สวนบางพลับ ผลไม้กลับชาติ

ผักผลไม้นับเป็นอาหารที่ให้ประโยชน์นานัปการต่อร่างกายมนุษย์

เป็นเรื่องที่ดีหากรู้จักนำผักผลไม้มาแปรรูปเพิ่มมูลค่า หรือเพิ่มพูนระยะเวลาในการบริโภคให้ยาวนานขึ้น

หมู่บ้านบางพลับ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เป็นชุมชนบ้านสวนริมคลอง มีผักผลไม้ตามฤดูกาลที่ให้ผลผลิตต่อเนื่อง เป็นสวนผสมผสาน เพราะนอกจากผลไม้ยืนต้นขนาดใหญ่แล้ว ยังมีพืชผักหลากหลายชนิด ที่ขึ้นแซมสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้เลือกรับประทานกันได้ตลอดทั้งปีไม่มีขาด

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผักผลไม้ที่มีอยู่มากมายนี้เอง ทำให้ในบางฤดูกาลมีปริมาณผลผลิตมากจนล้นตลาด ชาวบ้านจึงเกิดความคิดที่จะนำทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มาแปรรูปในลักษณะต่างๆ เพื่อให้เก็บไว้รับประทานได้นานขึ้น ไม่เน่าเสีย

ชาวบ้านรวมตัวกันในชื่อกลุ่มสตรีเกษตรพัฒนา นำโดย ป้าแดง ฉวีวรรณ หัตถกรรม ที่นี่เป็นศูนย์ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเรื่องการแปรรูปผักผลไม้ที่มีอยู่ในสวนของหมู่บ้าน สมาชิกภายในกลุ่มยังคงทำกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง เปิดให้บุคคลภายนอกและเด็กๆ ในชุมชน เข้ามาเยี่ยมชมและมีส่วนร่วมได้ทุกเมื่อ

สิ่งที่น่าแปลกและแตกต่างกว่าที่ไหน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของคนบางพลับ คือการนำพืชผักในสวนที่มีรสชาติฝาดขมมาแช่อิ่ม รับประทานได้ง่ายขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งสรรพคุณทางยา และกลายมาเป็นของดีขึ้นชื่อประจำจ.สมุทรสงครามในที่สุด เรียกกันว่าการทำ “ผลไม้กลับชาติ”

bangplub2

ความหมายของคำว่าผลไม้กลับชาติ คือทางกลุ่มสตรีพัฒนาได้นำผลไม้และพืชผักสมุนไพรที่มีรสชาติที่ทั้งเปรี้ยว ขม และเผ็ด ในรั้วบ้านมาทำให้มีรสชาติหวาน ไม่ว่าจะเป็น พริก กระชาย บอระเพ็ด มะระขี้นก ตะลิงปลิง ลูกมะนาว ผลส้มโออ่อน มะละกอ ลูกตำลึง และอีกมากมาย นำมาแปรรูปในรูปแบบต่างๆ จนมีรสชาติหวานอร่อย ซึ่งถือว่าต้องใช้ความประณีตและความอดทนในการทำสูง และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้เหล่านั้นได้จริงๆ

วันว่างในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็กๆ โรงเรียนวัดแก่นจันทร์ ที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกันกับกลุ่มสตรีเกษตรพัฒนา ได้แวะเวียนมาที่กลุ่มเพื่อศึกษาและเรียนรู้กรรมวิธีการทำผักผลไม้แช่อิ่มจากพี่ป้าน้าอาสมาชิกในกลุ่ม

เด็กๆ ตามป้าแดงเข้าสวนยามเช้า เพื่อเก็บผักผลไม้ที่จะนำมาแช่อิ่ม ผักชนิดแรกที่ป้าแดงกับเด็กๆ เข้าไปเก็บในสวน คือ มะระขี้นก ลักษณะเป็นไม้เลื้อย มีผลรูปกระสวย ผิวขรุขระ เป็นปุ่มๆ ยื่นออกมา รสขมแต่อุดมไปด้วยสรรพคุณทางยามากมาย

น้องหวานเย็น ด.ญ.สุกัลยา สุรศิลป์ บอกว่า “ลูกมะระกินเป็นยาระบายอ่อนๆ ค่ะ ช่วยย่อยอาหาร และเป็นยาเจริญอาหารได้ดีอีกด้วย หวานเป็นลม ขมเป็นยาจริงๆ ค่ะ”

แม้จะมีรสขมแต่ผักพื้นบ้านชนิดนี้กลับมีคุณค่าหลากหลาย นอกจากประโยชน์ที่น้องหวานเย็นบอกเล่าแล้ว ยอดอ่อนของมะระขี้นก ยังสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผลสุกของมะระขี้นก นำมาคั้นน้ำเพื่อทาบนใบหน้า แก้ปัญหาสิวได้เป็นอย่างดี ผลอ่อนหากรับประทานแล้วจะเป็นยาช่วยบำรุงถุงน้ำดี อีกทั้งยังช่วยขับพยาธิได้ น้ำมะระขี้นกมีวิตามินเอสูงมาก จึงมีสรรพคุณบำรุงสายตาได้ดี

ด้วยความหลากหลายของสวนสมรม ในพื้นที่ใกล้ๆ กันนี้ จึงมีพืชผักสมุนไพรอีกจำนวนมากให้ป้าแดงกับเด็กๆ เก็บไปแช่อิ่ม ไม่ว่าจะเป็นลูกตำลึง ผลส้มโออ่อน ลูกมะนาว มะละกอ และพืชผักอีกหลากหลายที่ขึ้นอยู่ในสวน

แต่ทีเด็ดในบรรดาผักผลไม้กลับชาติขึ้นชื่อของกลุ่มสตรีเกษตรพัฒนา อีกชนิดหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ บอระเพ็ด หากใครได้ยินชื่อแล้วเชื่อว่าต้องนึกถึงรสชาติอันแสนขมเป็นแน่

บอระเพ็ดเป็นไม้เถาวัลย์เลื้อย เถากลมมีขนาดใหญ่เป็นปุ่มปม ผิวขรุขระสีเทาอมดำ รสฝาดขม มักเลื้อยเกาะเกี่ยวอยู่กับต้นไม้ชนิดอื่นๆ แต่ในความขมก็คงไว้ซึ่งสรรพคุณทางยาเช่นกัน

บอระเพ็ดมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tinos pora crispa ชาวบ้านและเด็กๆ บางพลับ ทราบกันดีว่าพืชชนิดนี้เป็นยาอายุวัฒนะที่ช่วยชะลอความชราได้ อีกทั้งยังบำรุงร่างกายและช่วยขับน้ำย่อย ทำให้เจริญอาหาร แก้ร้อนในกระหายน้ำ คุณสมบัติของบอระเพ็ดมีอยู่เต็มเปี่ยม แต่ครั้นจะให้รับประทานกันสดๆ หลายคนคงไม่อยากลิ้มรสขมๆ ของบอระเพ็ดสักเท่าไหร่

bangplub3

การนำบอระเพ็ดและพืชผักในสวนมาแช่อิ่ม แปรรูปจากสมุนไพรรสขมให้กลายมาเป็นขนมแสนหวาน เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดส่งต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน คิดค้นวิธีการแปรรูปผักผลไม้รสขมให้รับประทานได้ง่ายขึ้น แถมยังมีสรรพคุณทางยาไม่เปลี่ยนแปลง ดึงดูดความสนใจของผู้ที่รักสุขภาพได้ดีไม่น้อย

ทุกวันนี้ที่กลุ่มสตรีเกษตรพัฒนา จึงมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาศึกษาดูงานไม่ขาดสาย เพราะที่นี่เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ที่มีรูปแบบกิจกรรมในการพึ่งตนเองได้อย่างสมดุลตามวิถีธรรมชาติ ตลอดจนมีศูนย์ต้อนรับนักท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย

ในมุมมองของเด็กๆ รุ่นใหม่ อย่าง น้องยุ ด.ญ.ยุภาพร สกุลสุข บอกว่า “รู้สึกภูมิใจค่ะที่ในชุมชนสามารถสร้างรายได้จากภูมิปัญญาที่มีต่อทรัพยากรท้องถิ่นของเรา พอเข้ามาเรียนรู้แล้วเหมือนได้สืบสานของดีบ้านเราไว้ ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจเป็นพวกหนูเองที่จะคิดค้นพัฒนา นำพืชที่มีอยู่ในหมู่บ้านชนิดอื่นๆ มาดัดแปลงแช่อิ่มต่อไป”

ภูมิปัญญาที่ผู้ใหญ่ในชุมชนสั่งสมมา และร่วมกันถ่ายทอดให้เยาวชนย่อมไม่สูญประโยชน์ เพราะเด็กๆ เห็นถึงคุณค่าและพร้อมสืบสานไว้ต่อไป

ติดตามรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน ผลไม้กลับชาติ วันเสาร์ที่ 5 มิ.ย. เวลา 06.25 น. ช่อง 3 www.payai.com

ที่มา : คอลัมน์ สดจากเยาวชน ยศศยามล กรมติ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7127 ข่าวสดรายวัน

Relate Post