เพาะหอยชักตีนเปิบจนใกล้สูญ

ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทาง ทะเล ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ปล่อยลูกหอยชักตีนคืนสู่ธรรมชาติ สร้างความสมดุล หลังถูกจับเป็นอาหารนักท่องเที่ยวจนส่อจะสูญพันธุ์

วันที่ 3 พฤษภาคมนี้ เจ้าหน้าที่จากศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (ภูเก็ต) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ภูเก็ต ร่วมกับคณะทำงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตำบลป่าคลอก ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงฝั่งจังหวัดพังงา กรมประมง อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ร่วมกันปล่อยหอยชักตีน 12,000 ตัว ที่บริเวณชายหาดท่าหลา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อคืนความสมดุลให้ธรรมชาติ รวมทั้งเพื่อเพิ่มจำนวนหอยชักตีนให้แก่ทะเลฝั่งอันดามัน


ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าจำนวนหอยชักตีนในฝั่งทะเลอันดามันมีแนวโน้มลดลงอย่างน่า เป็นห่วง เนื่องจากได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ทำให้ชาวประมงจับหอยดังกล่าวไปจำหน่ายจำนวนมาก ส่งผลให้หอยชักตีนโตไม่ทัน หอยที่ถูกจับจึงมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ส่งผลให้สถานการณ์หอยชักตีนในฝั่งอันดามันอยู่ในขั้นวิกฤติ เชื่อว่าถ้าสถานการณ์การจับหอยที่มีขนาดเล็กต่อไปอาจจะส่งผลให้หอยชักตีนใน ฝั่งอันดามันสูญพันธุ์ได้


สำหรับลูกหอยชักตีนที่ปล่อยในครั้งนี้ คาดว่าอีก 4 เดือน หอยจะเจริญเติบโตประมาณ 30 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าการปล่อยหอยชักตีนขนาดดังกล่าวมีอัตราการรอด 95%


ปัจจุบันหอยชักตีนราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในจังหวัดชายทะเลตามร้านอาหาร.

ที่มา : ไทยโพสต์ 4 พฤษภาคม 2553

Relate Post