เกษตรเนิบช้า…ที่ภูเพียง

เรื่องเล่าปราชญ์ชาวบ้าน อ.ภูเพียง จ.น่าน กับการต่อสู้เพื่อปลดหนี้ตามวิถีเกษตรอินทรีย์

บ่อยครั้งที่มีโอกาสเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตรผสมผสาน วิถีพึ่งพาตัวเอง โดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งส่วนใหญ่ทำได้จริง มีผลผลิตและรายได้ตลอดปี แต่ทำไมเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เลือกเส้นทางนี้ ทั้งๆ ที่มีแหล่งเรียนรู้ทุกภูมิภาคในเมืองไทย

นั่นทำให้วิถีทางเลือกที่เราเรียกว่า เกษตรอินทรีย์ เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ขยายเครือข่ายแบบเนิบช้า แม้จะน่าภูมิใจ แต่วิถีแนวนี้ไม่สามารถถูกปรับเปลี่ยนเป็นแกนหลักของประเทศ เพราะวิถีเกษตรแบบค่อยเป็นค่อยไป พอเพียง พอกิน พอใช้ จำต้องใช้เวลา ไม่อาจทำให้เกษตรกรปลดภาระหนี้สินได้ทันที

การรอให้ไม้ดอก ไม้ผล เติบใหญ่ อาจเป็นความทุกข์ทรมานสำหรับเกษตรกรส่วนใหญ่ แต่สำหรับพ่อ ชูศักดิ์ หาดพรม ผืนดินของพ่อแม่ที่ทำกินในอ.ภูเพียง จ.น่าน ทำให้เขาเรียนรู้แล้วว่า วิถีเกษตรดั้งเดิมที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายทำมา นั่นแหละคือ หนทางการเกษตรที่ยั่งยืน ไม่สร้างหนี้สินและไม่ทำลายผืนดิน

1.) ก่อนผืนดินการเกษตรของเขาจะกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้บ้านแสงเทียน ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ตามวิถีเกษตรยั่งยืน เขาและครอบครัวก็เคยหลงไปกับวังวนเกษตรเชิงเดี่ยวที่รัฐเข้ามาสนับสนุน กระทั่งพบว่า ยิ่งทำ ยิ่งจน เต็มไปด้วยหนี้สิน และความทุกข์ เขาจึงตั้งคำถามกับตัวเอง นั่นคือ หนทางที่ใช่…หรือ

“ผมหลงอยู่กับการเกษตรเชิงเดี่ยวอยู่นาน เพราะหวังรวย จากที่ไม่มีหนี้สินกลายเป็นมีหนี้สินกว่าล้าน” พ่อชูศักดิ์ เล่าให้ผู้มาเยือนจากกิจกรรมเที่ยวทั่วไทย หัวใจถึงธรรม ของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ ฟัง

การเกษตรที่พ่อชูศักดิ์หลงทำมานาน ก็ไม่ต่างจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศนี้ เพียงแต่เกษตรกรคนนี้ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบจนพบว่า เกษตรเชิงเดี่ยวไม่ใช่ทางรอด จึงไม่ดันทุรังทำต่อไป

“พ่อแม่ผมเป็นเกษตรกร และเคยบอกว่า อยากให้ผมเรียนหนังสือจะได้เป็นเจ้าคนนายคน เพราะอาชีพเกษตรกรไม่มีใครอยากทำ แต่ผมกลับคิดตรงกันข้าม เมื่อเรียนจบมัธยมปีที่ 6 ผมออกมาทำการเกษตร เพราะอยากรู้ว่า อาชีพนี้จะยากจนจริงหรือไม่ และพ่อแม่ผมก็ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ไม่ใช้สารเคมี เลี้ยงลูก 8-9 คน ”

แม้พ่อแม่จะทำการเกษตรอินทรีย์ แต่จังหวะชีวิตช่วงหนึ่ง พ่อชูศักดิ์หันมาทำเกษตรเชิงเดียว เพราะหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนและบอกว่าจะสร้างรายได้จำนวนมาก

“เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่า ทำการเกษตรแบบชาวบ้านไม่มีทางร่ำรวย ผมก็ทำตามที่เขาแนะนำ เพราะความขยันของผม ผมปลูกข้าวโพดบนภูเขาสามลูก ใช้ยาฆ่าหญ้า สารเคมี และทำฟาร์มเลี้ยงหมูและเป็ด ทำไปทำมาเป็นหนี้กว่าล้านบาท ต้องขายที่ดินทำกิน 18 ไร่”

2.) แม้จะขยันขันแข็งเพียงใด พ่อชูศักดิ์ก็ยังมีหนี้สินจำนวนมาก นั่นเป็นเหตุให้เขากลับมาครุ่นคิดหาวิธีปลดหนี้ เพราะตอนนั้นชีวิตแทบจะไม่เหลือสิ่งใดเพื่อทำทุนต่อ กระทั่งชาวบ้านละแวกนั้นต้องการขายที่ดินที่ไม่อาจปลูกพืชให้งอกเงย เนื่องจากพื้นที่บางส่วนเป็นดินลูกรัง รวมๆ 23 ไร่

“ที่ดินตรงนั้น ทำอะไรไม่ได้ หน้าดินหาย มีหินเยอะ ต้นไม้ล้มหมด เจ้าของที่ดินห้ารายบริเวณนั้นอยากขายที่ดิน ผมซื้อมาด้วยราคาเก้าพันกว่าบาท  ผมก็เริ่มต้นใหม่ ไม่ทำเกษตรเชิงพาณิชย์แล้ว ปรับวิธีคิด ปลูกทุกอย่างที่กิน ภายใน 5ปี ผมปรับหน้าดิน จนดินดี ผมไม่ต้องซื้อพืชผักกินเลย ครอบครัวผมมีกินและเหลือกิน”

ระยะเวลากว่า 5 ปีครอบครัวของพ่อชูศักดิ์แค่พอมีพอกิน เขาใช้เวลารวมๆ  12 ปีเพื่อปลดหนี้สิน และระยะเวลานานขนาดนี้ หากเป็นเกษตรกรคนอื่นคงถอดใจแล้ว แต่ทำไมเขายังเดินหน้าทำการเกษตรแนวนี้ต่อไป

“จากที่ผมเคยซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง พันธุ์พืช ผมก็ไม่ซื้อ ผมเก็บเงินมาทำทุน ทุกอย่างในไร่ใช้ได้หมด กิ่งไม้ ยอดหญ้า มีประโยชน์หมด ลูกๆ สามคนก็ให้ออกจากโรงเรียน เพราะยิ่งเรียนยิ่งโง่ พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ขอเงินอย่างเดียว แม้กระทั่งทำกับข้าวก็ทำไม่เป็น ถ้าเป็นอย่างนี้จะเรียนไปทำไม” พ่อชูศักดิ์ เล่า แม้ช่วงแรกๆ ลูกๆ จะไม่อยากเป็นเกษตรกร แต่เมื่อได้ลงมือทำและเห็นผล พวกเขาก็เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ

หากจะถามว่า ทำไมพ่อชูศักดิ์จึงปลดหนี้ได้ นั่นเป็นเพราะเขามีความอดทน และมองการณ์ไกลในการทำการเกษตรเพื่อความยั่งยืน

“การเกษตรแบบนี้ไม่ต้องใช้คนเยอะ เราใช้คนในครอบครัวห้าคน ไม่ต้องเร่ง ค่อยๆ ทำ เรามีผลผลิตหลากหลายให้กินและขายทุกวัน ผมมองว่าแนวคิดแบบนี้ทำให้เกษตรกรไม่จน แต่ทำยากมาก เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ใจร้อนอยากรวยเร็ว วิธีนี้ผลผลิตช้า แต่มั่นคงและยั่งยืน”

3.)เมื่อพูดถึงความยั่งยืน พ่อชูศักดิ์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า วิถีการเกษตรผสมผสาน นอกจากปลดหนี้ได้ พวกเขายังสามารถซื้อที่ดินเพิ่มเติม เพื่อทำการเลี้ยงวัวและเลี้ยงไก่พื้นเมือง และสิ่งที่พวกเขาทำขั้นตอนไปคือ การแบ่งปัน เปิดให้เกษตรกรและผู้สนใจมาเรียนรู้โดยตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้บ้านแสงเทียน

แม้จะเป็นแหล่งการเรียนแบบบ้านๆ ที่มีปราชญ์ชาวบ้านสอน แต่มีคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ในประเทศและต่างประเทศแวะเวียนมาเรียนรู้  ทั้งเรื่องการทำปุ๋ย การทำนา เผาถ่าน การผลิตฮอร์โมนจากพืชสมุนไพร การเพาะเห็ด การเลี้ยงสัตว์และการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน

การใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและการประยุกต์องค์ความรู้ ทั้งเรื่องการเลี้ยงกบในกระชัง ซึ่งเลี้ยงได้ตลอดปี และการเลี้ยงสัตว์ปีกด้วยสารชีวภาพ รวมถึงการปลูกพืชนอกฤดูกาล น่าจะเป็นอีกแนวทางที่พวกเขาเลือกเพื่อเพิ่มรายได้

“เราปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งมีสามพันธุ์ ทุกกิจกรรมเกื้อกูลกันได้ น้ำส้มควันไม้ก็นำมาใช้ไล่แมลง ดับกลิ่นเหม็นเน่าได้ และลองปลูกพืชแบบใหม่ หนึ่งท่อซีเมนต์ใช้ปลูกพืชได้ 4-5 ประเภท ประหยัดพื้นที่และเวลา”

\ หนึ่งท่อซีเมนต์ที่ดวงรัตน์ ญานะ สมาชิกอีกคนในครอบครัวเล่า เป็นกระแบะดินซีเมนต์สี่เหลี่ยม ตรงกลางปลูกมะนาวนอกฤดูกาลสามารถขายได้ผลละ 7 บาท ส่วนรอบๆ ปลูกผักจีน ผักกาด ต้นหอม  รวมถึงบวบและฟักทอง โดยการปักหลักทำนั่งร้านให้เลื้อย

“การปลูกพืชแบบนี้ใช้ดินไม่มาก พื้นที่ในกรุงเทพฯบนดาดฟ้าก็ปลูกได้ ปลูกผักกาดได้ทั้งปี จริงๆ แล้วคนน่านพื้นที่เยอะไม่ต้องทำแบบนี้ก็ได้ แต่เราทดลองทำ”

การปลูกพืชนอกฤดูกาล พวกเขามองว่า เป็นการลดความเสี่ยงในเรื่องราคาพืชผล ดวงรัตน์ เล่าต่อว่า ช่วงไหนมะพร้าวขายไม่ได้ ก็มีชะอม หรือพืชอื่นๆ ให้ขายทุกวัน

“ผักหวานป่านอกฤดูกาลจะออกในเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ขายได้กิโลกรัมละ 250 บาท และไม่พอขาย  ขณะที่ผักหวานบ้านราคาไม่เท่าไหร่ เพราะเรามีกระบวนการผลิตพิเศษกว่าที่อื่น จึงมีผลผลิตนอกฤดูกาล “ ดวงรัตน์ ผู้ประสานงาน สมาชิกในครอบครัว เล่า โดยศูนย์ดังกล่าว มีพ่อชูศักดิ์เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และคนในครอบครัวต่างมีหน้าที่รับผิดชอบคนละอย่าง

พ่อชูศักดิ์ บอกอีกว่า เมื่อก่อนเวลาเพื่อนๆ แวะมาบ้าน จะหลบเพราะไม่ค่อยมีผลผลิตให้กิน แต่ตอนนี้มีผลผลิตในไร่เลี้ยงเพื่อนๆ อยู่เรื่อยๆ และที่นี่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรยั่งยืนกว่า 10 ปี มีเกษตรกรเข้ามาอบรมจำนวนมาก

“ตั้งแต่ปี 2550 ผมถูกคัดเลือกให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ผมคิดเอง ทำเอง ประยุกต์ความรู้จากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ถ้าทำเกษตรอินทรีย์ คิดแบบชาวบ้านอย่างเดียวคงไปไม่รอด ต้องประยุกต์ด้วย เมืองน่านมีการรวมตัวกันนำพืชผลอินทรีย์ไปขายที่ตลาดเกษตรอินทรีย์ เรามีรายได้ทุกวันและได้ดูแลทรัพยากรดิน ลูกหลานที่นี่ไม่มีวันอดตาย “ พ่อวิเชียร เล่า ขณะที่หลายคนกำลังอร่อยกับการกินลำไยปลอดสารพิษจากต้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 สิงหาคม 2555 โดย เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/society/20120802/464487/เกษตรเนิบช้า…ที่ภูเพียง.html

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post