สมุนไพรในประเทศไทยมีอยู่มากมาย และมีสรรพคุณน่าอัศจรรย์
หากคนในชุมชนให้ความสำคัญ และรู้จักนำพืชเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้พันธุ์ไม้พื้นบ้านมากคุณค่าก็จะไม่มีวันหายไปจากท้องถิ่นของเรา
ตามเด็กๆ โรงเรียนบ้านอีเซ อ.โพธิ์สุวรรณ จ.ศรีสะเกษ ไปรู้จักกับพืชพื้นถิ่นที่นับวันจะถูกผู้คนละเลย หลงลืมประโยชน์นานาที่มาจากพืชชนิดนี้
เด็กๆ และชาวบ้านแถบภาคอีสานคุ้นเคยกันดีในนาม “เครือหมาน้อย” พืชสมุนไพรที่มักพบตามพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในบริเวณป่าเขาเขตร้อนทั่วไป แต่ที่พบมากและคนรู้จักนำมารับประทานมากที่สุดเห็นจะเป็นในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เครือหมาน้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Cissampelos pareira Linn. ส่วนชื่อพื้นเมืองนั้นเรียกต่างๆ กันไปตามพื้นที่ ภาคกลางเรียก วุ้นหมาน้อย หรือ กรุงเขมา ภาคเหนือเรียก ขงเขมา หรือ พระพาย ภาคอีสานเรียก เครือหมาน้อย หรือ หมาน้อย ภาคใต้เรียก ก้นปิด จ.เพชรบุรี เรียก สีฟัน และผู้คนในพื้นที่ จ.ยะลา รู้จักเครือหมาน้อยในนาม อะกามินเยาะ
ลักษณะของเครือหมาน้อย เป็นไม้เถาที่เลื้อยตัวขึ้นไปตามต้นไม้อื่น ใบเป็นรูปหัวใจสีเขียวเข้ม มีขนปกคลุมทั้งใบและก้าน ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อหมาน้อยที่มีขนปุกปุยนั่นเอง
มีการศึกษาวิจัยว่าในตัวหมาน้อยประกอบไปด้วยสารเพกติน ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในการดูดซับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี หากนำมารับประทานแล้วจะช่วยให้เกิดผลดีต่อร่างกายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นลดคอเลสเตอรอล ลดความอ้วน ลดความเสี่ยง ในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
สรรพคุณทางยาสมุนไพรที่เด็กๆ โรงเรียนบ้านอีเซทราบมาจากพ่อแม่คือเครือหมาน้อยนี้เป็นยาเย็น แก้อาการร้อนใน เป็นยาบำรุง แก้ไข้ แก้ลม
ด.ญ.ศรินันท์ พาที หรือ น้องหญิง บอกเล่าเกี่ยวกับพื้นที่ที่มักพบต้นหมาน้อยว่า “ตามธรรมชาติแล้ว เครือหมาน้อยจะขึ้นอยู่ในป่าค่ะ มันเป็นพืชที่แพร่กระจายตัวได้เร็ว แต่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านรู้ถึงสรรพคุณมากมายของมันจึงนำมาปลูกไว้ที่บ้านค่ะ จะได้เก็บกินเก็บใช้สะดวก แต่มันจะเป็นเถาขึ้นมาไม่เยอะเท่ากับที่เติบโตอยู่ในป่า”
สมัยโบราณ เมื่อผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนรู้จักและทราบถึงประโยชน์ต่างๆ ของเครือหมาน้อย จึงนำมาดัดแปลงเป็นอาหารเพื่อให้ลูกหลานสามารถรับประทานพืชชนิดนี้ได้ง่าย ขึ้น
มองดูจากลักษณะภายนอกแล้ว พืชมีขนอย่างเครือหมาน้อยอาจจะดูไม่น่ารับประทานสำหรับเด็กๆ เท่าไรนัก พอถูกแปลงโฉมให้เป็นอาหารคาวอย่าง วุ้นหมาน้อย ที่ปรุงรสด้วยพริกน้ำส้ม น้ำปลา แถมโรยหน้าด้วยใบสะระแหน่หอมหวน หรือนำไปดัดแปลงเป็นน้ำพริกใบหมาน้อยที่มีส่วนผสมของปลาอยู่ด้วย จากพืชพื้นถิ่นที่ขึ้นอยู่ทั่วไปตามป่าเขาจึงกลายเป็นทั้งอาหารและยาในคราวเดียวที่เด็กๆ ไม่เคยปฏิเสธอีกเลย
น้องหญิงและเพื่อนๆ เห็นถึงความสำคัญของพืชพื้นบ้านชนิดนี้ หากไม่รู้จักนำใบหมาน้อยมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ คุณค่าของมันก็จะลดลงไปตามกาลเวลา โครงงานวิทยาศาสตร์จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้น้องหญิงกับเพื่อนๆ ช่วยกันคิดช่วยกันทำเมนูอาหารที่มาจากใบหมาน้อย
ด.ญ.ฐาปนี สีตะริสุ หรือ น้องเจน คู่ซี้ของน้องหญิงบอกว่า “ยายนำใบหมาน้อยมาทำอาหารคาวไปแล้ว พวกหนูก็มาช่วยกันคิดว่าน่าจะทำเป็นของหวานได้ค่ะ เพราะคุณสมบัติพิเศษของใบหมาน้อย เมื่อนำมาคั้นน้ำออกแล้วสามารถแข็งตัวกลายเป็นวุ้นโดยใช้เวลาไม่นาน คิดว่าน่าจะนำมาทำเป็นวุ้นหมาน้อยลอยแก้วได้ อาจจะเพิ่มกะทิ และผสมน้ำใบเตยเข้าไปด้วยเพื่อให้มีกลิ่นหอมค่ะ”
นอกจากของหวานอย่างวุ้นหมาน้อยลอยแก้วแล้ว ยังมีหมาน้อยห่อทอง และ ส้มตำใบหมาน้อย ที่หญิงและเพื่อนๆ ช่วยกันคิดขึ้นมา จากอาหารคาวที่มากประโยชน์ กลายมาเป็นของหวานกินเล่นที่พ่วงยาบำรุงร่างกายเอาไว้ด้วยเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ชาวบ้านและเด็กๆ อยากอนุรักษ์ต้นหมาน้อยให้อยู่คู่ชุมชนตลอดไป
มาติดตามกันว่าวุ้นหมาน้อยลอยแก้วของเด็กๆ บ้านอีเซ จะหน้าตาน่ารับประทานขนาดไหน ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน หมาน้อย วันเสาร์ที่ 11 มิ.ย.นี้ ช่อง 3 เวลา 06.25 น. www.payai.com ที่มา: คอลัมน์ สดจากเยาวชน ข่าวสด 10-06-54 โดย ยศศยามล กรมติ http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNVEV3TURZMU5BPT0=
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”