ตอนที่ 25 ตลาดนัดสีเขียว รพ.ธรรมศาสตร์

ตื่นแต่เช้า นั่งรถตู้ประจำทางเพียงอึดใจก็พาตัวเองมาถึง ม.ธรรมศาสตร์รังสิต แล้ว

พี่วินมอเตอร์ไซค์ พาเราวิ่งอีกปราดหนึ่งก็ถึง คณะพยาบาล  หลังจากที่ฉันบอกพี่เขาว่า “ไปตรงงานเปิดตลาดนัดสีเขียว” แค่นั้น พี่เขาก็พามาถึงเชิงบันใดอาคารปิยชาติ  แล้วบอกพยักเพยิดให้พอให้ฉันได้ยินว่า “มาส่งถึงที่เลย น้องเดินไปตามทางนี้เดี๋ยวก็เห็น แค่นี้เอง”

ฉันเดินมาตามนิ้วชี้ของพี่วินมอเตอร์ไซค์ ระยะทางแค่นี้ที่ว่า จริงๆก็ไม่กึง 100 ก้าว

เจ็ดโมงเช้ากว่าๆ เพิ่งมีร้านผักของเกษตรกรมาเพียง 2 เจ้า

ร้านริมปากทางเข้าเป็นร้านของกลุ่มเกษตรกรพอเพียงปลูกผักปลอดภัย ต.บึงบอน อ.หนองเสือ มีลุงบำเพ็ญ รุมพล เป็นเลขาธิการของกลุ่มซึ่งมีสมาชิก 18 คน ร่วมกันทำการปลูกผักปลอดภัย โดยได้รับการสนับสนุนจากเกษตรจังหวัดปทุมธานี

ที่ร้านแรกนี้ยังมีพี่ดำรง รื่นเพชร จาก อ.ธัญญะ มาร่วมด้วยช่วยกันนำผักมาขาย ซึ่งเป็นผลผลิตจากสมาชิกกลุ่มของตัวเองอีก 10 คน

ทั้งกลุ่มเกษตรที่บ้านธัญญะกับบ้านหนองเสือ ต่างร่วมแรงแข็งขันกันมาราว 5 ปีแล้ว หลังจากเริ่มเข้าฝึกอบรมการปลูกผักเพื่อลดละการเลิกใช้สารเคมี  และแม้วันนี้ยังมีการใช้สารเคมีอยู่บ้าง แต่ก็มีระยะเวลาในการตัดเก็บที่ปลอดภัย โดยรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร  และมีสติ๊กเกอร์รับรองที่อุดหนุนให้โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี

ดำรง รื่นเพชร
บำเพ็ญ รุมพล
เกศรา เงินรัตน์
ร้านของเกศรา

ถัดมาใกล้ๆ กัน เป็นร้านของลุงบุญล้อม เงินรัตน์ เจ้าเก่าขาประจำที่ขายผักปลอดภัยที่ รพ.ธรรมศาสตร์แห่งนี้ในทุกวันพฤหัสบดีรวม 14 ปีแล้ว   หากแต่วันนี้เป็น เกศ – เกศรา เงินรัตน์ ลูกสาวที่จัดร้านไป ขายของไปอย่างคล่องแคล่วมาจำหน่ายแทนพ่อ

เกศเล่าว่า ที่บ้านทำเกษตรปลอดสารแบบช่วยกันในครอบครัวซึ่งมีกัน 6 คน  มีที่ซึ่งเป็นบึงของญาติที่อยู่ใกล้กันก็ขอเขาทำ เก็บฝักบัวมาขาย มีเจ้าประจำมาอุดหนุน แถมบางรายยังช่วยโฆษณาสรรพคุณของฝักบัวให้ซะอีกด้วย

ฉันซื้อฝักบัวที่แลดูสดเพิ่งหักจากสายมามาดๆ กำโตมาฝากแม่ พร้อมไข่เป็ดที่เลี้ยงแบบปล่อยอีก 1 ถุง  2 อย่างก็แค่ 50 บาท นั้นดูคุ้มค่ากับของที่ได้กลับไปบ้านแล้วแหละ

หิวแล้วสิ  ฉันเดินออกไปตามช่องทางเดิน ไม่ถึง 30 เมตร ก็เจอห้องอาหารของคณะพยาบาล  นั่งกินข้าวเช้าอยู่พักหนึ่งแล้วก็เริ่มเก็บภาพ  แม่ค้าต่างๆ เริ่มทยอยมาจัดร้านของตัวเอง  แล้ว “มิ้ม” ผู้ประสานการจัดงานเปิดตัวตลาดนัดสีเขียวก็วิ่งยิ้มร่าเข้ามาทักทาย

ฟังจากที่มิ้มเล่าให้ฟัง  วันนี้มีเกษตรกรในปทุมธานี และนนทบุรี ที่จะเอาสินค้าประเภทผักสด อาหาร และเครื่องดื่มมาจำหน่าย 15 ร้าน  ยกเว้นร้านของเกศ ซึ่งมาจากอ่างทอง

gmt10
gmt7
gmt8

โครงการพัฒนาระบบและกลไกตลาดในพื้นที่โรงพยาบาลต้นแบบ แห่งนี้เป็นแห่งที่ 2 ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล หลังจากเริ่มเปิดตลาดนัดครั้งแรกไปที่โรงพยาบาลปทุมธานีเมื่อวันพุธที่ 3 มีนาคม 53 ที่ผ่านมา

“พอเรามาคุยกับทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์แล้วรู้ว่ามีร้านของพี่เขาขายอยู่ก่อนแล้ว  เราก็ลงตามไปดูที่บ้านพี่เกศ ก็เห็นว่าผ่านเกณฑ์ ได้มาตรฐาน OK เราก็คุยกัน”

โครงการนี้สนับสนุนให้เกษตรกรที่ต้องการลด ละ เลิก การผลิตที่ใช้สารเคมีได้มีที่จำหน่าย และสร้างช่องทางให้คนกินที่แสวงหาในสินค้าตรงตามเป้าหมายกาผลิตของกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ให้มาเจอกัน

เข้ามาด้านในใกล้เวทีเปิดงาน ฉันได้มาเจอลุงเทพ ประธานกลุ่มเกษตรปลอดสารเคมี ต.ระแหง  อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี  ซึ่งเปิด “ศูนย์พัฒนาถ่ายทอดการเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อมและนิเวศน์ที่ยั่งยืน”  เรียนรู้การทำเกษตรปลอดสารเคมีให้ท่านที่สนใจไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือคนเมืองทั่วไปที่สนใจได้ไปเรียนรู้

ฉันเคยเจอลุงเทพเมื่อคราวเปิดตลาดนัดสีเขียวที่โรงพยาบาลปทุมธานี  คราวนี้นอกจากจะมากับเพื่อนกลุ่มเกษตรกรผลิตผักปลอดสารที่บ้านระแหงเพื่อนำผักปลอดสารมาจำหน่ายแล้ว  ยังนำ ตัวห้ำ (แมลงที่กินแมลงศัตรูพืช) และตัวเบียน (แมลงมีชีวิตเบียนเบียนและเป็นอุปสรรคต่อแมลงศัตรูพืช) มาให้คนกินได้รู้จักกันพร้อมพูดคุยให้เราฟังและเข้าใจได้ง่ายๆ เช่น แมลงช้างปีกใสที่กินแมลงจำพวกเพลี้ยเป็นอาหาร และมวนพิฆาตสีดำแดงสวยๆ ที่ถ้ามันเจอหนอนของแมลงศัตรูพืชเช่น หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนแก้วส้ม  ฯลฯ มันต้องรีบรี่เข้าใส่หาทางเข้าไปจับกินเลยทีเดียว

ลุงเทพ
กันธิมา ฮวดบำรุง
มวนพิฆาต

ฝั่งตรงข้ามกับบู้ทของลุงเทพ เป็นบู้ทสาธิตการเพาะเห็ดกินเอง ของคุณน้อย กันธิมา ฮวดบำรุง ซึ่งกำลังบรรยาย แจกแจงปัญหา วิธีการเพาะและการแก้ไข พร้อมสาธิตวิธีการเพาะเห็ดให้กับผู้สนใจอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยย่อท้อ  ขณะที่ฉันคนฟังกลับเพลิดเพลินสนุกไปกับเธอ

พบกับกลุ่มผู้ผลิตเหล่านี้ได้ ที่โรงพยาบาลปทุมธานี ซึ่งมีนัดกันทุกเช้าวันพุธ  ส่วนที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์มีตลาดนัดสีเขียวทุกวันพฤหัส  และทุกวันอาทิตย์ ที่ตลาดนัดสีเขียวในโรงพยาบาลบางโพ และที่โรงพยาบาลมิชชั่น

ที่โรงพยาบาลบางโพนั้น จะเริ่มเปิดนัดครั้งแรกวันที่ 27 มิถุนายนนี้  เพิ่มอีกแหล่งนัดพบสำหรับคนรักสุขภาพและต้องการสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตให้ผลิตสินค้าอาหารดีๆ โดยที่เรายังแอบหวังในใจว่าอยากให้มีอีกหลายที่ หลายแห่งให้เราได้ซื้อสินค้าตรงจากมือผู้ผลิต มีเพิ่มขึ้นๆ

สำหรับผู้ที่สนใจและอยู่ใกล้และสะดวกที่ไหน แวะไปอุดหนุนกันได้นะคะ

ยังมีคลิ๊ปวิดีโอชวนไปตลาดนัดสีเขียวโดยมิ้ม ที่ http://www.facebook.com/video/video.php?v=118585724853231

เรื่อง/ภาพ บุณย์ตา  วนานนท์

Relate Post