ตอนที่ 17 กาดนัดเจเจ เชียงใหม่ แหล่งขายสินค้าคู่ความเข้าใจจากผู้ผลิต

เมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว  ทีมกินเปลี่ยนโลกยกขบวนกันไปเชียงใหม่พร้อมภารกิจที่หิ้วหอบกันไปหลายอย่าง

อย่างแรกคือแวะไปพบคุณดวง ธนภูมิ อโศกตระกูล เจ้าของตำราอาหารมังสวิรัติชื่อดังหลายเล่ม อาทิเช่น เจ…ไม่จำเจ, มหัศจรรย์แห่งเต้าหู้, จานอร่อยปลอดเนื้อ,? Easy to be vegetarian คู่มือการกินเจ,? All About Eggs ฯลฯ และเจ้าของธุรกิจปิ่นโตมังสวิรัติ ที่เมืองเชียงใหม่  ดาราหน้าเว็บกินเปลี่ยนโลกเราเคยนำสกู๊ปที่คุณนิภาพร ทับหุ่น แห่งกรุงเทพธุรกิจจุดประกายมาเสนอ  ซึ่งขณะนี้คุณดวง กับน้องตุ๊กกี้กำลังเซ็ตกิจกรรมกิ๊บเก๋ที่เชียงใหม่  คิดว่าไม่ช้าไม่นานเกินไปเราจะมีข่าวแจ้งในเรื่องนี้ให้ทราบอีกที

ภารกิจอีกอันที่ฉันซึ่งมีเหตุฉับพลันทำให้อดร่วมทริปเชียงใหม่ครั้งนี้ต้องได้แต่นั่งเล่าฟังพวกที่ไปตาปริบๆ คืองาน “คอนเสิร์ตเปิดฝัก” ของพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและผลิตเมล็ดพันธุ์ ในวันเสาร์ที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ม.ช. 

ที่ตาปริบๆ ก็เพราะเทคนิควิธีการอธิบายเมล็ดพันธุ์ของน้องๆ ให้เพื่อนต่างชาติที่สนใจ ซึ่งอยากทดลองให้คุณทาย 
“bigger than lemon , like that , for cooking , but not lime, it’s very good smell. Sometime we use for clean shampoo.” 

บอกแค่นี้คนไทย8 ใน 10ก็ทายถูกแล้ว แต่พี่ฝรั่งหลายคนต้องเอาผลเอาใบให้ดู ถึงจะพออุทานออกมาว่า Oh! Yeh. แล้วก็เฮกันตรึม

แต่ก่อนที่พวกเขาจะไปเฮฮากันที่งานคอนเสิร์ตฯ ของพันพรรณ  ก็ต้องขมีขมันไปที่กาดนัดเจเจกันแต่เช้าตรู่
กาดนัดเจเจ  ชื่อง่ายๆ สั้นๆ ย่อจากคำว่า “จริงใจ”  ที่คนเมืองใช้เรียกกาดนัดอินทรีย์  ตั้งอยู่ด้านหลังห้างโลตัสคำเที่ยง  แผงผักราว 30 กว่าแผงจากหลายครอบครัวมาปักหลักจำหน่ายสินค้าของตัวเองทุกวันพุธและวันเสาร์ 

jj02
jj03
perdfuk02

แผงผักที่ไม่ได้กะมาแข่งกับกระแสหลักอย่างเขา  แต่เราเชื่อและต้องการยืนยันในสิ่งที่ตัวเองทำ … ก็เท่านั้น

ก่อนหน้านี้กาดนัดเกษตรอินทรีย์ที่เชียงใหม่ พัฒนามาจากแผงผักเล็กๆ ที่มีชาวบ้านมาขายที่หน้าสำนักงานอิ่มบุญ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.เชียงใหม่ เมื่อราวปี 2537 นับเป็นตลาดนัดสีเขียวแห่งแรกที่บุกเบิกงานตลาดเพื่อสร้างความเข้าใจระบบการผลิตผักอินทรีย์ให้กับผู้บริโภค 

ระลึกได้ว่าเคยไปเยี่ยมและช้อปครั้งแรกเมื่อปี 38 ที่อิ่มบุญ ซึ่งพวกเราในเครือข่ายฯ ก็ลุ้นกันเต็มที่ว่าตลาดแบบนี้จะไปได้สวย 

jj04

ช่วงหลังฟองสบู่แตก ร้านกรีนซึ่งก่อนหน้านี้เคยบูมมากๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักพากันปิดตัวลง  ขณะที่กิจการร้านผักปลอดสารของกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายเกษตรทางเลือกเชียงใหม่ก็ยังคงดำเนินไปได้ ตราบจนวันนี้ที่กระแสอาหารสุขภาพกลับมานิยมกันใหม่   แม้จะมีการเคลื่อนย้ายจุดนัดพบไปหลายแห่ง   ขณะเดียวกันก็สร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มจุดจำหน่ายอีกหลายที่ ทั้งในโรงเรียน โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัย ในเมืองเชียงใหม่  รวมทั้งจุดกระจายสินค้าอินทรีย์แบบค้าส่งโดยกลุ่มชาวบ้าน ที่เรียกว่าคลังสินค้าเกษตรอินทรีย์ (ISAC organics’ warehouse) ในปี 39

ด้วยแนวคิดที่ต้องการนำผลผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์มาส่งตรงให้กับคนกิน เพื่อให้คนกินได้เข้าใจตลอดเส้นทางที่มาของผลผลิตที่คนกินมั่นใจได้แน่ๆ ว่าอินทรีย์แท้ๆ จากผู้ผลิตรายย่อยที่รวมตัวกันเป็นองค์กรชาวบ้านในหลายๆ อยู่บ้านทั่วเมืองเชียงใหม่   ซึ่งเป็นจุดขายของพวกเขา จึงมีอะไรให้ทำมากมาย 

… ไม่ใช่เพียงแค่ขายเฉพาะสินค้าอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นเองเท่านั้น  ซึ่งนั่นก็ยากอยู่แล้วสำหรับคนเป็นผู้ผลิตที่ไม่เคยมีความชำนาญการในด้านขาย

“มากคน มากความ” ก็อาจจะใช่  แต่เพราะหลายหัวมารวมใจกัน กาดนัดอินทรีย์ที่เชียงใหม่จึงอยู่มาได้และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเพื่อนเครือข่ายฯ ที่ต้องการสร้างตลาดสีเขียวให้เกิดได้จริงในท้องถิ่นของตัวเองบ้าง

perdfuk01

นอกจากกลุ่มชาวบ้านจะบริหารแผนการปลูกเพื่อให้มีผลผลิตพอเพียงกระจายไปขายตามแหล่งต่างๆ แล้ว ยังต้องจัดคณะกรรมการขึ้นมาอีกหลายชุด อย่างเช่น การคัดกรองคุณภาพผลผลิตจากเพื่อนเกษตรกรที่ผลิตแบบอินทรีย์  เพื่อส่งให้คณะกรรมการมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ ซึ่งมีตัวแทนของผู้ผลิต ผู้บริโภค และหน่วยงานสนับสนุนอย่างเอ็นจีโอได้พิจารณาก่อน  รวมไปถึงคณะกรรมการกาดนัดเองที่ดูแลเรื่องราคาผลผลิตให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย  และการจัดการกระจายกลุ่มผู้ผลิตให้นำสินค้าไปออกวางขายที่กาดนัดเกษตรอินทรีย์ในแหล่งต่างๆ เช่น ทั่วเมืองเชียงใหม่ในแต่ละวันในหนึ่งสัปดาห์ 

เพราะเพียงกลุ่มชาวบ้านเหล่านี้เชื่อว่า  พวกเขากำลังทำหน้าที่ “คนขายความเข้าใจ” ในวิถีชีวิตและระบบการผลิตเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ระบบการผลิตที่มากกว่าแค่พอกินพอใช้ในบ้านตัวเอง  แต่เป็นระบบที่เป็นคำตอบด้านเศรษฐกิจท่ามกลางกระแสโลกปัจจุบัน  ซึ่งเมื่อตอบโจทย์หลักสำคัญอันนี้ได้จริงๆ  คนในบ้านอย่างลูกหลานตัวเองเห็นจริงจากรายได้ของครอบครัว และการสัมพันธ์กับผู้คนในกาด   จึงกลายเป็นคำตอบในด้านของความภาคภูมิใจ ตัวตนข้างในที่ได้ยอมรับและมาอุดหนุนกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากลูกค้าประจำราว 100 คนในแต่ละวันนัด จากลูกค้าทั้งหมดที่มาอุดหนุนราว 400 – 500 คน ทำให้พวกเขาริเริ่มกิจกรรมอินทรีย์กับกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ที่จะมาเติมไฟในขบวนการนี้

ในคลิ๊ปเที่ยวกาดนัดเจเจ เชียงใหม่   นอกจากจะมีความเห็นของลูกค้า ยังมีคำให้สัมภาษณ์จากพี่กรองแก้ว  อินสวรรค์ หัวหน้าคณะกรรมการกาดนัดเกษตรเชียงใหม่ , อ้ายณรงค์ชัย ปาระโกน ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในกลุ่มชาวบ้านที่ อ.พร้าว  และ พี่จรัญญา  สังขชาติ   ซึ่งอธิบายหลักคิดคลังสินค้าเกษตรอินทรีย์ว่าเป็นแหล่งรวบรวมออร์เดอร์จากลูกค้าที่ต้องการผลผลิตและทำการรวบรวมสินค้าจากกลุ่มผู้ผลิตเพื่อส่งจำหน่าย  หรือแม้แต่การทำความเข้าใจในชื่อเรียกผักที่แตกต่างกันอย่างผักปลอดภัย ผักอนามัย หรือผักอินทรีย์ ที่มีที่มาจากระบบการผลิตที่แตกต่างกัน  ซึ่งถ้าเป็นผักอินทรีย์จะเริ่มตั้งแต่ระบบแปลง ดิน แรงงาน รวมไปถึงการจัดการระบบการหมุนเวียนวัตถุดิบในฟาร์ม ไม่ใช่แค่เพียงไม่ใช้สารเคมีการเกษตรในช่วงก่อนเก็บเกี่ยว เป็นต้น   เข้าดูคลิ๊ปเที่ยวกาดนัดเจเจที่นี่ http://www.youtube.com/BiothaiStudio#p/a/u/0/X2VhLy1BdWU (5.48 นาที)

สำหรับผู้ที่สนใจ  ผ่านห้างค้าปลีกขนาดใหญ่แถวตลาดคำเที่ยงในวันพุธและเสาร์ใด แวะเข้าไปพบหากับชาวบ้านในกาดจริงใจ …. พูดคุยกับพวกเขาแล้วคุณจะได้อะไรที่มากกว่าผักอินทรีย์ในมือค่ะ

ขอบคุณ
สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน โทร. 053-354-6530 ถึง 4  เว็บไซต์  www.ISACNN.org 
น้องขวัญ  ชิดณัฎฐา  เข็มราช อดีตเจ้าหน้าที ISACที่ตอนนี้กำลังเตรียมตัวจะไปเรียนต่อ

ข้อมูลสินค้าและกลุ่มผู้ผลิตอินทรีย์ในเชียงใหม่ ในเครือข่ายของ ISAC

  • สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด อยู่ใน อ.แม่ออน มีสมาชิกผู้ผลิตอินทรีย์ 117 ครอบครัวจากสมาชิกทั้งหมด 370 ครอบครัว ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ได้แก่ ข้าวโพดฝักอ่อน ลำไย กระเจี๊ยบแดง รางจืด และผักสดตามฤดูกาล  โทร. 086-188-1856
  • สหกรณ์เกษตรเชียงใหม่ จำกัด  พัฒนาต่อยอดจากชมรมผู้ผลิตผักปลอดสารพิษเชียงใหม่ จำนวน 269 ครอบครัวใน 5 อำเภอ คือ สันกำแพง  ดอยสะเก็ด พร้าว  แม่แตง  และสะเมิง  ผลผลิตอินทรีย์คือข้าวหอมมะลิแดง และข้าวหอมนิล  โทร. 053-844-357
  • สหกรณ์พัฒนา จำกัด  มีสมาชิก10 ครอบครัวจากสมาชิกทั้งหมด 400 ครอบครัวในเขตอำเภอแม่ริมและแม่แตงทำการผลิตข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมมะลินิล และถั่วเหลืองในระบบเกษตรอินทรีย์ โทร. 053-374-170

ของฝากจากตลาดเจเจ
ไฟล์หนังสือคู่มือผู้บริโภค “ไปจ่ายกาดเกษตรอินทรีย์กันเถอะ” ผลิตโดย ISAC

Relate Post