กะทิยอดเลียบ หรือ”ต้มเทะยอดเลียบ” ตามสำเนียงปักษ์ใต้นั้นทำไม่ยาก เพียงแต่มีวัตถุดิบหลักๆ คือยอดเลียบนั่นเอง ต้นเลียบเป็นไม้วงศ์ไทร มะเดื่อ ที่ขึ้นได้ทั่วไปทุกสะภาพป่า กระทั่งในเมืองอย่างกรุงเทพ ผู้เขียนก็พบต้นเลียบอยู่บ่อยๆ แต่น้อยคนคงจะรู้จักเก็บมากิน คนเหนือรู้จักผักเลียบในชื่อ”ผักเฮือด” ด้วยความที่รสเปรียวๆ ฝาดๆจึงนิยมนำมาทำยำหรือซ่าผักเฮือด วันหน้าจะหาสูตรมาฝาก
ในคาบสมุทรสทิงพระ มีระบบเกษตรแบบนา-โหนด ที่ยังมีดงตาลโตนดแน่นหนา เลียบจะอาศัยเป็นกาฝากบนต้นตาลโตนด คนคาบสมุทรฯจึงรู้จัก นิยมกินผักเลียบอย่างเเพร่หลาย ต้นเลียบทิ้งใบพร้อมกันทั้งต้น แต่ละต้นทิ้งใบไม่พร้อมกัน ช่วงทิ้งใบฤดูร้อนฤดูแล้ง(มี.ค.-เม.ย.) จากนั้น (พ.ค.-มิ.ย.) ก็จะแตกยอดอ่อนสีแดงอมชมพูทั้งต้นให้เก็บมาทำต้มกะทิกินกับน้ำชุบเคย นอกจากช่วงที่แตกยอดพร้อมกันมากๆ ก็ยังพอมีให้ได้กินแต่หาไม่ง่ายนักตลอดจนถึงเดือนมกราคม ราคาที่ขายกันในตลาดเป็นกองพอดีแกงก็กองละ 20 บาท ถ้าขายเป็นกิโลกรัม กิโลกรัมละประมาณ 80 บาท เลียบเป็นผักพื้นบ้านที่งอกงามและเติบโต โดยที่ไม่ต้องปลูก ไม่ต้องดูแลให้ยุ่งยาก ถึงเวลาแตกยอดให้เก็บกินเก็บขาย ดีแท้ๆ
วัตถุดิบ
– ยอดเลียบ 300 กรัม
– หัวกะทิสด 500 กรัม พร้อมหางกะทิ
– กระเทียม 4 กลีบ
– หอมแดง 4 หัว
– เกลือทะเล 1/2 ช้อนชา
– น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนชา
วิธีปรุง
– ทุบหอม กระเทียม พอแตก
– นำน้ำกะทิตั้งไฟ ใส่หอมและกระเทียมที่ทุบไว้
– พอเดือดจึงใส่ยิดเลียบ
– ปรุงรสด้วยเกลือทะเล น้ำตาลปี๊บ ชิมให้ได้รสหวานมัน