พบไก่สดในซุปเปอร์มาร์เกตมี “เชื้อดื้อยา”

อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผย พบไก่สดในซุปเปอร์มาร์เกตมี “เชื้อดื้อยา” สูงถึงร้อยละ 40 หวั่นประชาชนได้รับเชื้อโดยที่ไม่รู้ตัว …

นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะประธานคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาระบบการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้าน จุลชีพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวภายหลังการประชุม “เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ : ภาวะวิกฤติต่อสุขภาพคนไทย” ที่ รร.สยามซิตี้ ว่า 10 ปีที่ผ่านมา พบเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้น โดยพบว่าคนไทยมีอาการติดเชื้อดื้อยากลุ่มนี้ถึง 100,000 คน อยู่โรงพยาบาลนานขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน และพบเสียชีวิตมากกว่า 30,000 ราย

สาเหตุทั้งหมดมาจากการใช้ยาเกินความจำเป็นและจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าเชื้อ ดื้อยาที่พบบ่อยในคนไทย คือ เชื้ออะซินีโต แบคเตอร์ บอมานีไอ หรือ เอ บอม (Acinetobacter baumannii) ซึ่งจะพบมากในโรงพยาบาลเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดโลหิต เป็นพิษ ปอดอักเสบ เดิมทีใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มคาร์บาพีแนมส์ (Carbapenems) ใช้ฆ่าเชื้อดื้อยานี้ แต่ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าเชื้อกลุ่มนี้ดื้อต่อยาปฏิชีวนะดังกล่าวแล้วร้อยละ 80 ดังนั้น ขณะนี้ สวรส. กำลังรวบรวมข้อมูลวิชาการ และทำเป็นคำแนะนำในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้พิจารณาว่าอาจเพิ่มเงินเหมาจ่ายรายหัวให้กับโรงพยาบาลที่มีการ ดำเนินการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้

นพ.ชาญ วิทย์ ตรีพุทธรัตน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จากการศึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาจุลชีววิทยา ตรวจสอบเนื้อไก่สดที่แพ็กขายในซุปเปอร์มาร์เกต พื้นที่ใกล้เคียง รพ.ศิริราช จำนวน 200 แพ็ก พบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) และซัลโมเนลลา เอนเตอโรติก้า (Salmonella enteritica) เกินค่ามาตรฐานที่ 500 ตัว ต่อ 25 กรัมของเนื้อสัตว์ ถึงร้อยละ 56.7 และในจำนวนเชื้อที่ปนเปื้อนทั้ง 2 ชนิดเป็นเชื้อดื้อยาถึงร้อยละ 40 ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับเชื้อดื้อยาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องควรที่จะเอาจริงเอาจังในการตรวจมาตรฐานอาหาร ในชุมชน เนื่องจากปัญหานี้ไม่ต่างจากกรณีที่มีสารเคมีตกค้างในอาหาร

ที่มา: ไทยรัฐ วันที่ 30 พฤษภาคม 55 http://www.thairath.co.th/content/edu/264356

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post