18 มีนาคม 53 – ร่มสวน บางบัวทอง
วันนี้ งานที่ต้องออกมาทำนอกบ้านเสร็จไว ระหว่างนั่งรถตู้กลับบ้านนึกได้ว่าจะแวะตลาดก่อนถึงหน้าหมู่บ้าน กะว่าวันพรุ่งนี้มีประชุมคณะวิจัยถั่วพื้นบ้านจะเอามะม่วงแก้วไปให้กินกับ
ก็เมื่อวานนี้เอง พี่เก๋เล่าให้ฟังก่อนที่เราจะประชุมสำนักงานกันว่า มะม่วงแก้วที่ตลาดเลมอนฟาร์มราคา “อัพ” ขึ้นมาแซงหน้ามะม่วงเขียวเสวยอินทรีย์ไปแล้ว ครั้นประชุมเสร็จตอนค่ำนั่งซ้อนรถมอเตอร์ไซต์จากปากทางเข้าหมู่บ้านเห็นตลาดยังไม่วาย เลยบอกคนขี่ว่าเปลี่ยนใจแวะหาอะไรกินก่อนแบบฉับพลัน เดินเกร่ๆ ดูร้านผลไม้ประจำ ก็เจอมะม่วงแก้วทันที แต่มะม่วงแก้วที่นี่แปะป้าย กก.ละ 10 บาท 2 โล 15 บาท (อีกต่างหาก)
นาทีที่เห็นป้ายราคาที่บอกชัดเจนถึงชื่อพันธุ์และราคา ฉันรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า มีทางรอดกับความเสี่ยงของมะม่วงราดสารเร่งที่มักใช้กับมะม่วงท็อปฮิตของตลาดที่วางเรียงสวยแบบดูดีมีราคา และ ตัวฉันเองกลับรวยขึ้นมาอีกขั้นในตลาดนัดข้างบ้าน ที่ทำให้ฉันกลับมามีอำนาจจับจ่ายสินค้าแบบเดียวที่พี่เก๋เพิ่งเล่าให้ฟัง
ระหว่างเลือกมะม่วงแก้วอยู่ มีเด็กสาวรุ่นกับเพื่อนหนุ่มอีก 2 คน เข้ามาเลือกมะม่วงกองเดียวกับฉัน ทั้ง 3 ส่งภาษาที่พอให้เดาได้ว่าเป็นแรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในโรงงานหรือไม่ก็มาเป็นลูกจ้างตามร้าน นึกอยากคุยกับพวกเขาเรื่องมะม่วงในห้วงคำนึงของพวกเขา แต่ก็มัวนึกและนิ่งฟังเสียงนุ้งนิ้งไปเพลินๆ จนเลิกคิดหาช่องทางที่จะเข้าแทรกบทสนทนาของพวกเขาไป
กลับมานั่งกินมะม่วงแก้วในรุ่งเช้า คำถามเรื่องมะม่วงยังวนเวียนในหัว มะม่วงกับที่ทางที่ฉันได้แวะเวียนเร่ไปในแห่งต่างๆ กับผู้คนมากหน้าหลายตา
ในช่วงอายุของผู้คนที่แตกต่าง คำถามว่ามะม่วงที่คุณชอบมากที่สุดคืออะไร ในกลุ่มคนที่มีอายุมากเกินกว่า 40 ปีขึ้นไป เราอาจจะได้คำตอบของมะม่วงที่ชอบแตกต่างกันกว่าคนมีอายุต่ำกว่า 40 ลงมา
คนที่อยู่ในกลุ่มอายุที่มากกว่าอาจจะมีเรื่องราวที่จาระไนออกมาเกี่ยวกับมะม่วงได้อย่างหลากหลายทั้งชื่อพันธุ์มะม่วง วิธีที่จะกินมะม่วงพันธุ์ที่ตัวเองชอบ ช่วงอายุของมะม่วงที่จะกินอย่างขบเผาะ มะม่วงห่าม มะม่วงบ่ม มะม่วงสุกคาต้น ไปจนร่วงหล่นแล้วเอามากวน แต่ที่หลายๆ คนอาจจะไม่ชอบเอาเสียเลยสำหรับกลุ่มคนรุ่นป้าและย่าน่าจะเป็น มะม่วงแก่แดด ที่ทำเอาบางคนอาจจะถึงกับแสลงกับมะม่วงประเภทสุดท้ายเพราะมันอาจพาไปสู่ความหมาย “ชิงสุกก่อนห้าม”
ถามเด็กในวัยต่ำกว่า 20 ปีลงมาว่ารู้จักมะม่วงกี่พันธุ์ ในเด็กส่วนมากอาจจะตอบได้เฉพาะมะม่วงที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน อย่างน้ำดอกไม้ เขียวเสวย โชคอนันต์ ฯลฯ แต่ก็อาจจะมีเด็กบางคนที่มีโอกาสได้เรียนรู้จากสื่อที่เปิดกว้างออกมาในโลกยุคปัจจุบันว่ามันมีพันธุ์อื่นๆ อีกมากมาย อย่างทองดำ แตงกวา ทวาย พิมเสน มันเดือนเก้า งาช้า พราห์มขายเมีย และ อื่นๆ อีกมากมาย
หากแต่ถามเด็กกลุ่มเดียวกันนี้แหละที่รู้จักชื่อพันธุ์มะม่วงที่พวกเขาสามารถเอ่ยเล่าจากความทรงจำด้วยคำถามแบบใหม่ ว่าประทับใจในพันธุ์มะม่วงแปลกๆ ที่ยึดโยงกับประสบการณ์ตัวเองอย่างไร ฉันเองก็คาดเดาคำตอบของพวกเขาไม่ถูกแน่ๆ
สำหรับฉันมีเรื่องให้จำมะม่วงหลากพันธุ์มากกว่ารสที่ห่างจากลิ้นไปกว่า 20 ปี มะม่วงทองดำสุดโปรดของฉัน ต้นที่อยู่หน้าบ้านย่าสูงขึ้นมาเลยหลังคาบ้าน 2 ชั้นแต่ว่าสะดวกสอยกินง่ายที่สุดใน ใต้ต้นมะม่วงแตงกวาที่ย่าปลูกไว้ 2 – 3 ต้นในสวนหน้าบ้านตอนในช่วงประถมนั้นเป็นที่ฉันใช้ทำเพิงทางมะพร้าวเป็นที่หลบซ่อนใครไว้ซุกตัวอ่านหนังสือนิยายกำลังภายในของพ่อ มะม่วงอกร่องที่ร่วงลงมาเพราะสูงเกินสอยของย่าเอามกวนแล้วทำเป็นแผ่นไม่อร่อยเลยเพราะทั้งหวานและดำด้วยความที่มีนมีน้ำตาลมาก แต่ย่าก็บอกให้เอามะม่วงแก้วลงไปปนจนได้มะม่วงกวนแผ่นใสสีสวยและหวานกลมกล่อม มะม่วงแก้วของย่ายังเอาดอง หรือยำและตำน้ำพริกได้อร่อยมาก ผิดกับมะม่วงน้ำดอกไม้ดิบที่เดี๋ยวนี้ฉันเอามาใช้ตำหรือยำมันจะเปรี้ยวโดและมีแป้งปนจนอ่อนใจ ….
หากแต่คำถามวันนี้ ขณะที่เดินตลาดและปรี่ไปยังร้านขายผลไม้เจ้าเก่าเมื่อวานกลับกลายเป็นว่า “วันนี้ไม่มีมะม่วงแก้ว?” กลับถูกกลืนลงคอ สายตายังมองเมียงไปร้านโน่นนี่ …. และก็เหมือนว่ายังไม่สิ้นหวัง
“กก. ละ 20 – 2 กก. 35 บาท” ป้ายบอกราคาวางกองอยู่บนมะม่วงหน้าตาแปลกๆ ที่ฉันไม่รู้จัก ครั้นเดินเข้าไปถามมะม่วงอะไร แม่ค้าบอก “มะม่วงยายกล่ำ” ขณะที่เพื่อนแม่ค้าบอกให้คนขายปอกให้ฉันชิม พร้อมย้ำว่า “หวานจริงๆ” ฉันยิ้มแล้วถามว่าปลูกเองเหรอ แม่ค้าว่าใช่ พร้อมพยักเพยิดไปทางฝั่งตรงข้ามตลาดว่า ปลูกที่บ้านอยู่ฝั่งตรงนั้นไม่ไกล
มะม่วงบ้านๆ แบบนี้ไม่ต้องเสียเวลาถามว่าใช้สารเคมีอะไรปลูกอย่างไร ตัดสินใจซื้อทันที 2 กก.
เป็นจริงดั่งคาด
มะม่วงยายกล่ำวางเรียงในถาดถูกกล่าวทักด้วยแม่บ้านวัยสี่สิบปลายว่า ไปได้มาจากไหน “ใช่มะม่วงยายกล่ำไหมเนี่ย” ฉันยิ้มกริ่มพยักหน้า ดีใจที่มีคนรู้จักมัน แม่บ้านบอกฉันว่า “สรรพคุณมันสุดยอดมะม่วงเลย” แล้วคว้าเอามันมาดมๆ ฉันชวนเธอกินมะม่วงกัน
สุดยอดของเธอ คือ “ลูกมันแป้นๆ กลมๆ ขนาดพอเหมาะพอกิน” ฉันว่า “ลูกมันคล้ายมะม่วงตลับนาก” เธอว่า “ใช่ แต่ตลับนากใหญ่กว่าเยอะ” ส่วนที่เห็นตรงกันคือ “รสหวาน” ซึ่งฉันอยากขยายประเภทความหวานของมันว่าเป็น รสหวานใสต่างไปจากรสอร่อยของมะม่วงอกร่องที่หวานแหลมฉ่ำและเนื้อเป็นเส้น หากแต่เนื้อสัมผัสของยายกล่ำกลับเป็นลักษณะเนื้อแก้วใกล้เนื้อวุ้นนิ่มๆ
นกปอกมะม่วงสุกพันธุ์ที่ฉันเพิ่งทำความรู้จักใหม่ให้กับขิงพลางบอกว่าขิงชอบกินมะม่วงสุก ฉันถามว่าเคยกินมะม่วงแบบนี้ไหม ขิงส่ายหัวแต่ยืนยันว่าชอบมะม่วงสุก ครั้นขิงกินเข้าไปแล้วฉันถามเธอว่าชอบไหม เธพยักหน้ายิ้มยืนยันหนักแน่น ฉันได้ทีพลอยยุยงส่งเสริมให้พ่อของหนูขิงเอามะม่วงยายกล่ำไปในไร่ดินดีใจ ปลูกไว้สร้างพื้นที่ความทรงจำของมันในบริบทของครอบครัวของขิง