ไก่เบตงแนวโน้มอาจสูญ

หวั่นไก่เบตงของดีเมืองยะลาสูญพันธุ์ เหตุเพราะผู้เลี้ยงต่างอพยพเข้าไปอยู่ในเมือง เปลี่ยนอาชีพไปค้าขาย ขณะที่การเลี้ยงตามธรรมชาติก็ขยายพันธุ์ได้ยาก วอนรัฐเร่งช่วยเหลือโดยการหาตลาดและช่วยอุดหนุนอาหารไก่

นายสิทธิ์ ธาลีลาภรักษา อายุ 56 ปี ผู้ดูแลฟาร์มเพาะลูกไก่เบตง อยู่ที่บ้านเลขที่ 94 /1 หมู่ 7 ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณของไก่เบตงลดลงอย่างมาก เนื่องจากชุมชนเมืองส่วนมากเลี้ยงไก่เบตงน้อยลง มีแต่ชุมชนในชนบทที่ยังคงเลี้ยงไก่เบตงอยู่ โดยบางรายได้รับแจกจากส่วนราชการต่างๆ สาเหตุที่ชาวอำเภอเบตงเลี้ยงไก่เบตงน้อยลง เพราะเปลี่ยนอาชีพไปทำธุรกิจค้าขาย อำเภอเบตงจึงเสี่ยงที่จะสูญเสียพันธุ์ไก่เบตง ทั้งนี้ ภาวะเสี่ยงที่ชาวเบตงจะสูญเสียพันธุ์ไก่เบตงมีหลายประการ นอกจากมีคนเลี้ยงน้อยแล้ว ยังมีปัญหาการขยายพันธุ์ไก่เบตง เพราะการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติขยายพันธุ์ได้ยากมาก ขณะที่วิธีการฟักไข่ด้วยตู้ฟักมีโอกาสขยายพันธุ์ได้มากกว่า

นายสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับฟาร์มเพาะลูกไก่เบตง อยู่ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไก่เบตงครบวงจร ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จังหวัดยะลา และเทศบาลเมืองเบตง เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ไก่เบตง ปัจจุบันฟาร์มเพาะลูกไก่เบตงต้นแบบ มีพ่อพันธุ์ประมาณ 60 ตัว และแม่พันธุ์ประมาณ 260 ตัว แต่ละสัปดาห์จะได้ไข่ไก่ประมาณ 100 ฟอง แต่ละเดือนส่งขายลูกไก่ประมาณ 400-500 ตัว ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นส่วนราชการต่างๆ และลูกค้าทั่วไป นอกจากนี้ยังส่งออกไปยังต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

“ปัญหาคือรัฐไม่ค่อยจะส่งเสริมการเลี้ยงไก่ ทางที่ดีทางรัฐควรหาตลาดส่งขายลูกไก่ให้กว้างขวางมากกว่าปัจจุบัน ช่วยหาอาหารไก่ที่มีต้นทุนต่ำ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ถูกลง ขณะนี้ฟาร์มที่ผมดูแลอยู่ มีเงินทุนหมุนเวียนน้อยมาก ทำให้ขาดโอกาสซื้ออาหารไก่ในราคาถูกกว่าท้องตลาดเบตง” นายสิทธิ์กล่าว

ไก่เบตงเดิมเรียกว่า ไก่กวางไส เป็นไก่พื้นเมืองที่คนจีนอพยพจากมณฑลกวางไส สาธารณรัฐประชาชนจีน นำเข้ามาที่อำเภอเบตง เมื่อ 80 ปีที่แล้ว ขณะนี้พันธุ์เหลียงซาง และไก่พันธุ์คอล่อน หมดไปจากอำเภอเบตง ในช่วงคนจีนย้ายถิ่นออกจากหมู่บ้านไปอยู่ในเมือง ต้องเปลี่ยนอาชีพจากการเลี้ยงไก่ หรือทำสวนยางพาราไปค้าขาย ปัจจุบันพันธุ์ไก่เบตงที่เหลืออยู่ 2 สีคือ สีแดง กับสีเหลืองทอง มีจุดเด่นตรงหางสั้น หรือไม่มีหาง ไม่มีขนปีก หงอนเป็นกงจักร ขาสีเหลือง ปากเหลือง เนื้อนุ่ม ตัวผู้มีนิสัยดุ

ไก่เบตงเลี้ยงง่าย สามารถเลี้ยงตามธรรมชาติได้ การเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติจะให้เนื้อที่มีรสชาติดีกว่าเลี้ยงแบบขังคอกให้อาหารสำเร็จรูป ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 6-7 เดือน ก็สามารถขายได้มีราคาสูงถึง 200-250 บาทต่อกิโลกรัม ตัวผู้อายุประมาณ 5 เดือน จะมีน้ำหนักประมาณ 2-2.5 กิโลกรัม ตัวเมียอายุประมาณ 5 เดือน มีน้ำหนัก 1.5-1.7 กิโลกรัม

ที่มา: ไทยโพสต์ วันที่ 13 กรกฎาคม 2555 http://www.thaipost.net/x-cite/130712/59543

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post