อย.ฟันผู้กระทำผิดพ.ร.บ.อาหารฯ โดนกันเพียบ

อย. ฟันผู้กระทำผิดพ.ร.บ.อาหารฯ โดนกันเพียบ ทั้งนิติพล คลินิค,อายิโนะโมะโต๊ะ, แบรนด์ วีต้า 7,ซุปไก่สกัด

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้อย.ได้ดำเนินการกับผู้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ในลักษณะความผิดต่าง ๆ กันนั้น ปรากฏผลคดีดังนี้ ความผิดฐานโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารเพื่อประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

1.  บริษัท นิติพล คลินิค จำกัด สถานประกอบการเลขที่ 61 อาคารนิติพล กรุ๊ป ชั้น1 ซอยลาดพร้าว 115 (ศานตินิเวศ) แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ

2.  บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ คาลพิส เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด สถานประกอบการเลขที่117/6นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร หมู่ 4 ตำบลบางพระครู อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบการโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “สกินฟิต” ทางแผ่นพับและถุงใส่ของ โดยเผยแพร่ที่นิติพล คลินิก สาขาสีลม เมื่อวันที่ 20 กรกราคม 2553 ซึ่งมีการแสดงข้อความในลักษณะ “เพื่อ ผิวสวยจากภายใน …กรดอะมิโน มีประสิทธิภาพในการช่วยบำรุงผิวได้อย่างรวดเร็ว …คอลลาเจน ช่วยสร้างความยืดหยุ่นและความเรียบตึงให้กับผิวหนัง ทำให้ผิวกระชับ เนียนนุ่ม ชุ่มชื่น …วิตามินซี ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ผิวและชะลอการเกิดริ้วรอยได้อย่างมี ประสิทธิภาพ …ไนอะซีน ช่วยทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น เป็นต้น” และตรวจพบโฆษณาทางเว็บไซต์ http://www.nitiponclinic.com เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์2553แสดงข้อความในลักษณะ “เป็นเครื่องดี่มบำรุงผิว …ดูแลและบำรุงผิวทั้งภายในและภายนอก เพื่อผิวสวยใสสุขภาพดี เป็นต้น” โดยข้อความและภาพที่ใช้ในการโฆษณาคุณประโยชน์คุณภาพ หรือสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว ยังไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ผลคดี

1. เปรียบเทียบปรับบริษัท นิติพล คลินิค จำกัด เป็นเงิน 4,000 บาท (สี่พันบาทถ้วน) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2553

2. เปรียบเทียบปรับบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ คาลพิส เบเวอเรจ (ประเทศไทย)จำกัด เป็นเงิน 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553

3. บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด สถานประกอบการเลขที่ 140/1 อาคารเคี่ยนหงวน2 ชั้น 15ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

เนื่องจากได้โฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหาร “แบรนด์ วีต้า 7 เบอร์รี่สกัดเข้มข้น” ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2552 ซึ่งแบ่งการโฆษณาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่แสดงภาพผลิตภัณฑ์แบรนด์ วีต้า 7 เบอร์รี่สกัดเข้มข้น มีข้อความ เช่น อุดมด้วยวิตามินเอ ช่วยในการมองเห็น…เป็นต้น มีข้อความไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา และในส่วนที่เป็นข้อมูลทางวิชาการ โดยแสดงประโยชน์ของเบอร์รี่ชนิดต่างๆ ว่าช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์,ช่วยป้องกันจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น ออกอากาศช่วงเดือนมิถุนายน – เดือนกรกฎาคม2552 ซึ่งเป็นการโฆษณาแสดงคุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร แม้จะไม่ได้ระบุชื่อหรือภาพของผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาก็ตาม แต่โฆษณาส่วนนี้ออกอากาศในช่วงเวลาเดียวกัน หรือคาบเกี่ยวกันกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์แบรนด์ วีต้า 7 เบอร์รี่ โดยมีลักษณะเชื่อมโยงให้ผู้ชมเข้าใจว่าโฆษณาทั้งสองส่วนเป็นโฆษณาชุดเดียว กัน ซึ่งการโฆษณาในส่วนนี้ยังไม่ได้ขออนุญาตโฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและ ยา  นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผ่นพับ ชื่อ “จริงหรือ ? ที่ดวงตารับบทหนักมากขึ้นกว่าเดิม” เผยแพร่ในงานวิชาการและแจกให้แก่ผู้มาเยี่ยมชมโรงงานในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2552   โดยแสดงประโยชน์ของเบอร์รี่ ว่ามีลักษณะช่วยบำรุงสายตา และปรากฏสัญลักษณ์ 7 berry+ รูปผลเบอร์รี่ 7 ชนิด อันเป็นสัญลักษณ์เดียวกันกับที่ปรากฏบนผลิตภัณฑ์แบรนด์ วีต้า 7เบอร์รี่ ทั้งนี้ มีการใช้ภาพผู้แสดงแบบคนเดียวกันกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์แบรนด์ วีต้า 7เบอร์รี่ ทางสถานีโทรทัศน์  และได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ (ใบปลิว) ชื่อ “ซุปไก่สกัดสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับคุณ” เผยแพร่ตามทางเข้าห้างสรรพสินค้า มีเนื้อหาเป็นการรณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นการให้ความรู้ในเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่เมื่อมีเนื้อหาว่า “ซุป ไก่สกัด สร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับคุณ”,  “…ซุปไก่สกัดยังมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาว…” จึงเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ซุปไก่สกัด โดยอาศัยการรณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และแม้จะไม่มีการระบุภาพหรือชื่อของผลิตภัณฑ์ใดก็ตาม แต่ก็มีการระบุชื่อและเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของบริษัทฯ ในการขอรับเอกสารอ้างอิงเนื้อหาดังกล่าว การกระทำของบริษัทฯ จึงถือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของบริษัทฯ เพราะซุปไก่สกัดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งของบริษัทฯ โดยข้อความและภาพที่ใช้ในการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา

ผลคดี

เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 8,000 บาท (แปดพันบาทถ้วน) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553   4. บริษัท ชูมิตร 1967 จำกัด สถานประกอบการเลขที่ 13 ซอยลาดพร้าว 91 (เกษร) ถนนลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ

เนื่องจากเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบสถาน-ประกอบการพบแผ่นพับโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหาร “ใบแป๊ะก๊วยสกัดผสมโสม สารประกอบฟอสฟา-ติดิลซีรีน” และ “น้ำมันปลาทูน่า (เครื่องหมายการค้าเซเรไบรท์)” แสดงข้อความ เช่น “…เซเรไบรท์ อาหารเสริม เพิ่มพลังสมอง… ป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ… โสมสกัด…มีบทบาทในการลดความเครียด…Ginkgo…ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการ ทำงานของสมอง…Tuna oil…ช่วยไม่ให้สมองเสื่อมก่อนวัย…”เป็นต้น โดยข้อความและภาพที่ใช้ในการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว ยังไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา   ผลคดี   เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน2553

5. บริษัท นาธัวร์ จำกัด สถานประกอบการเลขที่ 67 ถนนบูรณศาสตร์ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ  เขตพระนครกรุงเทพฯ

เนื่องจากได้โฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหาร “สเลนด์ ดีท๊อกซ์ ไฟเบอร์” ทางหนังสือพิมพ์ช่วงเดือนมกราคม 2553 แสดงคุณประโยชน์ในลักษณะ “ช่วยเกี่ยวกับระบบขับถ่าย หุ่นสวย  กระชับได้รูป ผิวพรรณสดใส เป็นต้น โดยข้อความและภาพที่ใช้ในการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว ยังไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา   ผลคดี   เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 4,000 บาท (สี่พันบาทถ้วน) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน2553ทั้งนิติพล คลินิค,อายิโนะโมะโต๊ะ, แบรนด์ วีต้า 7,ซุปไก่สกัด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ  21 ก.ย. 53

Relate Post