาจทำตามจีนในฐานะประเทศเอเชียชาติต่อไปที่อนุมัติการปลูกข้าวจีเอ็มโอในวงกว้าง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในปีหน้า หรือต้นปี 2555 ตามด้วยบังกลาเทศ และอินเดีย ในอีก 1-2 ปีหลังจากนั้น

ซิกเลอร์ ระบุว่า ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่กำลังทำการทดลองปลูกข้าวจีเอ็มโอ โดยข้าวพันธุ์โกลเดน ไรซ์ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่มีการเสริมวิตามินเอ ที่อีร์รีพัฒนาขึ้นมา กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นในบังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ในการทดสอบเพื่อรับรองความปลอดภัย

นักวิทยาศาสตร์ของอีร์รี สถาบันที่มีการเก็บพันธุกรรมข้าวประมาณ 100,000 สายพันธุ์ เชื่อว่า ข้าวโกลเดน ไรซ์ ซึ่งตัดต่อพันธุกรรมจากข้าวโพด และเบต้า-แคโรทีนจากแหล่งอื่นๆ จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดวิตามินเอ โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจนในเอเชีย

ข้อมูลของสถาบันวิจัยข้าวแห่งนี้ ระบุว่า เด็กกว่า 90 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังขาดวิตามินเอ ซึ่งมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ และการปลูกข้าวโกลเดน ไรซ์ ในฟิลิปปินส์ อาจมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างประโยชน์แก่สุขภาพประชาชน แทนที่จะเพิ่มผลผลิตเพื่อจำกัดการนำเข้า

ทั้งนี้ จีนอนุมัติความปลอดภัยของข้าวสายพันธุ์ บีที ที่ต้านทานแมลงศัตรูพืชในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสรับการปลูกพืชจีเอ็มโอในวงกว้างภายในเวลา 3 ปี

กระนั้นก็ตาม ท่าทีดังกล่าวของจีน ที่ให้มีการทดลองปลูกข้าวจีเอ็มโอ จุดชนวนให้เกิดกระแสความวิตกในเรื่องของความปลอดภัยอาหารขึ้นมา และเกิดคำถามตามมาว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ที่จีนจะเริ่มปลูกข้าวจีเอ็มโอตั้งแต่ตอนนี้

นายหวัง เฉาหัว นักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมงานกับกระทรวงเกษตรสหรัฐ แสดงความเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ ช่วงที่ผ่านมาว่า แม้กฎหมาย และข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหาร ของจีน โดยส่วนใหญ่จะเป็นไปตามแนวทางขององค์การอาหาร และยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) แต่คำแนะนำของเอฟดีเอก็ไม่ได้เชื่อถือได้ทั้งหมด

นายเฉาหัว ระบุว่า เป็นเรื่องเสี่ยงอย่างมาก ที่จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก พยายามปลูกพืชจีเอ็มโอ เนื่องจากพืชจีเอ็มโอจะนำพาเกษตรกรเข้าสู่วงจรอันร้ายกาจ เพราะยิ่งการปลูกพืชล้มเหลวมากเท่าใด เกษตรกรก็ยิ่งถลำลึกเข้าหาพืชจีเอ็มโอมากขึ้นเท่านั้น

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 5 พฤษภาคม 53

Relate Post