ญี่ปุ่นจ่อย้าย “ตลาดปลาทสึคิจิ” แหล่งค้าอาหารทะเลใหญ่ที่สุดในโลก

ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ในขณะที่ชาวเมืองหลวงหลายล้านคนกำลังหลับไหล คนงานสวมรองเท้าบูตยางต่างกำลังง่วนอยู่กับภารกิจขนย้ายปลาทูนาตัวเขื่องภายในตลาดปลา “ทสึคิจิ” แหล่งค้าส่งอาหารทะเลซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำหรับนักท่องเที่ยวต่างแดนที่ได้มาเยือนเมืองหลวงของญี่ปุ่น
เสียงระฆังซึ่งดังขึ้นในเวลา 05.30 น. เป็นสัญญาณบอกเวลาเริ่มต้นกิจกรรมซื้อขายในตลาดปลาใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ผู้ซื้อจะใช้สัญญาณมือในการประมูลปลานานาชนิดที่สุดท้ายจะต้องมาลงเอยอยู่ในจานอาหารตามภัตตาคารในกรุงโตเกียวหรือที่เมืองอื่นๆ
ปลาทูนาตัวอ้วนน้ำหนักนับร้อยกิโลกรัมถูกนำมาวางเรียงให้ผู้ซื้อเลือกชม โดยมีการตัดครีบเพื่อเผยให้เห็นเนื้อปลาแน่นสีแดงสด ขณะที่ปลาบางส่วนยังถูกนำขึ้นรถเข็นไม้เคลื่อนย้ายไปตามจุดต่างๆ ทั่วตลาด
แต่ละวันจะมีปลา, ผัก และของทะเลราว 2,900 ตันถูกซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดทสึคิจิ ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนสูงถึง 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 590 ล้านบาท)
“คุณเห็นไหมว่าเราใช้สัญญาณมือกันอย่างไร… นี่แหละวิธีที่คนสมัยก่อนซื้อหุ้นกันล่ะ” ผู้ซื้อรายหนึ่งเล่าให้ฟัง ขณะที่อีกคนกำลังสั่นกระดิ่งและตะโกนเสนอราคาเสียงดังโหวกเหวก

แม้การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันนี้จะกระทำผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ท่ามกลางกระแสความเจริญที่เปลี่ยนกรุงโตเกียวให้กลายเป็นมหานครขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก แต่กระแสโลกาภิวัตน์แทบไม่มีผลใดๆ ต่อตลาดปลาทสึคิจิที่ยังคงทำธุรกิจแบบดั้งเดิมเรื่อยมาตั้งแต่เริ่มเปิดตลาดเมื่อปี 1935
ผ่านวันเวลามาเกือบ 80 ปี เวลานี้ฝ่ายบริหารกรุงโตเกียวมีแผนที่จะ “ย้าย” ตลาดปลาทสึคิจิไปยังพื้นที่อื่น เพื่อตอบสนองความต้องการของคนบางกลุ่มที่มองว่า ตลาดทสึคิจิควรจะต้องมีการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันยุคเสียที

ถึงกระนั้นก็ยังมีคนอีกไม่น้อยที่รู้สึกเสียดาย หากตลาดปลาเก่าแก่แห่งนี้จะต้องถูกย้ายออกไปจากพื้นที่ใจกลางเมือง
การสร้างตลาดปลาแห่งใหม่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 40% และติดตั้งระบบทำความเย็นที่ทันสมัยที่สุด อาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3,800ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่โครงการซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2016 ก็ยังเผชิญอุปสรรคสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมื่อพบว่าดินบริเวณจุดก่อสร้างในย่านโตโยสุ (Toyosu) ซึ่งห่างออกไปราวๆ 2.3 กิโลเมตรมีการปนเปื้อนสารพิษ เนื่องจากเคยเป็นที่ตั้งโรงก๊าซมาก่อน ซึ่งนั่นหมายความว่า กรุงโตเกียวจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอีกกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการกำจัดสารพิษ
หลายฝ่ายยังเดาไม่ออกว่า ที่ดินซึ่งเป็นตลาดปลาทสึคิจิในปัจจุบันจะถูกนำไปใช้ทำอะไร นอกจากตัดถนนเพื่อเชื่อมย่านดาวน์ทาวน์กับสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวกำลังจะเป็นเจ้าภาพในปี 2020
ฮิโรยาสุ อิโตะ ประธานสมาคมผู้ค้าส่งอาหารทะเลญี่ปุ่น ยืนยันว่าการย้ายตลาดปลาทสึคิจิเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ตลาดแห่งนี้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมกินอาหารทะเลสดใหม่
“สมัยก่อนเราใช้รถรางแช่แข็งขนปลาเข้ามาในตลาด” อิโตะ กล่าว พร้อมชี้ไปที่ภาพถ่ายขนาดใหญ่ในสำนักงานของเขา ซึ่งเป็นภาพมุมสูงของตลาดปลาทสึคิจิในอดีต
“ปัจจุบันเราไม่ใช้รถรางแล้ว แต่เปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกห้องเย็นแทน”

p02

อิโตะ อธิบายว่า หัวใจสำคัญที่จะช่วยให้อาหารทะเลสดใหม่อยู่เสมอก็คือสิ่งที่เรียกว่า “cold chain” หรือสายการผลิตที่จะต้องควบคุมอุณหภูมิให้เย็นจัดอยู่ตลอดเวลา จนกว่าสินค้าจะถึงมือผู้บริโภค ซึ่งตลาดปลาทสึคิจิยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะรองรับในจุดนี้
“ลูกค้าส่วนมากต้องการได้ปลาที่สดจริงๆ เพื่อให้สามารถรับประทานแบบดิบๆได้ นี่เป็นสิ่งที่กดดันเรามากพอสมควร พนักงานขนปลาก็ต้องเสาะหาวิธีสมัยใหม่ที่จะรักษาความเย็นไว้”
“ที่ผ่านมาเราสามารถเก็บรักษาปลาให้อยู่ในสภาพเย็นจัดด้วยโฟมชนิดพิเศษ แต่ก็คงจะทำไม่ได้มากไปกว่านี้… ตลาดปลาทสึคิจิล้าสมัยเกินไปแล้วจริงๆ”
“สำหรับตลาดแห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้น เราจะป้องกันไม่ให้อากาศจากภายนอกเข้ามาได้ เพื่อให้อุณหภูมิในห้องเก็บปลาคงที่อยู่ตลอดเวลา”
อย่างไรก็ดี ลูกค้าบางคนก็ยังรู้สึกว่าไม่สะดวกที่จะต้องออกไปซื้อปลานอกเมือง แม้ตลาดจะสะอาดสะอ้านและทันสมัยขึ้นก็ตาม
“ความรกเลอะเทอะและสับสนวุ่นวาย คือเสน่ห์ดึงดูดของตลาดปลาทสึคิจิ” เท็ตสุยะ โคจิมะ หนึ่งในลูกค้าที่มาซื้อปลากล่าว พร้อมระบุว่า ตนคงจะไม่เดินทางไปซื้อปลาที่ตลาดแห่งใหม่
ด้าน มาโกโตะ นากาซาวะ สมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเป็นหัวหอกคัดค้านการย้ายตลาดปลาทสึคิจิ ประณามผู้บริหารกรุงโตเกียวว่ามุ่งแสวงผลกำไรมากเกินไป

“โตเกียวย้ายตลาดปลาออกไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์โลภมากเท่านั้นเอง ผมไม่เห็นจะมีเหตุผลอื่นเลย” นากาซาวะ ซึ่งระดมคนกลุ่มเล็กๆออกมาคัดค้านเรื่องนี้ กล่าว
ฝ่ายต่อต้านการย้ายตลาดปลาทสึคิจิยังยื่นฟ้องกรุงโตเกียวฐานซื้อที่ดินจำนวน 40 เฮกตาร์มาทำตลาดใหม่ โดยไม่บังคับให้บริษัท โตเกียว ก๊าซ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิมกำจัดสารพิษในดินเสียก่อน ซึ่งหมายความว่าเงินภาษีของประชาชนอีกราว 58,600 ล้านเยน (18,390 ล้านบาท) จะต้องถูกใช้ไปเพื่อการทำความสะอาดที่ดิน
ไม่เพียงเท่านี้ การก่อสร้างตลาดปลาแห่งใหม่อาจต้องใช้งบประมาณสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะญี่ปุ่นยังอยู่ระหว่างฟื้นฟูความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ซัดถล่มชายฝั่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ทั้งยังต้องเตรียมก่อสร้างสถานที่รองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2020 ทำให้วัสดุก่อสร้างเริ่มขาดตลาดและมีราคาแพง
แม้กระนั้น ฝ่ายบริหารกรุงโตเกียวยังคงยืนกรานที่จะรื้อถอนตลาดทสึคิจิ และสร้างตลาดปลาแห่งใหม่ให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม ปี 2016 ซึ่งก็ล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้เดิมราวๆ 1 ปี
“เราทราบดีว่ามีอุปสรรคอยู่หลายประการ แต่ก็จะทำตามแผนเดิมให้สำเร็จจงได้” มาซาตากะ ชิมูระ เจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลโครงการก่อสร้างตลาดปลาแห่งใหม่ ยืนยัน

p03
p04
p05

ที่มา : http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000006574

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post