เกษตรอินทรีย์กับระบบอาหารโลก:เนตรดาว เถาถวิล

เกษตรอินทรีย์ เป็นระบบการเกษตรที่ได้รับการรับรองว่า กระบวนการผลิตปลอดจากการปนเปื้อนของสารเคมี ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในสังคมไทย เกษตรอินทรีย์ถูกนำเสนอโดยองค์กรพัฒนาเอกชนเมื่อประมาณสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยถูกนำไปเชื่อมโยงกับแนวคิดความพอเพียง การพึ่งตนเอง และความยั่งยืน อีกทั้งถูกมองว่าเป็นการพัฒนาทางเลือกเพื่อหลีกหนีออกจากระบบเกษตรกรรมสมัย ใหม่ที่สร้างปัญหาให้เกษตรกร

ในเวลาต่อมา ในฐานะการพัฒนาทางเลือก เกษตรอินทรีย์ถูกยกระดับเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้/ต่อรองกับภัยที่มาจากการ ผลิตและการบริโภคอาหารในระบบอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอประเด็นรณรงค์ในเวลาต่อมา เช่น อธิปไตยทางอาหาร (Food sovereignty) ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) และการกินแบบละเมียดละไม (Slow food)

ทว่าการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจากสถานการณ์ผูกขาดอาหารในกำมือของบรรษัทข้าม ชาติและธุรกิจการเกษตร จะทำได้ง่ายๆ เพียงแค่การรณรงค์คำขวัญ หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเท่านั้นหรือ?

8494336678_fbd2375de7

อธิปไตยทางอาหาร?

รายการสารคดีโทรทัศน์ที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์สื่อสาธารณะ เรียกคนเก็บผักที่ขึ้นอยู่ริมทางไปทำอาหารกิน และคนที่ปลูกผักกินเองว่า แสดงถึง “อธิปไตยทางอาหาร” ส่วนคนที่ซื้ออาหารกินจากแผงข้างถนน กินจานด่วนตามห้างสรรพสินค้าและอาหารสำเร็จรูปที่ผลิตจากอุตสาหกรรมถูกเรียก ว่า คนที่สูญเสียอธิปไตยทางอาหาร เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของ ปัจเจกบุคคล จะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบบอาหาร และเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้บริโภคโดยง่าย

“อธิปไตย” หมายถึงอำนาจในการปกครอง โดยทั่วไปคำนี้ใช้กับประเด็นปัญหาการปกครองของรัฐ แต่เมื่อคำนี้ถูกนำมาใช้กับอาหาร น่าสงสัยว่าเรากำลังพูดถึงอำนาจ “อธิปไตย” แบบใด และในระดับไหน—อธิปไตยของโลก อธิปไตยของชาติ อธิปไตยของชุมชน หรืออธิปไตยของปัจเจกบุคคล? และอำนาจอธิปไตยทางอาหารเป็นอำนาจภายใต้ความสัมพันธ์กับใคร?

ความจริงแล้ว การพูดถึงปัญหาในระบบอาหาร (Food regime) ไม่ได้เป็นการวิเคราะห์เรื่องอาหารโดยตัวมันเอง แต่เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมในระบบการผลิตและการบริโภคอาหาร และเป็นการวิเคราะห์สัมพันธ์ในระบบทุนนิยม อาหารในฐานะสินค้าชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่ง ควรจะถูกวิเคราะห์เชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นๆ เช่น นิเวศวิทยา การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การวิเคราะห์ระบบอาหารในลักษณะนี้จะช่วยให้เราเข้าใจโครงสร้างระบบทุนนิยม ภาคเกษตร ซึ่งแยกไม่ออกจากประเด็นการสะสมทุนและการผลิตซ้ำแรงงาน

ในการศึกษาเรื่องระบบอาหาร ได้แบ่งช่วงประวัติศาสตร์ของระบบอาหารออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่หนึ่ง เน้นการผลิตอาหารราคาถูกและปริมาณมากเพื่อลดต้นทุนค่าแรง ระยะที่สอง เน้นใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นตัวขับเคลื่อนทุนนิยมภาคเกษตร มุ่งผลิตอาหารที่มีราคาสูงขึ้น และเน้นโครงการช่วยเหลือด้านอาหารจากประเทศโลกที่หนึ่งสู่ประเทศโลกที่สาม เพื่อลดต้นทุนค่าแรงในยุคสงครามเย็น ปัจจุบันเราอยู่ในระยะที่สาม หรือระบบอาหารที่บรรษัทข้ามชาติมีอำนาจนำ เน้นบทบาทของตลาดในการกำกับกติกาพื้นฐานในการผลิตและการบริโภคอาหาร โดยรัฐทำหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ทุน เน้นช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศพัฒนาแล้ว ควบคู่ไปกับการเปิดเสรีทางการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา

ระบบอาหารที่บรรษัทข้ามชาติมีอำนาจนำเน้นการรวมตัวเป็นพันธมิตรของกลุ่ม ทุนธุรกิจการเกษตร อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งไปเร่งรัดกระบวนการเลิกเป็นชาวนาเร็วขึ้น และยังเร่งรัดกระบวนการเปลี่ยนแปลงโลกที่สามเป็นกลายฟาร์มของโลกด้วย[i]

ในระดับสากลมีการเคลื่อนไหวรณรงค์ที่น่าสนใจ เช่น องค์กรชาวนาโลกหรือ La Via Campesina เริ่มรณรงค์เรื่องความมั่นคงทางอาหารและอธิปไตยทางอาหารราวคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป้าหมายของการรณรงค์เพื่อทวงสิทธิเหนือที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร และการเรียกร้องสิทธิที่จะมีอาหารที่ผลิตจากกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวด ล้อมเพียงพอสำหรับบริโภค รวมทั้งเพื่อตอบโต้ระบบอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อพูดถึงความมั่นคงทางอาหาร ในระดับสากลจึงหมายถึงการมีอาหารเพียงพอ การเข้าถึงอาหารได้ และการใช้ประโยชน์จากอาหารที่มีอยู่ ดังนั้นสาระสำคัญของความมั่นคงทางอาหารในระดับสากล เน้นเรื่องความเป็นธรรมในการเข้าถึงและกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรใน สังคม[ii]

ในสังคมไทย การรณรงค์เรื่องความมั่นคงทางอาหารดูเหมือนจะวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างของ ระบบทุนนิยมภาคเกษตร เช่น การผูกขาดอำนาจของกลุ่มทุนในการควบคุมเมล็ดพันธุ์ และดูเหมือนจะต่อสู้กับปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น เรื่องสิทธิการเข้าถึงและการควบคุมทรัพยากร แต่เรากลับพบว่าข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหากลับไปเน้นที่ปัจเจกบุคคล เช่น การเรียกร้องให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ใช้แรงงานตัวเองทำการเกษตร ปลูกพืชผักอินทรีย์เพื่อกินเอง เท่ากับว่าการรณรงค์เรื่องความมั่นคงทางอาหารในสังคมไทย เน้นเรียกร้องโดยการเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคล จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างโดยอัตโนมัติ

ในทำนองเดียวกัน การรณรงค์เรื่องอธิปไตยทางอาหารในสังคมไทย ดูเหมือนเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาการครอบงำผู้บริโภคของธุรกิจการเกษตร แต่ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา กลับเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคล เช่น การรณรงค์ให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน บนสมมติฐานที่ไม่มีหลักฐานยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการกินแล้ว จะสามารถเปลี่ยนโลกได้จริงเพียงใด

ด้วยเหตุที่การรณรงค์เรื่องอธิปไตยทางอาหารในสังคมไทยไม่ให้ความสำคัญกับ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่เน้นการเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคล และยังเน้นบทบาทของปัจเจกที่ผูกโยงกับชุมชนท้องถิ่น ทำให้การรณรงค์เรื่องอธิปไตยทางอาหารไปสอดรับกับกระแสชาตินิยมและท้องถิ่น นิยม เช่น เรียกร้องให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีการเกษตรและเทคโนโลยี เรียกร้องให้ผู้บริโภคหันไปกินอาหารท้องถิ่น และต่อต้านอาหารอุตสาหกรรม โดยละเลยข้อเท็จจริงว่า ระบบทุนนิยมสร้างเงื่อนไขบีบบังคับผู้บริโภคอย่างไร

เพราะไม่แยกแยะว่าทำไมผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงมีทางเลือกจำกัดในการบริโภค บ่อยครั้งการรณรงค์เรื่องอธิปไตยทางอาหารจึงเสนอทางเลือกที่ดูเป็นไปได้ยาก สำหรับผู้บริโภค เช่น การเรียกร้องให้คนหันไปบริโภคอาหารอินทรีย์ที่มีราคาแพงและหายาก หรือไม่ก็ต้องเสี่ยงเป็นมะเร็งตาย

ตลาดสีเขียว?

ผู้คร่ำหวอดในวงการเกษตรอินทรีย์กล่าวว่า “มีแนวโน้มที่ทั้งอุปสงค์ของผู้บริโภคและอุปสงค์ของผู้ผลิตสินค้าเกษตร อินทรีย์จะเพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ในขณะที่ผู้ผลิตก็ต้องการผลิตตามความต้องการของผู้บริโภคเพื่อจะได้ราคาสูง”

คำกล่าวนี้ชวนให้เคลิบเคลิ้มว่า เกษตรอินทรีย์สร้างสถานการณ์ซึ่งทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างก็ได้ประโยชน์ ไม่เพียงแค่นั้น เรายังถูกทำให้เชื่อว่าการแสวงผลกำไรจากสินค้าอินทรีย์ สามารถไปกันได้อย่างไม่ขัดแย้งกับการสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อมทำได้ง่ายๆ แค่เราเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน

ภายใต้คำขวัญที่สวยงาม ยังมีคำถามที่ไร้คำตอบ เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคจะทำให้เปลี่ยนแปลงโลกได้จริงหรือไม่? ผู้บริโภคหวังอะไรจากการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์? ผู้บริโภคแน่ใจได้อย่างไรว่าอาหารอินทรีย์ที่ตนเองบริโภคไม่ได้สร้างผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เอาเปรียบแรงงาน?

เราอาจเริ่มต้นหาคำตอบจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง และอาจพบกับความจริงที่แตกต่างออกไป การสำรวจทัศนคติผู้บริโภคชาวไทย 884 คน เกี่ยวกับเหตุผลในการซื้อสินค้าผักอินทรีย์ในกรุงเทพฯ พบว่า แม้ผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มีรายได้และการศึกษาสูง จบปริญญาตรีขึ้นไปและมีเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาท มีอายุมากกว่า 40 ปี เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมีบุตรที่อยู่ในความดูแล แต่ผู้บริโภคซื้อผักอินทรีย์เพื่อลดความกังวลในเรื่องสารพิษตกค้าง มากกว่าห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคบอกไม่ได้ว่าสินค้าที่ติดฉลาก “Hygienic” “Safe” และ “Organic” แตกต่างกันอย่างไร ในขณะที่ฉลากของสินค้าเหล่านี้ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับระบบการ ผลิตที่แตกต่างกันของสินค้า

ในจำนวนผู้บริโภค 40% ที่ซื้อสินค้าอินทรีย์บอกว่ารู้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเพียงเล็ก น้อย มีเพียง 5% เท่านั้นที่บอกว่ารู้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์มาก การศึกษานี้ทำให้เราเข้าใจว่าผู้บริโภครู้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอินทรีย์ที่ ตนบริโภคน้อยมาก แต่ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อความสบายใจว่าตนได้บริโภคอาหารที่เชื่อว่า ปลอดภัย มีผู้บริโภคน้อยมากที่คาดหวังว่าการบริโภคสินค้าอินทรีย์จะสร้างความเปลี่ยน แปลงแก่สิ่งแวดล้อม[iii]

ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่สำรวจความเห็นของผู้บริโภคสินค้าอินทรีย์ใน ไต้หวัน พบว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของสุขภาพมาก่อนความห่วงใย ปัญหาสิ่งแวดล้อม[iv] ในหลายประเทศแถบยุโรป การเติบโตของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์เกิดจากเหตุผลอื่นๆ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจตคติของบริโภค เช่น ในเดนมาร์กซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์สูงสุดในโลก พบว่าการเติบโตของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่ได้เกิดจากผู้บริโภคมีจิตสำนึก ด้านสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเพราะรัฐบาลให้เงินอุดหนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์และให้คำแนะนำเรื่อง เกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 นอกจากนั้นห้างสรรพสินค้ายังลดราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ลง 15-20% พร้อมเพิ่มช่องทางการขายสินค้าให้สะดวกและส่งเสริมการตลาดมากขึ้น  มีการปรับปรุงระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าและติดฉลากสินค้าให้น่าเชื่อถือ องค์ประกอบเหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคชาวเดนมาร์กหันมาบริโภคสินค้า เกษตรอินทรีย์มากขึ้น[v]

ส่วนการที่ธุรกิจการเกษตรทั้งหลายหันมาผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ อาจเป็นเพียงกลยุทธ์เพื่อปรับตัวอยู่รอดทางธุรกิจ มากกว่าจะเป็นเพราะห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อม[vi]  นอกจากนี้ยังมีข้อวิตกกังวลว่า หากการซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังคงทำผ่านช่องทางการค้ากระแสหลักอย่าง ที่เป็นอยู่ เช่น ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต การบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็จะไม่ส่งเสริมตลาดทางเลือกอย่างที่คาดหวัง[vii]

ที่แย่ไปกว่านั้น การเติบโตของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์อาจสร้างผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจได้ เช่น ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อบรรษัทธุรกิจการเกษตรหันมาสนใจลงทุนผลิตปลูกผักปลอดสารพิษขายกันมาก ขึ้น เกษตรกรรายย่อยกลับต้องสูญเสียที่ดิน เพราะจ่ายค่าเช่าที่ดินแพงขึ้น ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามว่าเกษตรอินทรีย์ยังคงเป็นทางเลือกของเกษตรกรราย ย่อยหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขที่เกษตรอินทรีย์กำลังพัฒนาไปสู่ระบบการผลิตเพื่อการค้าและ เพื่อป้อนตลาดโลกมากขึ้น[viii] และเกษตรอินทรีย์จะมีความยั่งยืนหรือไม่ในระยะยาว[ix]

กินเปลี่ยน โลกเปลี่ยน?

A new perspective can change everything—สโลแกนในเว็บไซต์แห่งหนึ่งที่ขายสินค้าติดโลโก้การค้ายุติธรรม (Fair trade) บอกผู้บริโภคว่า มุมมองใหม่ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกสิ่ง

รายการสารคดีโทรทัศน์ที่เผยแพร่ทางสื่อสาธารณะ[x] บอกว่า วัฒนธรรมการกินอย่างละเมียดละไม (slow food) สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เช่น กินอาหารปรุงจากพืชผักพื้นบ้าน เก็บตามฤดูกาล ปลอดสารเคมี ปรุงอย่างประณีต ผู้ปรุงมีความรู้ มีเวลาและกินร่วมกันเป็นครอบครัวหรือชุมชนยิ่งดี ความดีงามของการกินอาหาร slow food ถูกนำไปเชื่อมโยงกับความเป็นธรรมชาติ และความเป็นไทยท้องถิ่น เพื่อสื่อความหมายถึงการหวนรำลึกถึงอดีตและการเสพความเป็นท้องถิ่นดั้งเดิม ทำให้ภัตตาคารและร้านค้าที่อาหารขายในวัฒนธรรมแบบ slow food กลายเป็น “ทางเลือก” สำหรับผู้มีรสนิยมในการกิน ตรงข้ามกับอาหารที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรม (fast food) ที่ถูกมองว่าไม่ปลอดภัย เจือปนสารพิษ ปรุงอย่างรวดเร็ว เมนูอาหารซ้ำซาก เน้นความสะดวกในการกิน และไม่คำนึงถึงคุณค่าอาหาร

การกินอาหาร slow food เป็นทางเลือกสำหรับใคร?

สโลแกนของการรณรงค์ slow food ยึดหลักการเดียวกับขบวนการ slow food movement ในประเทศตะวันตก คือกินอาหารทีดี สะอาด และราคายุติธรรม ผู้ที่กินอาหารแบบ slow food ต้องดำเนินชีวิตแบบไม่รีบเร่งแข่งกับเวลา ถ้าไม่ใช่คนมีฐานะดี ที่ไม่ต้องรีบไปทำงาน ก็ต้องมีคนจัดหาอาหารดีๆ ให้กิน หรือไม่ก็เป็นคนบางกลุ่มที่อยู่ในชนบท ซึ่งไม่ถูกควบคุมด้วยเวลาของระบบทุนนิยม  ดังนั้นเงื่อนไขของการกินเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก จึงต้องมีความพร้อม พร้อมทั้งในแง่ทุนทรัพย์ เวลา ความรู้และศักยภาพในการเข้าถึงอาหารที่ดีและหลากหลาย ดังนั้นการกินแบบ slow food จึงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคม แม้จะอยากเลือกเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถเลือกกินแบบนี้ได้ หากเงื่อนไขเชิงโครงสร้างยังไม่เปลี่ยน

แม้จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับการกินอาหารไทยท้องถิ่น แต่วัฒนธรรมการกินแบบ slow food กลับมีที่มาจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปในดินแดนอื่น ทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสชิมอาหารแปลกๆ ในหลากหลายวัฒนธรรม จนเกิดความคุ้นเคย และเปิดรับรสนิยมการกินที่มีความแตกต่าง โดยเนื้อแท้แล้วการกินแบบ slow food จึงเป็นผลผลิตของโลกาภิวัฒน์ เพราะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการเดินทางไกล และการไปเรียนรู้วัฒนธรรมอื่น ตลาดทางเลือกที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการกินแบบ slow food ภัตตาคารที่ขายอาหารท้องถิ่น การจัดเทศกาลอาหารท้องถิ่น ตลอดจนการเกิดขึ้นของย่านขายอาหารท้องถิ่นตามเมืองใหญ่ๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนเป็นการนำวัฒนธรรมการกินแบบท้องถิ่น มาทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมระดับโลก

พูดอีกอย่างหนึ่ง การกินแบบ slow food ไม่อาจแยกออกจากกระแสโลกาภิวัตน์และบริโภคนิยม แตกต่างตรงที่ชนิดของอาหารที่เลือกเสพและวิธีการเสพเท่านั้น หากผู้บริโภคเชื่อว่าตนเองสามารถเปลี่ยนโลกทั้งใบ ด้วยวิธีการง่ายๆ แค่เพียงเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ผู้บริโภคย่อมไม่คิดว่าการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งๆ ที่สถาบันระดับโลกอันหลากหลาย ทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐและผู้กระทำการที่ไม่ใช่รัฐ ล้วนเป็นผู้กุมทางเลือกและกำกับความเป็นไปได้ที่จะเลือกของผู้บริโภคแต่ละชนชั้น

หากการรณรงค์เรื่องเกษตรอินทรีย์ในสังคมไทย ไม่ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบบอาหาร แต่กลับเน้นการประกาศคำขวัญที่มุ่งแสวงหาทางออกเฉพาะตัวให้กับปัจเจกชน การกินอาหารอินทรีย์ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างที่หลายคนคาดหวัง


[i] McMichael, Philip. 2009. “A Food Regime Analysis of the World Food Crisis,” Agriculture and

Human Value, Vol. 26, pp. 281-295.

Boyer, Jefferson. 2010. “Food security, Food sovereignty, and Local Challenges for

Transnational Agrarian Movements: The Honduras Case,” Journal of Peasant Studies,

Vol.37, No.2, pp. 319-351.

[iii] Schobesberger et. all. 2008. “Consumer Perceptions of Organic Foods in Bangkok, Thailand,”

Food Policy, Vol. 33, pp.112-121.

[iv] Mei-Fiang Chen, “Attitude Toward Organic Foods among Taiwanese as Related to Health

Consciousness, Environmental Attitudes, and the Mediating Effects of a Healthy

Lifestyle” www.emeraldinsight.com/0007-070X.htm.

[v] Risgaard et. all. “Socio-cultural processes behind the differential distribution of organic

farming in Denmark: a case study,” Agriculture and Human Values, DOI

10.1007/s10460-007-9092-y.

[vi] Jansen, Kees, and Vellema, Sietze et.all. 2004. “Agribusiness and Environmentalism: The Politics of Technology Innovation and Regulation,” “, in Kees Jansen, and Vellema,  Sietze (ed.) Agribusiness and Society: Corporate Responses to Environmentalism, Market Opportunities and Public Regulation (pp.1-22). London and New York: Zed Books.

[vii] Guthman, Julie. 2004.“The Trouble with ‘Organic Lite’ in California: A Rejoinder to th ‘Coventionalisation’ Debate”, Sociologia Ruralis, Vol. 44, No.3, pp. 308-316.

[viii] Guthman, Julie. 2004. Agrarian Dreams: The Paradox of Organic Farming in California.

Berkely, California: University of California Press.

[ix] Allen, and Kovach, 2000, The Capitalist Composition of Organic: the Potential of Markets in

Fulfilling the Promise of Organic Agriculture. Agriculture and Human Values, Vol.17,

pp.221-232.

[x] รายการสารคดีข้าวปลาอาหาร เป็นซีรี่ส์ ออกอากาศทางสถานีทีวีไทย

ที่มา: ประชาไท วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 โดย เนตรดาว เถาถวิล http://prachatai.com/journal/2013/02/45435

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post