กระชากหน้ากากอุตสาหกรรมอาหาร

เช้าที่เร่งรีบของมนุษย์เงินเดือน หลายคนต้องพึ่งอาหารจานด่วนประทังความหิว ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือปัญหาสุขภาพที่ต้องตามแก้กันไม่รู้จบ โดยเฉพาะโรคอ้วนที่เป็นบ่อเกิดของโรคต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย และโรคนี้กำลังระบาดหนักในหมู่คนไทย

ซึ่งหลายคนบอกว่า หากเลือกได้อยากรับประทานอาหารสุขภาพ

บรรดาผู้ประกอบการจึงพยายามตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยการเข็นเมนูสุขภาพในรูปแบบอาหารจานด่วนมาบริการกันมากมาย

แต่ก็เกิดคำถามตามมาอีกว่า อาหารสุขภาพที่มีขายอยู่ในท้องตลาดเวลานี้ เป็นอาหารสุขภาพจริงหรือเปล่า เป็นอาหารสุขภาพแต่ชื่อหรือเปล่า

หนังสือเล่มใหม่ “กระชากหน้ากากอุตสาหกรรมอาหาร” ที่ “สุนทรี เกียรติประจักษ์” แปลจาก Appetite for Profit ซึ่งเขียนโดย Michelle Simon เป็นหนังสืออีกเล่มที่ทำให้คนทำงานรู้เท่าทันการบริโภคอาหารในรูปแบบต่าง ๆ

ศ.น.พ.ประเวศ วะสี ได้เขียนไว้ในคำนิยามหนังสือเล่มนี้อย่างน่าสนใจว่า

“ระบบทุนนิยม บริโภคนิยม ระบบนี้ถือกำไรสูงสุดเป็นตัวตั้ง และกำไรนั้นมาจากการกระตุ้นให้คนบริโภคมากที่สุด ส่วนบริโภคแล้วจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ขอให้กูได้กำไรก็แล้วกัน ฉะนั้นระบบนี้จึงกระตุ้นให้คนสูบบุหรี่มากๆ ดื่มสุรามากๆ ให้เด็กกินขนมมากๆ ให้คนบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มมาก ๆ จะอ้วนก็ช่างมัน”

ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้บริโภคทุกคนคงต้องดูแลตัวเอง มีสติในการเลือกรับประทานอาหาร

ในหนังสือเล่มนี้ นอกจากผู้เขียนจะชำแหละบริษัทอาหารด้วยข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผลว่า ทำไมเราถึงไว้ใจบริษัทพวกนี้ไม่ได้แล้ว และยังชี้ให้เห็นเล่ห์กลของ ผู้ประกอบการอาหารที่พยายาม ใช้ทุกยุทธวิธีในการสร้างยอดขาย ไม่ว่าการเอาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นพวก การใช้คนดังเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมาย สร้างกระแสความรู้สึกดี ๆ ให้กับผู้รับประทาน

ยกตัวอย่าง เมื่อกระแสการโต้แย้งเรื่องโรคอ้วนเริ่มร้อนแรงขึ้น ผู้ผลิตอาหารฟาสต์ฟู้ดรายหนึ่งก็พยายามหาทางควบคุมการกระพือข่าวนั้น เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชนของประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายว่าด้วยการใช้ชีวิตให้ได้ดุลยภาพเพื่อช่วยแก้ปัญหาโรคอ้วน และพัฒนาสุขภาวะของคนในประเทศให้ดีขึ้น ผู้ผลิตอาหารฟาสต์ฟู้ดรายนี้ก็ประกาศเป็นผู้นำของวงการนำเสนออาหารสุขภาพ ด้วยเมนูสลัด แต่เอาเข้าจริงเมื่อให้นักโภชนาการไปตรวจสอบปรากฏว่าทั้งพลังงาน ไขมันของสลัดจานนี้สูงเกินกว่า ที่ประกาศไว้ทั้งสิ้น

ชีวิตเป็นของเรา สุขภาพเป็นของเรา แม้ต้องทำงานแข่งกับเวลาก็อย่าให้นายทุนช่วงชิงช่วงเวลาดี ๆ ของชีวิตไป ศึกษาพฤติกรรมการแสวงหากำไรของนายทุนในอุตสาหกรรมด้านอาหารไว้บ้าง เพื่อป้องกันตัวเองจากภัยใกล้ตัว

ที่มา: คอลัมน์ Book is capital โดย ภคอร วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4232  ประชาชาติธุรกิจ

Relate Post