ปลาหมอนา : “เดือนสิบเอ็ดเกล็ดกูก็มัน”
ปูนา : “เดือนสิบสองกระดองกูก็มัน”
เป็นคำกล่าวอวดอ้างสรรพคุณของกันและกันระหว่างปูนากับปลาหมอนา แต่ไม่ว่าจะเดือนสิบเอ็ดหรือเดือนสิบสอง เลยไปถึงเดือนอ้ายเดือนยี่ ช่วงนี้ถือเป็นช่วงข้าวใหม่ปลามัน กินปลาอะไรก็อร่อยไปหมด ยิ่งเป็นปลาหมอนาแค่นำมาย่างไฟกินกับน้ำพริกเผา น้ำพริกตาแดง หรือแค่จิ้มกับน้ำปลาดีคลุกข้าวสวยร้อนๆ ก็อิ่มจนจุกไปได้เหมือนกัน หลากหลายเมนูจากปลาหมอทั้งแกงฉู่ฉี่ แกงอ่อมกับใบยอ หรือหมักเกลือแล้วตากเป็นปลาแดดเดียว คนที่ชอบกินปลาหมอฤดูนี้ต้องไม่พลาดแน่ เพราะเกล็ดและเนื้อปลาหมอจะมันมาก กินอร่อยจริงๆ
แต่วันนี้จะลองชวนมาทำเมนู “ต้มส้มแตงกวาใส่ปลาหมอ” อาหารพื้นบ้านสูตรดั้งเดิมที่น้าสาวเคยทำให้กินสมัยที่ยังเป็นแม่ค้าขายข้าวแกงอยู่ที่ตลาดเทศบาล น้าสาว(น้องสาวแท้ๆ ของแม่) มีฝีมือในเรื่องการทำอาหาร เวลามีงานบุญแถวบ้าน แกก็จะถูกขอแรงให้ไปช่วยเป็นแม่ครัวเอก เราเคยเป็นลูกมือช่วยน้าทำครัวอยู่ 4-5 ปีสมัยที่น้ายังขายข้าวแกงอยู่ ก็เลยพลอยได้ตำรับตำราการทำอาหารแบบพื้นบ้านติดมือมาอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ทำมาเสียนานงั้นก็ขอแรงมาช่วยกันทำเลยละกันนะ
วัตถุดิบแตงกวา ½ กก.
ปลาหมอนา 4-5 ตัว
เครื่องปรุง กระเทียม พริกไทย ต้นหอม น้ำมันหมู/น้ำมันพืช เกลือ/น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ มะขามเปียก
ลงมือทำ
– แตงกวาล้างให้สะอาด หั่นชิ้นขนาดพอดีคำ (ไม่ต้องปอกเปลือก)
– ปลาหมอนา ขอดเกล็ด ตัดครีบ ตัดหัว ล้างน้ำให้สะอาดจนหมดคาว ใส่ตะแกรงพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
– กระเทียมกับพริกไทยโขลกละเอียดให้เข้ากัน
– ต้นหอมหั่นเป็นท่อนๆ พักไว้
ใส่น้ำมันลงในกระทะ เจียวกระเทียมกับพริกไทยจนหอมเหลือง จากนั้นใส่น้ำสะอาดตามลงไป กะปริมาณให้พอดีกับแตงกวาและปลาหมอ รอจนน้ำเดือดให้ใส่แตงกวาลงไป พร้อมกับทยอยปรุงรสเปรี้ยวเค็มหวาน พอแตงกวาสุกได้ที่จึงใส่ปลาหมอลงไป รอจนเดือดจึงค่อยๆ คนให้เข้ากัน พอปลากหมอสุกให้ชิมรสชาติดูอีกครั้ง ส่วนมากนิยมกินรสเปรี้ยวนำ ตามด้วยเค็มและตัดรสชาติด้วยน้ำตาลปี๊บเพื่อให้ได้รสกลมกล่อม ส่วนความเข้มข้นของรสชาติสุดแท้แต่ความชอบของแต่ละคนค่ะ พอปลาหมอสุกและชิมรสชาติได้ที่แล้วก็ใส่ต้นหอมลงไปคนๆ ให้เข้ากัน ก็เสร็จแล้วค่ะ
แม่ฝากบอกว่า
– ตอนที่ใส่ปลาหมอลงไป ต้องรอให้น้ำเดือดเสียก่อนจึงค่อยคนให้เข้ากัน เพราะถ้าคนตอนที่น้ำยังไม่เดือดจะทำให้ปลาหมอมีกลิ่นคาว
– ควรใช้แตงกวาอ่อน ไส้ตัน เพราะเวลาต้มจะไม่เละจนเกินไป