สวนผักคนเมือง ปลอดภัยร้อยใจชุมชน

สวนผักของชาวบ้านในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ถนนสุขาภิบาล 2 เขตประเวศ กรุงเทพฯ เกิดจากแรงขับที่เรียกว่า “โอกาส” เนื่องจากสมาชิกเกือบทุกคนของชุมชน เพิ่งจะได้สัมผัส “ผืนดิน” เมื่อประมาณ 10 ปีมานี้ ก่อนหน้านี้พวกเขาอาศัยอยู่ใต้สะพาน เลี้ยงชีพด้วยการเก็บของเก่า หรือขยะไปขาย โดยระลึกอยู่เสมอว่า ตัวเองเป็นคนจนระดับล่างสุดของสังคม

จนช่วงปีพ.ศ.2536-2537 กทม. มีนโยบายไล่รื้อชุมชนใต้สะพานทั้งหมด 65 แห่ง ชุมชนใต้สะพานจึงรวมตัวกันเรียกร้องหาที่อยู่อาศัยใหม่ กระทั่งปีพ.ศ.2544 จึงได้ย้ายไปอยู่ในที่จัดสรรของการเคหะแห่งชาติ 3 แห่ง และชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

นายพีรธร เสนีย์วงศ์ ประธานโครงการสวนผักคนเมือง ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เล่าว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นสมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค และรู้จักกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ผู้ดำเนินโครงการสวนผักคนเมือง จึงชักชวนกันเข้าร่วมโครงการ โดยการสนับสนุนของสำนัก งานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ขั้นแรก ชาวชุมชนช่วยกันปรับปรุงพื้นที่ว่างเปล่า นำวัสดุเหลือใช้ เช่น เศษกระเบื้อง มาทำเป็นกระถางปลูกส้ม มะนาว และยกพื้นทำแปลงผัก ส่วนขอบฟุตปาธที่กทม.ทิ้ง ก็นำมาทำบ่อเลี้ยงปลาทับทิม ปลาดุก และภายในสวนปลูกผักสวนครัวหลายอย่าง อาทิ คะน้า ผักกาด ผักบุ้ง ขึ้นฉ่าย แมงลัก โหระพา ผักปรัง บวบ ต้นแค เป็นต้น


ส่วนการบริหารจัดการสวนผักของชุมชน นายพีรธรบอกว่า เป็นแบบกันเองและเรียบง่าย ทุกคนสามารถเก็บผักไปกินได้ แต่ต้องนำเงินไปหยอดลงในกระป๋องส่วนกลาง ซึ่งเงินนี้จะนำไปใช้ซื้อเมล็ดพันธุ์ผักมาปลูกในครั้งต่อไป และส่วนหนึ่งจะนำไปทำบุญในนามของชุมชน

“สมาชิกในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ มีอาชีพหลักคือเก็บของเก่าขาย มีรายได้ต่อเดือน 6,000-8,000 บาท การมีสวนผักที่ชาวชุมชนสามารถใช้ประ โยชน์ร่วมกันได้ จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารการกินได้ระดับหนึ่ง เพราะการเก็บผักจากสวนผักไปกิน เพียงแค่หยอดเหรียญ 5 บาท หรือ 10 บาท ครอบครัวก็ได้กินผักคะน้าหนึ่งมื้อแล้ว ถูกกว่าไปซื้อตามท้องตลาดหรือซื้อกับรถเร่ขายผักมาก” ประธานโครงการสวนผักคนเมือง กล่าว

นางสุกัญญา เหลี่ยมหลุมพา หนึ่งในสมาชิกสวนผักชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ร่วมเล่าว่า มีอาชีพเก็บของเก่า แต่ละวันมีรายได้ไม่มากนัก ถ้าแบ่งไปซื้อผักปลามาทำอาหาร ก็แทบไม่มีเงินเหลือเก็บ แต่พอมีสวนผักในชุมชน ก็ได้ทั้งผักสด สะดวก ประหยัด และปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วย

“อย่างมื้อเย็นจะทำผัดผัก กับแกงปลา ก็ไปเก็บผักที่สวนผัก แล้วหยอดเงินใส่กระปุก 10 บาท ถูกกว่าซื้อที่ตลาด หรือรถพุ่มพวงเยอะ ที่นี่ไม่มีใครกำหนดราคา หรือปริมาณผักที่จะใช้ ส่วนใหญ่เอาไปแต่พอกิน ทุกคนซื่อสัตย์ต่อตนเองและชุมชน ถ้าวันไหนใครว่างก็จะเข้ามารดน้ำ พรวนดินแปลงผัก หรือมีพันธุ์ผักมาใหม่ก็จะเอามาปลูกและแบ่งกันกิน”

สุกัญญาบอกอีกว่า เดิมทีพื้นที่บริเวณนี้เป็นสนามเด็กเล่น เนื้อที่เกือบๆ หนึ่งไร่ จึงแบ่งออกมา 72 ตารางวา ทำเป็นสวนผัก แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ เมื่อเทียบกับจำนวนครัวเรือนที่มีมากกว่า 200 ครอบครัว แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้ นอกเหนือจากการได้บริโภคผักปลอดสารพิษแล้ว สวนผักยังเป็นสถานที่สร้างความสัมพันธ์อันดีให้กับชุมชนอีกด้วย

ด้าน นางสุภา ใยเมือง ผู้จัดการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ในฐานะผู้ดำเนินโครงการสวนผักคนเมือง กล่าวว่า โครง การนี้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาปากท้องให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองที่มีพื้นที่จำกัด สำหรับชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เป็นชุมชนที่มีการรวมกลุ่มเป็นรูปธรรมชัดเจน และมีพื้นที่ว่าง จึงนำโครงการนี้มาใช้ และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

“จากการลงพื้นที่ดูสวนผักของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เห็นพืชผักสวนครัวเต็มพื้นที่ และออกดอกผลมากมาย มีบ่อเลี้ยงปลา ทำให้เรารู้สึกดีใจไปกับพวกเขาด้วย และนอกจากผลผลิตที่ออกมาแล้ว คนที่นี่ยังเกิดความสามัคคีจากการดูแลสวนผักของชุมชนร่วมกัน รู้จักแบ่งบัน เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน มีการต่อยอดโครงการให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ด้วยการเก็บค่าขายผักตามความสมัครใจ สิ่งเหล่านี้จะทำให้โครงการสวนผักคนเมืองของชุมชนยั่งยืน และเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” นางสุภา กล่าว

ในฐานะผู้สนับ สนุนโครงการ รศ. น.พ.อำนาจ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการบริหารสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสสส. กล่าวว่า ทุกปีจะมีโครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมาย และจบไปเมื่อหมดระยะเวลาดำเนินการ แต่สวนผักของคนในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ นี้ มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ชัดเจน และต่อยอดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ใครมาเก็บผักไปกินจะซื่อสัตย์ต่อตนเอง ด้วยการนำเงินไปหยอดกระปุกส่วนกลาง ทำให้มีเงินหมุนเวียนซื้อพันธุ์ผักตลอด

“โครงการจะประสบความสำเร็จและยั่งยืนหรือไม่ คนในชุมชนจะเป็นตัวชี้วัดเอง สวนผักที่นี่น่าสนใจที่เขามีกระป๋องค่าผัก ถ้าชาวชุมชนยอมหยอดเงินลงทุกครั้งที่มาเก็บผัก ก็สื่อให้เห็นว่ามีการสนับสนุนโครง การจากคนในพื้นที่ มีทุนดำเนินงานต่อโดยไม่ต้องง้อเงินจากภายนอก และถ้ามีเงินเพิ่มมากขึ้นก็แสดงว่าเขาขยายตัวได้ เป็นตัวชี้วัดว่าโครงการสวนผักคนเมืองของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ จะเกิดความยั่งยืนต่อไป”

ตัวอย่างดีๆ ของสวนผักคนเมืองชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เกิดขึ้นเพราะทุกคนตระหนักร่วมกันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีค่า ซึ่งการมีอยู่และได้มาไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดๆ ต้องใช้ประโยชน์ให้คุ้มที่สุด

ที่มา http://www.khaosod.co.thh

………

กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์
การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่
ไม่ได้ทำเพื่อการค้า

Relate Post