ชำแหละอุตสาหกรรมอาหาร “กับดักจานด่วน” ยุคทุนนิยม

ขณะที่อุตสาหกรรม อาหารข้ามชาติ แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ยักษ์หลับอย่างจีน พอเริ่มเปิดประเทศปุ๊บก็กินอาหารจานด่วนกันปั๊บ สำหรับเมืองไทยย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน ร้านอาหารจานด่วนประเภทฟาสต์ฟูดยังมีไม่มากนัก วัยรุ่นที่ได้กินจะถูกสร้างค่านิยมว่าเท่ห์ มีระดับ ทำให้ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา วัยรุ่นไทยเข้าคิวซื้ออาหารจากแฟรนไชส์ต่างประเทศ จนสาขาต่างๆ ผุดเป็นดอกเห็ด และทุกวันนี้ร้านรวงเหล่านี้ก็กระจายไปสู่หัวเมืองในต่างจังหวัดเกือบหมด ทั้งสิ้น

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และบรรณาธิการหนังสือ “กระชากหน้ากากอุตสาหกรรมอาหาร” ซึ่งแปลจาก Appetite for Profit ของ มิเชล ไซม่อน ชำแหละอุตสาหกรรมอาหารที่ทำให้คนอเมริกัน ประเทศทุนนิยมเสรี มีประชากรอ้วนปุ๊กลุก โรคภัยคุกคามไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันสูงฯลฯ แถมยังขยายอิทธิพลครอบงำทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยก็หนีไม่พ้น และกำลังดำเนินรอยตาม ตกอยู่ในวังวนบนวิถีชีวิตที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ด้วยการบริโภค “อาหารจานด่วน”

“พอเรากินจนอ้วน ก็มีสถานเสริมความงามต่างประเทศมาดูดไขมัน ดูดเงินคนไทย พอร่างกายขาดสารอาหารก็ต้องกินอาหารเสริมเมืองนอก เราจะมีสุขภาพที่ดีต้องเสียเงินให้ฝรั่งด้วยหรือ ผมรู้สึกเป็นห่วงเด็กรุ่นใหม่ที่ติดใจรส ติดของแถมสะสมครบชุดจนกลายเป็นสาวกแบบโงหัวไม่ขึ้น” นพ.ศิริวัฒน์ ให้ภาพ

ด้าน ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า หลายคนอาจจะคิดว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ประชาชนมีเสรีภาพและมีสิทธิมาก ที่สุด แต่จากการศึกษาแล้ว พบว่า ผู้คุมอำนาจทั้งหมดในสหรัฐฯ ล้วนแต่เป็นทุนนิยมใหม่ แม้แต่อาหารการกินและวิถีชีวิตถูกบีบบังคับแบบจำกัดทางเลือกโดยอุตสาหกรรม อาหาร คนอเมริกันต้องฝากท้องกับอาหารจานด่วนโดยปริยาย แต่สำหรับเมืองไทยเราคงไม่โชคร้ายแบบนั้นเสียทีเดียว เพราะยังมีสังคมหลายแห่งที่เริ่มต้นกับอาหารอินทรีย์ใกล้บ้าน และมีคนกลุ่มหนึ่งที่ตื่นตัวว่าลูกหลานเราจะกินอะไร

กฤช เหลือลมัย บรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ และคอลัมนิสต์อาหาร ให้ทัศนะเรื่องนี้ ว่า ไทยไม่มีกำลังมากพอที่จะต้านกระแสนิยมการกินอาหารหัวนอกแล้วจะเก๋ เท่ห์ มีหน้ามีตาเวลายืนเข้าคิวซื้อ เพราะขาดความรู้อย่างมากที่จะตอบโต้กับสิ่งเหล่านี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไปในยุคหนึ่งเด็กถูกเลี้ยงมาให้กินไก่บ้าน แต่เด็กยุคนี้โตมากับไก่ยี่ห้อเลี้ยงในฟาร์ม 40 วันได้กิน ไม่ผิดเลยว่าอาหารที่ในยุคของเรามีคุณค่าน้อยกว่าอาหารที่บรรพบุรุษเรากิน อย่างเห็นได้ชัด

“10 ปีมานี้ความรู้เรื่องอาหารการกินของคนไทยลดลง ความรู้เรื่องอะไรกินได้ กินไม่ได้ มีประโยชน์ หรืออะไรอร่อยก็น้อยลงเช่นเดียวกัน สังเกตการไปซื้อส้มตำ ผักเคียงจะน้อยลงเหลือแค่ผักบุ้งบ้าน และกะหล่ำปลี แต่ผักอย่างยอดบวบ ยอดมะรุม ยอดกระทกรกหายไป เพราะมีกระบวนการทำให้มันกลายเป็นวัชพืชและทำลายให้สูญพันธุ์ เช่น บริษัทน้ำยาฆ่าหญ้าก็โฆษณาทำให้เชื่อว่าพืชบางชนิดต้องกำจัดให้สิ้นซาก และคนก็เชื่อเพราะวิถีความรู้เราเปลี่ยนไป” คอลัมนิสต์ ให้ภาพ

55301

พญ.แสงโสม สีนะวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโภชนาการ กรมอนามัย สธ. แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมอาหารที่เกิดขึ้นในโลกาภิวัฒน์เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ฝ่ายผลิตที่ต้องการกำไร ขณะที่คนกินต้องการอาหารที่มีมากกว่าคุณค่าอาหารตามหลักโภชนาการ ต้องการสุนทรีย์ในการกิน ดังนั้นอาหารจะต้องรสชาติดี หน้าตาดี อุตสาหกรรมอาหารที่รู้มากทำการสำรวจวิจัย ทำอาหารออกมาตรงตามที่คนกินต้องการ คือ หน้าตาอาหารดี หีบห่อสวย กินง่าย ราคาถูก รสชาติอร่อย ทั้งๆ ที่มีแต่แป้ง ไขมัน และน้ำตาล แต่ผู้บริโภคกับถูกชักจูงให้เข้าไปกินแบบไม่ขัดเขิน

ในทางกลับกัน อาหารเพื่อสุขภาพที่อัดแน่นด้วยคุณค่าอาหารมีหน้าตาและรสชาติที่ไม่น่ากิน และมีราคาแพง ดังนั้นหากจะสู้กับอุตสาหกรรมอาหารจะต้องสู้ด้วยแผนการเพื่อทำให้ผู้บริโภค รับรู้ ซึ่งต้องใช้เวลาลบล้างความเชื่อเดิม 10-20 ปี โดยกลุ่มผู้บริโภคเองต้องเข้มแข็งให้มาก เร่งสร้างกระแสอาหารไบโอติก แมคโครไบโอติก อาหารออแกนิกส์มากขึ้น เพื่อทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้ถูกลง และสร้างหีบห่อให้เป็นที่ดึงดูดสนใจ เช่น โครงการหลวงเป็นตัวอย่างแนวคิดนี้

กฤช แสดงความเห็นด้วยว่า บริษัทอาหารทำให้อาหารจังค์ฟู้ดเป็นกระแส ดังนั้น เราก็ควรทำให้อาหารเพื่อสุขภาพเป็นกระแส กินอาหารออแกนิกส์แล้วเท่ห์ อินเทรนด์ นำสมัย ดูใส่ใจสุขภาพ ให้เป็นเงื่อนไขของคนรุ่นใหม่ให้เขารู้สึกว่ากินเพื่อช่วยเหลือโลก ช่วยสัตว์ สู้กับเขาในวิธีเดียวกัน แม้จะยากกว่าแต่เชื่อว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งฉีกตัวเองออกมาและสร้างกระแสได้ อาจจะสร้างแนวให้ตัวเองด้วยการหิ้วปิ่นโตไปที่ทำงานซึ่งมีบางออฟฟิศก็เริ่ม แล้ว

ขณะที่ ผศ.สุรัตน์ ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า ผู้บริโภคเองต้องคิดก่อนกินทุกครั้งว่าสิ่งที่เรากำลังจะกินเข้าไปนั้น กินแล้วดีต่อตัวเองจริงหรือ วิถีชีวิตของเรากำลังย่ำยีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นอยู่หรือเปล่า เพราะไม่มีใครเอาปืนจี้ให้เราเข้าร้านไก่ทอดได้ ดังนั้นการเปลี่ยนความคิดจึงต้องเริ่มที่ตัวเอง

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 สิงหาคม 2553

Relate Post