ปัญหาใหญ่ของการวิจัยคือ องค์ความรู้ใหม่ที่ศึกษาค้นคว้ามานั้นกลับถูกนำไปเก็บไว้บนหิ้ง ไม่ได้ใช้ประโยชน์
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) ได้ใช้กลยุทธ์ตามแนวคิด TRENS Model โดยให้คณาจารย์และนิสิตต้องลงพื้นที่ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการและชุมชน แล้วนำปัญหามาค้นคว้าวิจัยจนได้ความรู้ใหม่ไปพัฒนาชุมชน
ด้วย เหตุนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มบส. จึงร่วมกับผู้ประกอบการทำวิจัยเรื่อง การพัฒนาไอศกรีมดอกไม้ไทยที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้รับทุนจากโครงการ IRPUS สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ดร.อัจฉรา แก้วน้อย อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มบส. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ตนและนิสิตได้ร่วมกับ บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด ในการตีโจทย์ วิเคราะห์ปัญหาและนำมาทำงานวิจัยด้านอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าต่อสุขภาพ
โดยในปี 2550 มบส.ได้ร่วมกับผู้ประกอบการทำวิจัยเรื่องการพัฒนาเครื่องดื่มสมุนไพรที่ผลิต จากดอกไม้ท้องถิ่น อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้รับรางวัล Popular Vote ในการจัดงานแสดงผลงานวิจัยของ สกว. เมื่อปี 2551 ที่ประชาชนทั่วไปร่วมลงคะแนนโหวตให้ได้รับความนิยมมากที่สุด
ดัง นั้น ตนและคณะผู้วิจัยจึงนำข้อเสนอดังกล่าวมาวิจัยต่อยอดเรื่อง การพัฒนาไอศกรีมดอกไม้ไทยที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้เผยแพร่ภายในงานแสดงผลงานพัฒนาเทคโนโลยีทุนปริญญาตรี สกว. ครั้งที่ 7 : IRPUS 52 “งานวิจัย สร้างปัญญา พัฒนาประเทศ” ระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค. ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
จากนั้นได้นำไปเผยแพร่ในงานประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยราชภัฏ ครั้งที่ 1 “การวิจัยพัฒนาท้องถิ่นเพื่อแผ่นดินไทย” ระหว่าง 1-5 เม.ย. ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
งานวิจัยดังกล่าวได้จัดทำไอศกรีมดอกไม้ถึง 15 รสชาติ แล้วนำมาสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภค 300 ราย จนพัฒนาสูตรไอศกรีมดอกไม้ไทยที่ได้รับความนิยมที่สุด 5 ชนิด ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ “ไอศกรีมวันมอร์” (ONEMORE) รสชาติต่างๆ
ได้แก่ ดาหลาไวน์ ใช้สารสกัดจากดอกดาหลา ให้ผลต้านอนุมูลอิสระร้อยละ 84.72 เข็มสตรอเบอรี่เชอเบท ใช้สารสกัดจากดอกเข็ม ให้ผลต้านอนุมูลอิสระร้อยละ 83.97 กุหลาบนม ใช้สารสกัดจากดอกกุหลาบมอญ ให้ผลต้านอนุมูลอิสระร้อยละ 82.67 บัวนม ใช้สารสกัดจากเกสรดอกบัว ให้ผลต้านอนุมูลอิสระ ร้อยละ 73.23 และอัญชันมะพร้าวอ่อน ใช้สารสกัดจากดอกอัญชัน ให้ผลต้านอนุมูลอิสระ ร้อยละ 26.33
“ซึ่งดอกไม้ไทยจากอัมพวามีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความชรา ป้องกันโรคความจำเสื่อม มะเร็ง และโรคหัวใจ เป็นต้น ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จจากการนำผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มักถูกจำกัดไว้บนหิ้งไป สู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” ดร.อัจฉรา กล่าว
ด้านนายวัชริศร์ มีบุญสม นิสิตชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มบส. ซึ่งเป็นหนึ่งในนิสิตที่ร่วมวิจัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาอาจารย์และนิสิตรุ่นพี่ได้ถ่ายทอดกระบวนการและดึงนิสิตรุ่นน้อง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยแบบรุ่นต่อรุ่น ซึ่งเป็นการฝึกฝนและเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตรุ่นน้องที่จะก้าวขึ้นมาเป็น นักวิจัยเต็มตัว ทำให้นิสิตของมบส.มีประสบการณ์ด้านการคิดวิเคราะห์และทำวิจัยในชั้นเรียน ส่งผลต่อการเรียนรู้การทำงานเป็นทีมเวิร์กให้เด็กสามารถจับคู่คิดค้นงาน วิจัยร่วมกับผู้ประกอบการ สร้างฐานโอกาสในการมีงานทำในอนาคตเมื่อจบการศึกษาออกไปแล้ว
ทั้งนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าวมีส่วนในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์และ สามารถใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดให้กับธุรกิจ สร้างความแตกต่าง (Differentiation) แปลกใหม่ (Innovation) โดยใช้ดอกไม้อัมพวาเป็นวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่า (Value Added) ทางการตลาดให้กับท้องถิ่น และยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ (Anti-Oxidant) ส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค
สำหรับไอศกรีมดอกไม้ไทยจะเป็นไอศกรีมนวัตกรรมวางจำหน่ายที่ร้านกำปั่น ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ในเร็วๆ นี้
ถือว่าเป็นการแปรรูปงานวิจัย “จากหิ้ง สู่ห้าง” ได้เป็นอย่างดี