เติมพลังผืนนาเกษตรอินทรีย์

ฤดูกาลนี้เรามักจะเห็นท้องนาภาคกลางมีต้นข้าวเป็นระลอกคลื่นสีเขียว

ต้นฤดูฝนทุ่งข้าวที่ราชบุรีจึงเขียวสดสุดลูกหูลูกตา

ทุ่งแสงตะวันตามเด็กๆ ลูกหลานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ อ.โพธาราม ไปเที่ยวท้องทุ่ง ดูวิธีการทำนาอินทรีย์ที่ได้ผลดีและปลอดภัย

จากตัวเลขการนำเข้าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในภาคการเกษตรเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ผลกระทบที่ตามมาย่อมสูงตามไปด้วย

ชาวนาหลายรายหรือผู้รับจ้างฉีดยาฆ่าแมลงกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาหนี้สิน การได้ผลผลิตลดน้อยลง อันเนื่องมาจากดินเสื่อมคุณภาพและอีกหลากหลายปัญหา ทำให้หลายคนกลัวผลกระทบจากสารเคมีหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อรักษาชีวิตตน

เป็นที่น่ายินดีที่ชาวนาบ้านเขาราบ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ในนาม กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติ อ.โพธาราม นำโดย คุณป้าสำเนียง ฮวดลิ้ม และชาวนาในท้องที่หันมาทำนาด้วยระบบนาอินทรีย์กันแล้ว

คุณป้าสำเนียง เล่าว่า ตนเองเริ่มทำนาอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2546 เพราะเจอปัญหาผลผลิตตกต่ำ ดินเสื่อมคุณภาพ และมีปัญหาสุขภาพ เมื่อทำนาอินทรีย์แล้วผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงกว่าเมื่อก่อนมาก สามารถนำข้าวอินทรีย์ส่วนหนึ่งมาใช้ในกิจการผลิตเส้นขนมจีนของครอบครัวได้อร่อย และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

หลังจากนั้นคุณป้าก็ชักชวนเพื่อนๆ เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ให้เข้าร่วมกลุ่ม ด้วยการตอบรับเป็นไปด้วยดี ชาวนาหลายครอบครัวปรับเปลี่ยนการทำนาหันกลับมาพึ่งพิงธรรมชาติอีกครั้ง

คืนพลัให้ผืนนา

การทำนาอินทรีย์หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น เตรียมพร้อมกับการทำนาคราวต่อไป ชาวนาจะไม่เผาตอซัง แต่เลือกที่จะให้คงอยู่เช่นนั้น เพื่อปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ

เมื่อปล่อยน้ำเข้านาตามร่อง น้ำพร้อมกับน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายเศษซากพื้นเป็นปุ๋ยชั้นดีให้แก่ดินในนาข้าว นอกจากจะเป็นปุ๋ยยังช่วยในเรื่องคุณภาพของดินทำให้ดินนุ่ม ต้นข้าวเติบโตได้ดีกว่านาเคมีที่มีดินแข็งและมีสารพิษตกค้างมากมาย

เมื่อต้นข้าวเติบโต จึงนำปุ๋ยหมักที่ทำเองมาหว่านบำรุงต้น และใช้น้ำส้มควันไม้ช่วยไล่แมลง แทบทุกกระบวนการล้วนเป็นมิตรทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม

ครั้งนี้ถึงเวลาต้องหว่านปุ๋ยในนา เด็กๆ อย่าง น้องเชอรี่ ด.ญ.อภิชญา ฮวดลิ้ม และ พี่ชาย ด.ช.กฤษมา ฮวดลิ้ม หรือน้องเช็ค หลานคุณป้าสำเนียงขอตามปู่กับย่าไปหว่านปุ๋ยที่ทุ่งนาด้วย

เด็กๆ บอกว่าทำนาโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์แบบนี้ พวกเขาสามารถมาช่วยงานในนาข้าวได้สนุก ไม่ต้องกลัวอันตรายจากสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในท้องนา

การหว่านปุ๋ยต้องเริ่มตั้งแต่เช้า แดดจะได้ไม่ร้อนจัด ปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นเองนี้ เชอรี่บอกว่าปุ๋ยนี้ไม่แพงเหมือนใช้ปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยอินทรีย์สามารถทำขึ้นใช้เองจากวัสดุที่หาได้ในบ้าน เช่น แกลบ และรำ ก็หาได้จากโรงสีข้าวของครอบครัว ส่วนมูลวัวก็มาจากคอกเลี้ยงวัวที่เลี้ยงไว้ในบ้านเหมือนกัน

“การทำนาอินทรีย์ต้นทุนน้อยค่ะ เพราะที่บ้านมีวัตถุดิบทุกอย่าง ทั้งรำ ขี้วัว ไม่ต้องซื้อ ถ้าใช้เคมีต้นทุนจะเยอะ สุขภาพคนทำนาก็จะแย่ค่ะ” น้องเชอรี่เล่าข้อดีของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้ฟัง

การหว่านปุ๋ยอินทรีย์ลงนาแบบนี้ ดีตรงที่ไม่มีสารพิษตกค้างในดิน เปรียบเทียบกับนาเคมีใกล้ๆ ต้นข้าวในนาอินทรีย์จะแข็งแรงกว่า ใบเขียวสด การแตกรากแตกกอดี สามารถต้านทานโรคและแมลงได้สูง

“ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เข้าไปนาจะงาม แต่จะให้ผลช้า แต่ผลผลิตอาจเทียบเท่าหรือมากกว่านาเคมี นาเคมีจะดีก็แต่ในช่วงแรกๆ หลังจากนั้นดินจะเสื่อมโทรม ดินจะแย่ลง แต่ถ้าเป็นนาอินทรีย์ดินจะนุ่ม ดินดีกว่า มีธาตุอาหารเยอะ ต้นข้าวจะแข็งแรง ปราศจากโรค และให้ผลผลิตดีกว่า เคมียิ่งใส่ยิ่งเป็นโรคครับ” น้องเช็คกล่าวเสริมอีกครั้ง

ติดตามชม การเติมพลังอินทรีย์ให้นาข้าว คืนชีวิตให้ผืนดินกับเด็กๆ และไปพิสูจน์พร้อมกันว่าปุ๋ยอินทรีย์ดีกว่าปุ๋ยเคมีอย่างไร ในทุ่งแสงตะวัน ตอน เติมพลังให้ผืนนา เช้าวันเสาร์ที่ 19 มิ.ย. เวลา 06.25 น. ช่อง 3 www.payai.com

ที่มา: ภัทรภร ยอดนครจง  … สดจากเยาวชน ข่าวสด 18-06-53

Relate Post