จากสถานการณ์สุขภาพของคนไทยในภาคอีสาน โดยสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าประชากรในภาคอีสานช่วง 20 ปีให้หลังนี้ ติดอันดับป่วยด้วยโรคเบาหวานสูงสุดของประเทศ
โดยเฉพาะ จ.กาฬสินธุ์ มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานสูงสุดของประเทศ คือ 32.51 รายต่อประชากร 100,000 คน จึงตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของการเจ็บป่วย ที่น่าจะเกิดจากการบริโภคข้าวเหนียวสายพันธุ์เดียว คือ “กข.60”
ด้วยเหตุนี้ ทางเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน โดยการสนับสนุนของ สสส.ร่วมกับ สถานีอนามัยนากระเดา และอบต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ จัดทำ “โครงการพันธุ์ข้าวต้านเบาหวาน” เพื่อหาคำตอบต่อข้อสงสัย โดยทดลองให้ผู้ป่วยเบาหวานเปลี่ยนมาบริโภค “ข้าวหอมมะลิแดง” ซึ่งมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายหลากหลายมากกว่า
นายจรินทร์ คะโยธา ผู้ประสานงานเครือข่ายภูมินิเวศน์ จ.กาฬสินธุ์ และจ.นครพนม เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน และผู้ประสานงานโครงการพันธุ์ข้าวต้านเบาหวาน เปิดเผยว่า งานของเครือข่ายมุ่งเน้นเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านและพันธุ์ผักพื้นถิ่น ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนแนวคิดของเกษตรกร ให้หันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี ปัจจุบันในพื้นที่ อ.นาคู มีเกษตรกรในเครือข่าย 47 ครัวเรือน แต่ละบ้านจะแบ่งพื้นที่นา 5 ไร่ มาปลูกและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านหลายสายพันธุ์และทำการเกษตรแบบผสมผสาน
“มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุตรงกันว่า พันธุ์ข้าวพื้นบ้านมีสารอาหาร และคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าข้าวที่นิยมปลูก และบริโภคในปัจจุบันที่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ และเมื่อมองย้อนไปในอดีต พบว่าบรรพบุรุษของเราปลูกและบริโภคข้าวที่หลากหลายสายพันธุ์ ทำให้ไม่มีใครป่วยเป็นโรคเบาหวาน”
“ประกอบกับเกษตรกรในเครือข่ายปลูกข้าวหอมมะลิแดงอยู่แล้ว จึงร่วมกับสถานีอนามัยนากระเดา ทดลองให้กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานกินข้าวหอมมะลิแดงของเครือข่ายที่ส่งไปตรวจที่สถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามีคุณสมบัติป้องกันโรคเบาหวานได้ เพื่อหาข้อสรุปที่จะนำไปสู่การขยายผลในการปลูกและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านออกไปให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพราะข้าวเจ้าเป็นข้าวที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด และปลูกทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ” นายจรินทร์ระบุ
ด้านนายอำนาจ วิลาศรี ประธานเครือข่ายภูมินิเวศน์ จ.กาฬสินธุ์ และจ.นครพนม เล่าว่าใน ต.สายนาวัง มีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านประมาณ 10 สายพันธุ์ แต่ปัจจุบันเหลือยู่เพียง 4 พันธุ์เท่านั้น คือ ข้าวก่ำ ข้าวสันป่าตอง ข้าวกอเดียว และข้าวหอมมะลิแดง ซึ่งพันธุ์ข้าวพื้นบ้านเหล่านี้มีข้อดีคือทนต่อโรคและความแล้ง ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี แต่ให้ผลผลิตและน้ำหนักดีมีรสชาติอร่อย
จากการ สอบถามคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ พบว่าสมัยก่อนกินข้าวไม่น้อยกว่า 7 สายพันธุ์สลับกันไป ทำให้ไม่มีใครป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะ “ข้าวก่ำ” ถือได้ว่าเป็นพญาข้าว จึงบอกต่อๆ กันมาว่าทำนาอย่าลืมนำข้าวก่ำ ให้เอาไปหุงต้มผสมกินจะเป็นยา เพราะเป็นข้าวที่ดีที่สุด
“สาเหตุที่ทางเครือข่ายเลือกใช้ข้าวหอมมะลิแดง ให้ผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนทดลองกินนั้น เพราะมีผลการตรวจจากห้องทดลองถึงคุณประโยชน์ของข้าวชนิดนี้แล้ว จึงต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้จริง โดยประสานกับทาง อบต. และสถานีอนามัย ให้ตรวจและติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ หลังจากทดลองมา 6 เดือนก็พบว่าช่วยลดได้จริง แต่ปัญหาที่พบคือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ชอบกินข้าวเจ้า บางคนกินไม่ครบทุกมื้อตามที่ต้องการ ทำให้ผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน ต่อไปทางเครือข่ายจะทดลองนำข้าวก่ำไปผสมกับข้าวเหนียวให้อาสาสมัครทดลองกินดูว่าจะมีผลอย่างไร” นายอำนาจกล่าว
ส่วนนางดวงพร บุญธรรม หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านนากระเดา ร่วมให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่ 4 หมู่บ้านที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีอนามัย ประกอบด้วย บ้านกุดตาใกล้ หมู่ 4 และหมู่ 7 บ้านนากระเดา หมู่ 5 และหมู่ 6 จากการสำรวจพบว่ามีประชากรป่วยด้วยโรคเบาหวานสูงถึง 70 คน และอีก 20 คนอยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีภาวะน้ำตาลสูงที่ต้องเฝ้าระวัง
ทั้งผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้คนในหมู่บ้านมีความเสี่ยงกับการเป็นโรคเบาหวานสูงมาก ประกอบกับทางเครือข่ายเกษตรทางเลือกฯ มีโครงการพันธุ์ข้าวต้านเบาหวาน จึงหาอาสาสมัครจำนวน 18 คน มาเข้าร่วมโครงการ โดยให้ข้าวไปทดลองคนละ 5 กิโลกรัม และขอความร่วมมือให้กินข้าวพันธุ์หอมมะลิแดงให้ได้ทุกวัน วันละ 3 มื้อ
“ปัญหาก็คือบางคนกินบ้างไม่กินบ้าง ไม่ครบ 3 มื้อตามที่ขอ เกิดจากการใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิแดง ซึ่งเป็นข้าวเจ้าที่ชาวบ้านไม่นิยมรับประทาน หลังจากนั้น 1 เดือน ก็มาตรวจเลือดพบว่ามีผู้ป่วย 8 คนที่มีน้ำตาลลดลง แต่อีก 8 คนกลับมีน้ำตาลเพิ่มขึ้นและ 2 คนมีค่าคงที่ ก็เลยทดลองต่ออีก 3 เดือน พบว่ามี 4 คนที่น้ำตาลลดลงอย่างต่อเนื่อง”
“ผลที่ได้อาจจะยังไม่มีความแน่นอน แต่ถือว่าเป็นการนำร่องให้เกิดการขยายผลการทดลองเพิ่มขึ้นกับชาวบ้านอีก 32 รายอย่างจริงจังมากขึ้นในขณะนี้ โดยจะติดตามลึกไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการบริโภค หรือปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อค่าน้ำตาลด้วย” นางดวงพรกล่าว
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สสส. เปิดเผยว่า การส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ ทำให้ต้องใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี และยากำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมากซึ่งมีต้นทุนสูง การที่จะลดหรือเลิกใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้ลงได้ ก็คือการหาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อม การใช้พันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ผ่านการพัฒนา และรักษาสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จะนำไปสู่การลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกและได้ผลผลิตที่ดี
“ข้าวพันธุ์พื้นบ้านสายพันธุ์ต่างๆ จะมีคุณค่าของสารอาหารในสัดส่วนที่สูงกว่าข้าวทั่วไปที่นิยมกันในปัจจุบัน อย่างเช่น ข้าวหอมมะลิแดง หรือข้าวก่ำ ที่มีเปอร์เซ็นต์ของสารต้านอนุมูลอิสระ และมีวิตามินเอในอัตราส่วนที่มาก บางสายพันธุ์มีวิตามินอีสูงมากกว่าถึง 26 เท่าของข้าวทั่วๆ ไป อีกทั้งยังมีสารอาหารที่มีคุณค่าอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก” นายวิฑูรย์ สรุป
ที่มา: ข่าวสด 18/7/53