เรียนรู้การดำนา ศึกษาจากค่ายบำเพ็ญประโยชน์

กิจกรรมนอกสถานที่ นอกห้องเรียน นอกรั้วโรงเรียน ถือเป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆ ชอบ บางคนกล่าวว่าขอเพียงให้ได้กวาดขยะ ออกนอกเขต รั้วโรงเรียนก็เป็นความสุขแล้ว และมีหลากหลายประสบการณ์ของวัยเด็กของท่านที่จดจำได้ถึงความสุข ที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในห้องเรียน  รั้วโรงเรียน และกิจกรรมวันนี้ของเด็กนักเรียนในชมรมบำเพ็ญประโยชน์ โรงเรียนผดุงนารี อ.เมือง จ.มหาสารคาม ก็เช่นกัน การเรียนรู้ใน“ค่ายบำเพ็ญประโยชน์ผดุงนารีสู่ชุมชน” เป็นกิจกรรมเพื่อปลูกฝังให้กลุ่มนักเรียนชั้นม.6 ได้ร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ จัดขึ้นโดยความตั้งใจของอาจารย์สุจินตนา ประคำทอง และคณะ กิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นที่บ้านสวนกุดร่อง ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ dam.jpg

โดยกิจกรรมครั้งนี้ถือได้ว่าเกิดจากความตั้งใจของอาจารย์ที่ได้สัมผัสบรรยากาศของความสุข ความสงบ เรียบง่ายในวิถีเกษตรกรรม อยากให้ศิษย์ได้มาสัมผัสบรรยากาศของท้องทุ่งนา และมีกิจกรรมการเรียนรู้นอกสถานที่ ซึ่ง เป็นที่มาของค่ายอาจารย์ได้บอกกับทีมว่า การทำกิจกรรมต้องอยู่บนเงื่อนไขของโรงเรียน กิจกรรมที่ทำมามีไม่หลากหลาย หากจะมีกิจกรรมนอกสถานที่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของโรงเรียน

และกิจกรรมครั้งนี้มีพื้นฐานจากความสนใจของครูเป็นสำคัญ ครูจากความตั้งใจของอาจารย์ นำมาสู่การวางแผนการจัดการเรียนรู้ให้กับกลุ่มน้อง ๆ วัยสดใส เป็นผู้หญิงล้วน เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนผดุงนารี จำนวนกว่า 150 คน มีช่วงเวลาอันจำกัด คือระหว่าง 09.00-14.30 น. เท่านั้น สิ่งที่ทีมกระบวนการอยากเห็นคือ การที่ให้เด็ก และครู ประทับใจในการทำกิจกรรมร่วมกัน คาดหวังว่าจะเป็นบ่อเกิดสำคัญของการทำกิจกรรมต่อเนื่องในโรงเรียน หรือมีความใฝ่ฝันอยากทำกิจกรรมต่อไปกระบวนการจึงถูกจัดขึ้นโดย การมีส่วนร่วมของทีมพี่เลี้ยง ซึ่งทีมพี่เลี้ยงทำงานอยู่ที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน และพี่ ๆ กว่า 10 คนที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ peace2.jpg

กิจกรรม “ดำนา” ถูกนำเสนอขึ้นมาท่ามกลางความพร้อมของสถานที่และความยินดีของเจ้าของนาที่ยินดีเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนในการเรียนรู้การทำนา และมีมุมมองว่าการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในทัศนะของสังคมแคบลงเพียงแค่การเก็บขยะ การกวาดลานวัด การแจกสิ่งของ และกิจกรรมที่สังคมนำพาไปสู่การให้ ที่เป็นการบริจาค แต่การดำนา เป็นการสร้างการเรียนรู้ที่นำมาสู่การพูดคุย และให้ทัศนะจากผู้ผ่านประสบการณ์การทำงาน ของเจ้าของนาที่ผ่านการทำงานกับเกษตรกรมายาวนาน

กิจกรรมดำนา มอบให้เป็นพิเศษ เฉพาะอาสาสมัครกลุ่มละ 5 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นกองเชียร์ อยู่บนคันนา คอยให้กำลังใจ  แม้มีบ้างที่หลบแดดไปอยู่ตรงพุ่มไม้ แต่น้อยมาก เท่าที่ปรากฏด้วยภาพเป็นเด็กให้ความสนใจ เอาใจลุ้นช่วยเพื่อน อาสาสมัครกลุ่มต้องแข่งขันกัน ในพื้นที่อันจำกัดกลุ่มไหนจะดำนาได้สำเร็จก่อนกัน  เมื่อการแข่งขันเริ่มต้นขึ้น ผลปรากฏว่าอาสาสมัครแต่ละคนดำนาไม่เป็น ไม่เคยดำนาเลย มีเพียงไม่กี่คนที่เคยดำนา จึงได้ช่วยอธิบายให้เพื่อนฟังว่าจะต้องปักดำอย่างไร  การสอนจากเพื่อนถึงเพื่อดูประสบความสำเร็จดี และมีพี่ป๋องขวัญใจน้องๆ คอยช่วยแนะนำเพิ่มเติม

สิ่งที่เห็นไม่ใช่เพียงแค่การแข่งขัน สนุกสนาน แต่เด็กมีความใฝ่รู้ อยากทำ อยากดำนาเป็นและมีความตั้งใจเป็นอย่าง บรรยากาศการดำนาเป็นไปด้วยความคึกคัก ทั้งที่ดำนาไม่เป็นและเป็นครั้งแรกที่ได้ดำนา บรรยากาศการเรียนรู้ดีเกินความคาดหมายทุกคนที่เป็นอาสาสมัคร

ล้วนคึกคัก กระตือรือร้น เอาจริงเอาจังกับการดำนาให้ได้ตามเงื่อนไขร่วม คือ ถูกต้อง เป็นระเบียบ รวดเร็ว ซึ่งการตรวจสอบก็ไม่ได้เคร่งครัดมากมาย ให้เป็นกระบวนการที่สนุก เกิดการเรียนรู้ และที่สำคัญคือการสร้างทัศนะที่ดี ให้กับเด็ก ๆ เหล่านี้

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ dam2.jpg

หลังการดำนา และกินข้าวเที่ยงเรียบร้อย “พ่อต้อย” สุเมธ  ปานจำลอง เจ้าของสวนกุดร่อง และเจ้าของนาพื้นที่ การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในวันนี้ ได้ กล่าวทักทาย และเล่าถึงความตั้งใจของการทำกิจกรรมที่อยากให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ มีประสบการณ์ร่วมกัน และสนใจในอาชีพของพ่อแม่ เมื่อกล่าว ทักทายเด็ก ๆ เรียบร้อย มีคำถามว่า “ไหน ? ใครเป็นลูกชาวนาบ้าง ” กว่าครึ่งของกลุ่ม เป็นลูกชาวนา และถามต่อว่า “ใครดำนาเป็นบ้าง” ปรากฏว่าคนที่ยกมือมีจำนวนน้อยมาก  ประเมินด้วยสายตาไม่ถึง 10 คน และแต่ละคนยกมือด้วยอาการที่ไม่มั่นใจ คง ตอบได้โดยง่ายว่าเด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้ถูกสอนมาให้ทำนาเป็น ไม่ได้การหล่อหลอมว่าอาชีพชาวนาเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ … แล้วเขาได้รับการสอนอะไรล่ะ ?

จากการสอบถามความรู้สึกต่อการทำกิจกรรมครั้งนี้ด้วยการเขียนผ่านบัตรคำ ทำให้เห็นว่าเด็กสนุก รู้สึกดี เป็นครั้งแรกที่ได้ดำนา ตื่นเต้นกับการทำกิจกรรมรูปแบบใหม่รู้สึกขอบคุณที่ทำให้เขามีโอกาสในการทำกิจกรมเช่นนี้ เป็นความรู้สึกที่หลากหลาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความรู้สึกที่ดี โดยสรุปกิจกรรมการดำนาเป็นความรู้ ประสบการณ์ใหม่และเป็นที่พึงพอใจที่ได้เรียนรู้ท่ามกลางความสนุก ของเด็กหลายคน ส่วนเจ้าของนา สุเมธ ปานจำลอง มีความเห็นต่อการสร้างการเรียนรู้แบบนี้ว่า” เด็กๆ อยู่กับครอบครัว เรียนรู้จากครอบครัว สิ่งที่ต้องทำคือให้เขารู้ว่ากำพืดของครอบครัว เป็นอย่างไร การสร้างกิจกรรมเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เขากลับไปดูครอบครัวการ สร้างความประทับใจระหว่างการทำกิจกรรมเป็นเพียงการจุดประกายความคิด ความฝัน  หากวันนี้เด็ก ๆ ประทับใจในวิถีชาวนาและการใช้ชีวิตในวิถีเกษตรกรรม เมื่อวันที่เขาเติบโตและมีทางเลือกเขาอาจจะกลับมาทบทวนสิ่งที่ประทับใจและกลับมาใช้ชีวิตอยู่บนฐานของครอบครัว ”

การจัดกระบวนการเรียนรู้สำคัญอยู่ที่ครูผู้จัดกระบวนการและการจัดปัจจัยแวดล้อมให้น่าเรียน จัดบรรยากาศให้เหมาะสมกับวัยและยุคสมัย เป็นสิ่งที่คนจัดกระบวนสัมผัสได้จากกิจกรรมในวันนี้และที่สำคัญคือความกล้าหาญของครู ที่มอบโอกาสแก่เด็ก นำพานักเรียนออกมาเรียนรู้ท่ามกลางบรรยากาศและสัมผัสได้ด้วยตัวเด็กเอง

จากประสบการณ์ที่ได้สอบถามชาวนาหลายท่านว่าเมื่อสมัยก่อน  การสอนลูกหลานใช้วิธีการอย่างไร คำตอบที่ตรงกันโดยส่วนใหญ่คือ “พาเฮ็ด” แล้วลูกหลานชาวนาสมัยนี้ได้รับการสอนเช่นสมัยนั้นหรือไม่ หรือความหวังทั้งหมดมอบไว้ให้กับครูระบบการศึกษา แท้ที่จริงแล้วการสืบทอดความเป็นชาวนา คุณค่าชาวนาอยู่ที่กระบวนการสร้าง หรือการเปลี่ยนไปของยุคสมัย โดยส่วนตัวเชื่ออย่างแน่นอนว่าอยู่ที่”การสร้าง” การสอน การเป็นแบบ สำคัญอยู่ที่คนในครอบครัว ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญในการบ่มเพาะลูกหลานของตนเอง ตราบเท่าที่ชาวนายังภูมิใจ ในความเป็นชนชั้นที่หล่อเลี้ยงผู้คนไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย  แต่เป็นคนทุกชนชั้นของสังคมฉะนั้นการเคารพ การภูมิใจในความเป็นชาวนา จะสร้างพลังใจและทำให้คุณค่าของชาวนาดำรงอยู่สืบไป และชาวนารุ่นสุดท้ายจะไม่มาถึงในเร็ววัน

ที่มา : http://aanesan.wordpress.com/2010/01/21/เรียนรู้การดำนา-ศึกษาจาก/

 

Relate Post