“หอยหอม” ตัวทำเงินดัชนี วัดความสมบูรณ์ป่าเขา

ในบ้านเรา นั้นมีหอยอยู่หลายชนิด ทั้งหอยกาบ แครง แมลงภู่ นางรม โข่ง หลอด และ “หอยภูเขา” เป็นอีกชนิดหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปนิยมนำมาทำเป็นอาหาร ทั้งยำ ย่าง หรือแกงคั่ว “เปิบ” กันอย่างอร่อยลิ้น

“หอยภูเขา” (cyclophorid  snails) ทั่วโลก มีมากกว่า 100 สปีชีส์ พบได้บนพื้นดินที่ชื้นตามแนวเทือกเขาหรือที่ราบสูง โดยเฉพาะที่ภูเขาหินปูนในประเทศแถบเขตร้อน และกึ่งเขตร้อนของทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ในแถบจังหวัด สระแก้ว ลพบุรี กาฬสินธุ์

โดยในช่วงหน้าแล้งจะอาศัยอยู่ในรูตามโพรงดิน หลายคนบอกว่าเป็นเวลาที่มัน “จำศีล” กระทั่งเข้าสู่ฤดูฝนโปรยปรายตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนตุลาคม พวกมันจึงเริ่มออกมาสู่โลกภายนอก เพื่อเก็บกินเศษซากใบไม้เป็นอาหาร หน่อไผ่อ่อนๆ ใต้ดิน รวมทั้งยังมีหน้าที่ช่วยย่อยเศษซากใบไม้ให้มีขนาดเล็กลง เป็นการเพิ่มสารอินทรีย์ให้กับดิน

…นอกจากมันเป็นเสมือนเครื่องมือดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าภูเขาและจากความเชื่อที่ว่า “เปิบ” หอยหอมแล้วจะช่วยแก้ปัญหาโรคปวดตามข้อกระดูก บวกกับเวลาที่นำมาแปรรูป ซึ่งเวลาที่นำมาย่างสุกจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว กระทั่งหลายคนยกให้มันเป็น “หอยหอม” โอชะ ส่งผลให้พวกมันกลายเป็น “ตัวทำเงิน” ให้กับชาวบ้านในพื้นที่จากการเก็บขาย สนนราคาอยู่ที่กิโลละ 25-40 บาท

ไข่หอยหอม

และ…หากเป็นมือใหม่ การเก็บแต่ละครั้งอาจเกิดความสับสน เพราะหอยหอมจะมีลักษณะคล้ายหอยทาก แต่มันจะมีเปลือกที่หนา แข็งแรง และลวดลายที่สะดุดตากว่า ตัวเต็มวัยมีขนาด 5-7 ซม. ขอบปากหนา บานออกคล้ายปากแตร กว้างประมาณ 2-7 ซม. เปลือกมีทั้งสีขาวขุ่น น้ำตาลเข้ม และดำ บางตัวเปลือกจะมีลวดลายสะดุดตา ลำตัวสีเทา ก้นแหลม ลักษณะคล้ายหอยทาก

ตัวผู้ มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย สังเกตได้คือมีอวัยวะสืบพันธุ์อยู่ทางด้านขวาลำตัวใกล้หนวด เวลาที่เคลื่อนไหวด้วยการคืบคลานจะเห็นหนวด 1 คู่ ตาที่อยู่โคนหนวดจะโผล่ปูดออกมาเห็นเด่นชัด เมื่อภัยมาถึงตัว มันจะหดเข้า แล้วใช้ฝาปิดยึดแน่นกับด้านบนของเปลือก เพื่อเป็นเกราะกำบังภัย

แล้ว…เมื่อ เม็ดฝนหยาดสุดท้ายเริ่มลาจากท้องฟ้า หอยหอมตัวเมียจะวางไข่ลักษณะถุงหุ้มเป็นสีขาวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มม. กระทั่งตัวอ่อนเริ่มฟัก

ถุงจะเปลี่ยนเป็นสีขาวใส ในวัยนี้พวกมันจะใช้ชีวิตใต้ซากเศษใบไม้ผุเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงตัวเองให้ เติบโตเพื่อรอเข้าหน้าฝนในฤดูถัดไป ถึงจะคืบคลานออกมาใช้ชีวิตตามโขด ซอกหินต่อไป.

ที่มา: ไทยรัฐ วันที่ 27 กันยายน 2554 โดย เพ็ญพิชญา เตียว http://www.thairath.co.th/content/edu/204655

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post