ผักหลากสี ศิลปะกลางทุ่ง

มีคำกล่าวว่าอาหารคือยา น่าจะเป็นความจริง หากมีโอกาสไปเยือน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่นี่มีพื้นที่ปลูกผักไร้สารพิษคุณภาพดี อยู่ที่บ้านน้ำซับ ต.วังน้ำเขียว ผู้ใหญ่ในชุมชนร่วมกันปลูกผักหลายสีหลากชนิด นำเด็กๆ เข้าสู่การเรียนรู้เรื่องประโยชน์นานาที่มาจากผักหลากสีสัน อาหารเป็นยาจึงหาได้ไม่ยากจากชุมชนแห่งนี้

ด.ช.อนุกูล ส้มสันเทียะ หรือ น้องตาม เด็กอนุบาลวัยซน นำทีมพี่ๆ ด.ญ.กนกวรรณ ไพร่เวหา หรือ พี่ยุ้ย ชั้นป.6 และ ด.ญ.รัตติยา พรหมมา หรือ พี่มิว ชั้นป.2 เข้าสวนผักกว้างใหญ่กลางชุมชนที่มีทุกคนในหมู่บ้านร่วมกันดูแล

เด็กน้อยทั้งสามผลัดกันบอกเล่าถึงเรื่องราวของผักหลากสีให้ฟังอย่างคุ้นเคย เพราะเป็นลูกหลานนักปลูกผักตัวจริง

น้องตามเล่าว่า “บ้านตามปลูกผักหลายอย่างครับ มีผักสลัดเขียว สลัดแดง โอ๊กเขียว โอ๊กแดง กะหล่ำปลี ฟักแม้ว และก็กระเทียม มะละกอก็ปลูกด้วยครับ ผลไม้ก็มีอีกหลายอย่าง ที่นี่เขาไม่ใช้สารเคมีกันด้วยครับ ผักจะหวานกว่าที่อื่น”


ในขณะที่เล่า ด.ช.ตามก็นับนิ้วตัวเองไปด้วย แต่นิ้วเล็กๆ คงไม่พอกับจำนวนผักที่มีมากกว่าจนเกินบรรยาย แถมยังบอกด้วยว่าผักของเด็กๆ ปลูกแบบอินทรีย์ ไม่มีสารพิษใดๆ เจือปน การเติบโตมาท่ามกลางวิถีชีวิตแบบเกษตรกร ทำให้พวกเขาซึมซับแนวทางการทำเกษตรแบบปลอดภัยไร้สารเคมีผ่านพ่อแม่ปู่ย่าตา ยาย

you01210154p2

แปลงผักที่ อ.วังน้ำเขียว ตอนนี้มีสีสันของผักหลากชนิดดึงดูดสายตา ชวนให้อยากลิ้มลองรสชาติของผักปลอดสารพิษในแปลง ทั้งสีเขียวจากตระกูลผักสลัด ไม่ว่าจะเป็นผักสลัดสีเขียว หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันว่าผักกาดหอม ผักสลัดแก้ว สลัดคอส บัตเตอร์เฮด และกรีนโอ๊ก ขึ้นให้เห็นหนาตาเต็มแปลงผัก รวมไปถึงกะหล่ำปลี คะน้า และต้นหอม ผักสีเขียวนี้จะไล่ระดับมาตั้งแต่สีเขียวอ่อนไปจนถึงสีเขียวเข้ม

ด้านผักสีแดงก็ไล่ระดับสีเช่นกัน จากแดงอ่อนไปถึงแดงเข้ม มาจาก ผักสลัดใบแดง เรดโอ๊ก และมะเขือเทศ ส่วนสีอื่นๆ ที่แตกต่างมีสีเหลืองจากฟักทอง สีส้มจากมะละกอสุก และที่สะดุดตาไม่แพ้สีใดๆ คงจะเป็นสีม่วงจากถั่วพูสายพันธุ์ใหม่

“ในแปลงผักมีผักหลายสีผสมกันค่ะ สีเขียวมาจากพวกผักต่างๆ สีแดงก็มาจากผักเหมือนกัน ของที่นี่จะเป็นพวกผักสลัดใบแดง กับโอ๊กแดง ส่วนสีที่มาใหม่เป็นถั่วพูสีม่วงค่ะ ที่แปลงเราจะปลูกทั้งถั่วพูสีเขียวกับถั่วพูสีม่วงสลับกันไป ถั่วพูทั้งสองชนิดนี้จะแตกต่างกันที่สี และรสชาติ”


น้องมิวเล่าให้ฟังถึงสีสันต่างๆ ของผักในแปลง และไม่ลืมเล่าปิดท้ายถึงถั่วพูสายพันธุ์ใหม่ที่กลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สาร พิษวังน้ำเขียว นำมาปลูกกินและจำหน่ายโดยแม่ๆ ป้าๆ ในกลุ่ม

ถั่วพูสีม่วงนอกจากจะนำมารับประทานสดๆ ได้แล้ว ที่กลุ่มยังนำมาดัดแปลงเป็นอาหารได้อีกหลายอย่าง เช่น ทดลองนำเมล็ดแก่ของถั่วพูมาทำน้ำเต้าหู้แทนถั่วเหลือง หรือนำกากถั่วพูที่ปั่นเหลือจากการทำน้ำเต้าหู้มาเป็นส่วนผสมหนึ่งของทอดมัน

น้องยุ้ย พี่ใหญ่สุดในกลุ่มบอกว่า “ป้าๆ ในกลุ่มเพิ่งทดลองทำค่ะ รสชาติก็ไม่แตกต่างจากน้ำเต้าหู้ทั่วไปมากนัก เพียงแต่ว่าคุณค่าทางอาหารจะสูงกว่า เพราะป้าๆ บอกว่าโปรตีนของถั่วพูม่วงสูงเทียบเท่าถั่วเหลืองจริงๆ ค่ะ”


ถั่วพูเป็นพืชพื้นบ้านที่คนไทยรู้จักกันดี ส่วนมากมักนิยมนำฝักอ่อนมารับประทาน ทั้งแบบสดและแบบต้ม เป็นผักเคียงกับน้ำพริก มีการวิจัยพบว่าถั่วพูมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยา ที่สำคัญถั่วพูยังมีประโยชน์ทางการเกษตร เพราะเป็นพืชที่ได้ชื่อว่าบำรุงดินได้เป็นอย่างดี

เด็กๆ บ้านน้ำซับไม่มีใครกลัวการรับประทานผัก เพราะผักที่นี่อร่อยและปลอดภัย หายห่วงเรื่องสารเคมีตกค้าง การปลูกพืชแบบอินทรีย์ของเกษตรกรที่นี่ ทำให้เด็กๆ ได้กินผักแบบปลอดสารพิษ ไม่เป็นอันตราย แถมยังมีประโยชน์มากมายต่อร่างกาย

you01210154p3

เมื่อผักเป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมผู้ใหญ่ในชุมชนจึงให้ความสำคัญในการปลูกฝัง ลูกหลานได้เห็นถึงคุณค่าของผักนานาชนิด การปลูกผักหลากสีช่วยดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ว่าผักแต่ละสีนั้นให้ประโยชน์อะไรกับร่างกายบ้าง

ด้วยสีที่แตกต่าง ประโยชน์ที่มาจากสีผักย่อมแตกต่างเช่นกัน อย่างผักสีเขียว เป็นสีแรกที่คนเราจะนึกถึงเมื่อพูดถึงผัก คลอโรฟิลด์ในผักสีเขียวจะช่วยส่งเสริมแคลเซียมในกระดูก มีธาตุเหล็กช่วยในการขับถ่าย ผักสีแดงช่วยลดการเกิดมะเร็งได้ ลดปริมาณไขมันในเลือด ป้องกันโรคหัวใจ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพลังให้มีชีวิตชีวา

ผักสีเหลืองหรือส้ม จะช่วยบำรุงหัวใจ สายตา และเพิ่มภูมิ คุ้มกันจากโรคต่างๆ ส่วนผักกลุ่มสีม่วง จะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผนังหลอดเลือด ช่วยชะลอการอุดตันในเส้นเลือด และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว

ผักหลากสีนอกจากจะเพิ่มสีสันให้กับอาหารจานโปรดแล้ว ยังดีต่อสุขภาพเช่นนี้

เด็กๆ บ้านน้ำซับ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จึงภูมิใจนำเสนอผักหลากสีหลายชนิดของบ้านตัวเอง สีสันที่ปลอดภัยจากสวนผักมีประโยชน์และสร้างความสุขอย่างไร

ติดตามในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน สีสันแห่งท้องทุ่ง วันเสาร์ที่ 22 ม.ค. เวลา 06.25 น. ช่อง 3 www.payai.com

ที่มา: ข่าวสดรายวัน วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7358
คอลัมน์ สดจากเยาวชน ยศศยามล กรมติ

Relate Post