ไฟป่าและหมอกควัน..เมื่อไรจะเข้าใจกันสักที

หมอกจางๆ หรือควัน (พิษ)

หากเรายังจำกันได้เมื่อช่วงปี 2549 – 2550  เมืองเชียงใหม่ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันสีขาวมัวไปทั่วทั้งเมือง  ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจจะไม่ใช่ครั้งแรกของเมืองเชียงใหม่  เคยอ่านเจอมีคนเขียนเล่าไว้ว่าคนเฒ่าคนแก่บอกว่า “เมื่อใดที่กลางวันมีแดดส่องแต่กลับมองไม่เห็นดอยสุเทพ แสดงว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีกับเมืองเชียงใหม่ตามมา”  เรื่องไม่ดีที่ตามมาติดๆ ในช่วงนั้นก็คือสภาพอากาศมีคุณภาพต่ำลงมาก  คนในเมืองเริ่มป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้น จนรัฐบาลประกาศให้พื้นที่ภาคเหนือเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยเฉพาะ 2 จังหวัดที่ถือว่าประสบภาวะมลพิษอย่างรุนแรงคือ จ.แม่ฮ่องสอนและ จ.เชียงใหม่

ลักษณะภูมิประเทศของเมืองเชียงใหม่นั้นเป็นแอ่งกระทะ  เมื่อเกิดการสะสมของมลพิษ ประจวบกับความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นค่อนข้าง แรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุม อุณหภูมิและความชื้นทำให้เกิดหมอกในตอน เช้า เมื่อหยดน้ำในอากาศรวมตัวกับฝุ่นละอองและสารมลพิษในอากาศ จึงเกิด smog (smoke + fog) ขึ้น ทําให้เกิดสภาพฟ้าหลัวเหมือนมีหมอกควันปกคลุมไปทั้งเมือง

หมอกควันและไฟป่า ใครกันคือต้นตอของปัญหา

หมอกควันที่เกิดขึ้นในตัวเมืองกับไฟป่าที่เกิดขึ้นบนดอยถูกเชื่อมโยงกัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ต้นฤดูแล้งของทุกปี หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าจะออกมารณรงค์และมักพุ่งเป้าไปที่ชุมชนที่ อยู่ใกล้ชิดกับป่าว่าเป็นผู้เผาป่าและเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาหมอกควันที่ เกิดขึ้น  เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีโอกาสไปร่วมงานรณรงค์การแก้ไขปัญหาหมอกควันที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ หลายๆ ฝ่ายในจังหวัด  ได้เข้าไปอ่านนิทรรศการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าเขียนถึง สาเหตุของไฟป่าว่าเกิดจากการเผาป่าเพื่อหาอาหารหรือเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ของชาวบ้าน ฯลฯ  มีอยู่ข้อหนึ่งที่สะกิดใจ (ฮามากกว่า) คือ การเผาป่าของชาวบ้านเพื่อแก้แค้นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ (อุตส่าห์มีคนเดินมากระซิบข้างหลังอีกว่า เฮ้ยเรื่องจริง!)

teepanpob_save005

นี่อาจจะเป็นความจริงที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเป็นเพียงทัศนคติเท่านั้นเพราะถ้า หากไปถามคนบนดอย เขาก็จะบอกว่า “เราไม่เผาบ้านตัวเองหรอก”  เพราะอย่าลืมว่าหากเกิดไฟป่าขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและรวดเร็วที่สุดน่าจะเป็นชุมชนที่พึ่งพาใกล้ชิด กับป่าอย่างพวกเขานั่นเอง  บางที ถ้าสนิทกันพอ พวกเขาอาจจะถามต่อด้วยซ้ำว่าเจ้าหน้าที่เผาป่าเองเพื่อเอางบประมาณเยอะๆ หรือเปล่า  หรือไม่ ก็อาจชี้ให้เห็นต้นตอสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาเรื่องหมอกควันที่คนไม่ค่อยพูด กันแต่ไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นคือคนในเมืองนั่นแหละที่สร้างเมืองมลพิษขึ้นมาจากการเผาขยะ เผาใบไม้แห้ง  แล้วไหนจะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้รถยนต์และไฟฟ้าในกิจการอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว การขนส่งวัสดุก่อสร้าง การถมดินของโครงการก่อสร้างต่างๆ อีกล่ะ…

teepanpob_save002_copy_copy

การโทษกันไปมาอย่างนี้มีมานานจนกลายเป็นวัฒนธรรม “ฉันไม่เคยผิด”  ถึงแม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีความพยายามที่จะร่วมมือกันจัดการกับปัญหาจากหลายฝ่ายทั้งจาก ภาคประชาชนและหน่วยงานราชการและเอกชน ทั้งจากคนในเมืองและคนบนดอย  ถึงแม้จะมีการออกมาเดินขบวนรณรงค์สวยงามกลางเมืองของเจ้าหน้าที่หน่วย งานราชการ ชาวบ้านบนดอย หรือเด็กนักเรียนตัวน้อยๆ  แต่หากไม่มีการแก้ไขปัญหาโดยที่ทุกฝ่ายปรับทัศนคติและมองเห็นศักยภาพในการ แก้ไขปัญหาด้วยตัวเองและเลิกโทษคนอื่น  ความร่วมมือที่อยากเห็นก็คงเป็นไปได้ยาก

ไม่เช่นนั้น เวลามองภาพความร่วมมือแบบนี้ ก็อาจจะมีอะไรให้ตงิดๆ ถึงความจริงใจหรือความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ อย่างเช่น ในวันเดินขบวนวันนั้น เราเห็นชาวบ้านบนดอยถือป้าย “เราจะไม่เผาป่า” หรือ “เราจะไม่เผาไร่” (ใครเป็นคนเขียนป้ายก็ไม่รู้ เขาให้ถือก็ถือ)  พอเห็นแล้วก็อยากจะเดินเข้าไปถามจริงๆ ว่าจะไม่เผาไร่ได้จริงๆ เหรอ  แล้วจะเอาข้าวที่ไหนกินกันล่ะ ในเมื่อบนดอย การปลูกข้าวไร่นั้นต้องเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทุกปีไม่ใช่เหรอ

มาทำความเข้าใจเรื่อง “ไฟป่า” กันสักหน่อยดีกว่า

teepanpob_save000

กระบวนการรณรงค์ต่อต้านไฟป่าที่เผยแพร่กันทั่วไปทั้งในตำราเรียนและสื่อมวล ชนนั้น ทำให้คนส่วนใหญ่มองเห็นแต่แง่มุมความเลวร้าย รวมทั้งโทษและพิษภัยที่เกิดจากไฟ จนเกิดมายาคติว่าเราจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าและจะต้องไม่ให้มีการเผา ป่าโดยเด็ดขาด  แต่จากประสบการณ์การจัดการไฟป่า ชุมชนหลายแห่งได้บทเรียนว่าสำหรับป่าบางประเภทแล้ว การควบคุมไม่ให้เกิดไฟป่าเลยเป็นเวลานานอาจเป็นอันตรายเสียยิ่งกว่า  ป่าผลัดใบเป็นป่าที่ติดไฟได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้งที่ต้นไม้ส่วนใหญ่จะผลัดใบทิ้ง ประกอบกับหญ้า วัชพืชและพรรณไม้ล้มลุกอื่นๆ จะแห้งตายและเกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติได้ช้ากว่าป่าที่ชุ่มชื้น กลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีสะสมอยู่บนพื้นป่าในปริมาณมหาศาล  การควบคุมไม่ให้เกิดไฟป่าหลายปีติดต่อกันจะทำให้มีใบไม้แห้งสะสมอยู่บนพื้น ป่าในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ  หากบังเอิญเกิดไฟป่าขึ้นในปีใดปีหนึ่งหลังจากนั้น ก็จะกลายเป็นไฟป่าที่มีความรุนแรงมากจนยากจะจัดการ

จากประสบการณ์ของเครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือตอนบน พบว่าทิศทางการจัดการไฟป่าแบบผสมผสานได้เกิดขึ้นในหลายชุมชน และสามารถก้าวพ้นความคิดเชิงเดี่ยวที่ต้องการจัดการป้องกันไม่ให้เกิดไฟ เพียงอย่างเดียว  ชุมชนเหล่านี้จะมีการใช้ไฟเข้ามาช่วยในการจัดการไฟและจัดการป่าในรูปแบบที่ มีความหลากหลายและมีคุณค่าที่สังคมไม่น่ามองข้ามไป  ชาวบ้านเรียกวิธีการจัดการกับป่าและไฟป่าเช่นนี้ว่าการ “ชิงเผา” ส่วนแวดวงวิชาการใช้คำว่า “การเผาโดยกำหนด (Prescribed Burning)”

ชาวบ้านที่ตำบลแม่ทา จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งที่ทดลองชิงเผายืนยันเรื่องนี้ไว้ว่า “การชิงเผาได้ผลดีเพราะช่วยกำจัดเศษใบไม้  ไฟก็ไม่ได้ลุกลามใหญ่โต  ถ้าเผาเดือนมกราคม  พอเดือนกุมภาพันธ์ ไม้ก็จะแตกใหม่  ทั้งไม้ใหญ่และไม้เล็กก็ไม่ค่อยตาย  เมื่อเทียบกับการทำแนวกันไฟที่ป้องกันไม่ให้มีไฟไหม้เลยในช่วง 2 ปี  ถ้าเกิดไฟขึ้นหลังจากนั้น

ไม้ใหญ่จะตาย  มีหมู่บ้านที่ชิงเผา 2-3 หมู่บ้าน  ปรากฏว่าในฤดูฝนปีนี้ ป่าทึบขึ้น  ตามลำห้วยมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ขึ้น  ทั้งนี้เป็นเพราะเราได้ช่วยกันรักษาป่ากันมาด้วย”

นอกจากนั้น ยังเล่าอีกว่าการเผาต้องเผาอย่างระมัดระวังและใช้ความรู้ความเข้าใจในระบบ นิเวศน์ป่าของตัวเองด้วย โดยวิธีการชิงเผานั้น ชาวบ้านจะเลือกจุดไฟให้ไหม้จากสันดอยลงมาถึงลำห้วย ทำให้ไฟลุกลามได้ช้าและไม่ไหม้กินพื้นที่กว้าง และจะเผาในช่วงเวลาบ่ายถึงเย็น  ไฟจะลุกไหม้ได้เพียง 3-4 ชั่วโมงก็ค่ำ  เมื่อน้ำค้างตก อากาศชื้น ไฟก็จะดับไปเอง

teepanpob_save003

แม้ในเรื่องการเผาไร่ ชาวบ้านก็เรียนรู้ที่จะจัดการกับไฟไม่ให้เกิดอันตรายในวงกว้าง  ในเวทีสัมมนาสรุปบทเรียนและเสนอแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับชุมชนถึงระดับจังหวัดเชียงใหม่ที่จัดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ในช่วงปลายปีที่

ผ่านมา กำนันศักดา บุญมาปะ ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะแม่แตะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงการเผาไร่ของชุมชนบนพื้นที่สูงที่มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ว่า “กรณีการเผาไร่ทำไร่หมุนเวียนของชนเผ่า ไม่ได้เผาในช่วงที่อากาศหนาวมากหรือมีความกดอากาศต่ำ เพราะใบไม้ยังมีความชื้นอยู่  แต่จะเผาในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งใบไม้ใบหญ้าแห้งดีแล้วและเป็นช่วงที่เริ่มจะมีฝนตกแล้ว  นอกจากนี้ ในการเผาไร่ ก็จะมีการป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามเข้าไปในป่าด้วย”

ในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกามีการใช้ประโยชน์จากการเผาโดยกำหนดอย่างกว้างขวางเช่นกัน  การสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 1993 พบว่ามีการเผาโดยกำหนดในพื้นที่กว่า 5 ล้านเอเคอร์ต่อปี โดย 70% ของการเผาโดยกำหนดนั้นดำเนินการในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิง จัดการด้านวนวัฒน์ ปรับปรุงแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า จัดการทุ่งหญ้าและชนิดพันธุ์ไม้ ควบคุมโรคและแมลง ไปจนถึงเพื่อการศึกษาวิจัย

ในประเทศจีนก็ได้มีการทดลองเผาโดยกำหนดในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 (พ.ศ. 2523-2532) ซึ่งพบว่าการเผาโดยกำหนดนอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าที่มีความ รุนแรงสูงแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของไม้ป่าอีกด้วย  ในออสเตรเลียก็มีพื้นที่ป่าที่วิวัฒนาการมาพร้อมกับไฟจนกลายเป็นระบบ นิเวศน์ที่ปรับตัวให้เข้ากับการเกิดไฟได้อย่างดีที่สุด  ในหลายๆ พื้นที่ของออสเตรเลีย ไฟป่าที่มีความรุนแรงไม่มากนักจะเกิดขึ้นเป็นประจำและมีความสำคัญในการรักษา สมดุลของระบบนิเวศน์และลดการสะสมของเชื้อเพลิงที่ไวไฟ  จนกลายเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางแล้วว่าการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าเป็น เวลานานกลับจะทำให้มีการสะสมของเชื้อเพลิงและเกิดไฟป่าที่รุนแรงและอันตราย จนไม่สามารถควบคุมได้  ระบบนิเวศน์เหล่านี้จึงจำเป็นต้องถูกไฟไหม้บ้าง ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือโดยการเผาโดยกำหนด

การจัดการป่าที่ไม่ถูกกับไฟ

แต่ไม่ใช่ป่าทุกประเภทที่ไฟจะมีบทบาทในทางบวกเสมอไป  ชาวบ้านเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่สืบทอดมาแต่อดีตว่าป่าไม่ผลัดใบ เช่น ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา (ซึ่งมักถูกกันเขตไว้เป็นป่าอนุรักษ์หรือป่าต้นน้ำลำธารของชุมชน) นั้น เป็นระบบนิเวศน์ที่ไม่คุ้นเคยกับไฟ  มีซากพืชซากสัตว์ทับถมในปริมาณมาก  หากเกิดไฟป่าขึ้น จะมีความรุนแรงมาก และอาจลุกลามไปเป็นไฟเรือนยอด (Crown Fire) ซึ่งจะรุนแรง ดับยาก กินเนื้อที่กว้างขวางและสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศน์อย่างมาก  ดังนั้น สำหรับพื้นที่เหล่านี้ ชาวบ้านจะเห็นพ้องกันว่าต้องควบคุมป้องกันไฟอย่างเด็ดขาด

teepanpob_save001

กรณีตัวอย่างชุมชนในเขตลุ่มน้ำแม่ยะ แม่ปอน ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

ดอยอินทนนท์  ส่วนใหญ่สภาพป่าจะเป็นป่าดิบเขา  ชาวบ้านจะเน้นการป้องกันไฟป่าอย่างเข้มงวด และเรียนรู้ที่จะดับไฟด้วยวิธีที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดไฟว่าเป็นที่ใด  ถ้าเกิดไฟป่าบริเวณขุนน้ำ ผู้นำชุมชนกับชาวบ้านจะเข้าไปช่วยกันดับไฟ ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องทำแนวกันไฟซ้อนอีกที  ทั้งนี้ หากเกิดไฟในวงกว้างและรุนแรงเช่นในพื้นที่ดงต้นกก เฟิร์น หญ้าคาและหญ้าคอมมิวนิสต์ ชาวบ้านจะสังเกตดูทิศทางลมก่อน และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนเข้าไปดับไฟเป็นสำคัญด้วย

แต่ถ้าเกิดไฟป่าในป่าไผ่ หากลมไม่แรง ไฟไม่โหมมาก ก็จะเข้าไปดับ โดยใช้ถังน้ำหรือวัสดุอุปกรณ์ที่มีในพื้นที่ โดยนิยมใช้วิธีเขี่ยแยกเศษวัสดุเชื้อเพลิงที่ยังไม่ไหม้ออกจากกัน

ไม่นิยมใช้วิธีการตบเพราะจะทำให้เศษไฟหรือสะเก็ดไฟปลิวไปติดที่อื่นได้  ส่วนกรณีที่มีลมแรง ไฟแรง ชาวบ้านจะใช้วิธีทำแนวกันไฟอีกชั้น โดยประมาณระยะของไฟที่กำลังลุกลามว่าจะมาทิศทางใดและปลอดภัยหรือไม่  บางครั้งเมื่อทำแนวกันไฟเสร็จ จะทำการเผาชน เพื่อประหยัดเวลาและลดความเสี่ยง  แต่ถ้าไฟเกิดในป่าสนซึ่งเป็น

ป่าปลูก การดับไฟจะค่อนข้างยาก ชาวบ้านจะใช้วิธีทำแนวกันไฟอีกชั้นมากกว่าการเข้าไปดับโดยตรง

นอกจากการจัดการไฟป่าโดยการชิงเผา และการป้องกันไม่ให้เกิดไฟโดยการทำแนวกันไฟ หรือการลาดตระเวนตรวจตราป่าในช่วงหน้าแล้งแล้ว การสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับลำห้วยและผืนป่าโดยรอบก็ เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาความรุนแรงของไฟป่าและความแห้งแล้งได้  รวมทั้งการปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้าไปหากินในป่าก็เป็นวิธีการป้องกันไฟป่าแบบ หนึ่ง เพราะสัตว์จะแทะเล็มหญ้าที่พื้นผิวดิน เท่ากับเป็นการช่วยกำจัดวัชพืชซึ่งอาจเป็นเชื้อเพลิงของไฟป่าในฤดูแล้ง  อีกทั้งการเหยียบย่ำของสัตว์เลี้ยงทำให้ใบไม้แห้งกระจัดกระจาย ความรุนแรงและความถี่ของไฟจึงลดลง ไม่เป็นอันตรายมาก  นอกจากนั้น เมื่อหญ้าลดลง พืชใบกว้างจะมีโอกาสเข้ามาทดแทน  โอกาสที่เมล็ดไม้จะงอกและเติบโตก็มีมาก ช่วยให้ป่าฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ความร่วมมือที่ต้องร่วมกัน “ลงมือ”

teepanpob_save006

ปัญหาหมอกควันและไฟป่า รวมทั้งปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขด้วยความจริงใจของแต่ ละฝ่าย ทั้งคนในเมืองและคนบนดอย ทั้งข้าราชการและประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ร่วมกัน  ไม่ใช่การโยนความผิดไปที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ฝุ่นควันและมลพิษจะหมดไปได้อย่างไรหากแนวทางการพัฒนาเมืองยังผ่านการคิดไม่ มากพอ ทั้งการก่อสร้างตึกสูง โครงการขยายถนน รวมทั้งระบบขนส่งมวลชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้รถออกมาวิ่งกันเต็มถนน หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการสร้างเมืองเพื่อรอการมาของนักท่องเที่ยวเพียง อย่างเดียว  เหล่านี้ล้วนรอความเข้าใจและการแก้ไขอย่างครอบคลุมทั้งระบบ  การแก้ไขปัญหาฝุ่นและหมอกควันโดยการเอารถน้ำไปล้างถนนและหลีกเลี่ยงที่จะ พูดถึงเรื่องที่ใหญ่กว่านี้อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่จุ๋มจิ๋มเกินไป

กำนันศักดา บุญมาปะ ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะแม่แตะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่เคยกล่าวไว้ว่า “การช่วยกันแก้ไขปัญหาหมอกควันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้เพราะแต่ละฝ่ายก็ ย่อมมีส่วนในการทำให้เกิดปัญหาหมอกควันได้

ต้องร่วมมือกันลดสาเหตุที่ ก่อให้เกิดปัญหา เช่น คนบนดอยก็มีการจัดการป้องกันไฟป่า การเผาไร่ก็ควรจะเผาในช่วงเข้าใกล้ฤดูฝน  ส่วนคนพื้นราบก็ต้องลดการเผาไหม้ในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้เกิดหมอกควันด้วย”

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง  อย่างน้อย เราหวังว่าจะได้เห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รวมทั้งสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทีวีและวิทยุ ออกมาพูดอะไรในแง่มุมใหม่ๆ บ้าง  ไม่ใช่เพียง “ชาวเขาเผาป่า” หรือ “ชาวบ้านเผาขยะ” เพราะตราบใดที่เรายังหลงอยู่กับมายาคติพวกนี้ เราก็ไม่มีทางที่จะมองเห็นความจริงที่จริงกว่านั้น  คงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ “ที่กลางวันมีแดดส่อง  แต่กลับมองไม่เห็นดอยสุเทพ” เกิดขึ้นอีกเป็นแน่

ที่มา: ปาริชาต กลิ่นขจร วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 http://downtoearthsocsc.thaigov.net/index.php?option=com_content&task=view&id=145&Itemid=8

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post