หากพูดถึงประโยชน์ของพืชตระกูลถั่วทั้งหลายแล้วเราต่างรู้ดีว่าคือพืชปรับปรุงดินที่ทรงประสิทธิภาพ ในระบบเกษตรของบ้านเรามีการนำถั่วมาปลูกสลับกับพืชไร่อื่นๆ เพื่อบำรุงดินระหว่างรอบการผลิต เพราะพืชตระกูลถั่วมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนเมื่อปลูกและไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดกระบวนการย่อยสลายจะค่อยๆ เติมไนโตรเจนซึ่งเป็นแร่ธาตุจำเป็นในการเจริญเติบโตของพืชคืนให้กับดินและขณะเดียวกันก็เพิ่มช่องว่างให้ดินไม่แน่นเกินไป
ถั่วที่นิยมปลูกเพื่อปรับปรุงดินโดยเฉพาะมีหลายชนิด เช่น ถั่วพร้า ถั่วขอ ถั่วมะแฮะ ฯลฯ ถั่วเหล่านี้รับประทานได้แต่ไม่เป็นที่นิยม ในความไม่นิยมนี้จึงเป็นที่น่าเสียดายที่เรามองข้ามถั่วมะแฮะแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน (คิดจากส่วนที่บริโภค 100 กรัม เมล็ดสดมีโปรตีน 70% และ 19.2% ในเมล็ดแห้ง) มีกรดอมิโนจำเป็นเทียบเท่ากับถั่วเหลือง นอกจากนั้นยังมี วิตามินบีสูง
และยังอุดมด้วย แคลเซียม โปแตสเซียม ฟอสฟอรัส แม็กนีเซียม วิตามินเอ และไนอาซิน เป็นถั่วไขมันต่ำ เหมาะกับผู้ที่ลดความอ้วน ช่วยลดน้ำตาลและลดโคเลสเตอรอลในเลือด
ตารางเปรียบเทียบกรดอมิโนจำเป็นระหว่างถั่วมะแฮะกับถั่วเหลือง
กรดอะมิโน (คิดเป็นกรัมต่อ 100 กรัมของโปรตีน) | ถั่วมะแฮะ | ถั่วเหลือง |
---|---|---|
Cystine | 3.4 | 1.2 |
Lysine | 1.5 | 6.6 |
Histidine | 3.8 | 2.5 |
Arginine | 1.2 | 7.0 |
Aspartic acid | 19.2 | 8.3 |
Threonine | 2.2 | 3.9 |
Glutamic acid | 6.4 | 18.5 |
Proline | 5 | 5.4 |
Glycine | 4.4 | 3.8 |
Alanine | 3.6 | 4.5 |
Valine | 9.8 | 5.8 |
Methionine | 8.7 | 1.1 |
Isoleucine | 7.6 | 5.8 |
Tyrosine | 5 | 3.2 |
Phenylalanine | 3.4 | 4.8 |
Leucine | 7 | 7.6 |
ที่มา : James A. Duke. 1983. Handbook of Energy Crops. unpublished
ถั่วมะแฮะ Cajanus cajan (L.) Millsp. พืชในวงศ์ LEGUMINOSAE เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 1.5-2 เมตร อายุ 2-3 ปี ใบรวมมี 3 ใบย่อย รูปหอกขอบเรียบ ปลายแหลม มีขน ช่อดอกยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีหลายสายพันธุ์ ฝักอ่อนสีเขียวสายเมื่อฝักแก่เป็นสีแดงอมม่วง เมล็ดค่อนข้างกลม ฝักสดรสฝาด เป็นไม้เขตร้อนปลูกและนิยมรับประทานกันมากในประเทศอินเดียและขยายพื้นที่ปลูก ไปยังทวีปอัฟริกาตะวันออกและแถบแคริบเบียน รับประทานเมล็ดแห้ง ต้นและใบ รักษาเส้นเอ็นพิการและใช้ขับผายลมลงเบื้องต่ำ ราก เป็นยาขับลมก้อนนิ่วที่เกิดจากไต ช่วยกระตุ้นให้ไตทำงาน
ชาวบ้านทั่วทุกภาคของไทยมักปลูกไว้ในสวนครัวตามบ้านต้นสองต้น หรือปลูกแซมในไร่นา และรักษาเมล็ดพันธุ์ด้วยการปลูกปีต่อปี เรียกชื่อต่างๆ กันไป ถั่วแฮ มะแฮะ ถั่วแระ ถั่วแม่ตาย ถั่วแรด มะแฮะต้น ถั่วแฮ่ ส่วนใหญ่กินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ภาคอีสานกินกับเมี่ยงข่า ปลาร้าสับและนิยมนำมาตำเหมือนส้มตำ ยังไม่นิยมรับประทานเมล็ดแห้งมากนัก
หากมีการส่งเสริมอย่างจริงจังถั่วมะแฮะมีศักยภาพในฐานะแหล่งโปรตีนที่ทดแทนถั่วเหลืองได้ อีกทั้งมีข้อดีคือมีไขมันในปริมาณที่ต่ำกว่า สำหรับการแปรรูปเป็นเครื่องดื่มน้ำเต้าหู้ถั่วมะแฮะก็ไม่มีกลิ่นเต้าหู้อย่างถั่วเหลือง นอกจากนั้นยังสามารถนำมาเพราะเป็นถั่วงอก ผลิตเป็นแป้งถั่วมะแฮะและทำวุ้นเส้นถั่วมะแฮะได้อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ส่งเสริมการผลิตยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างที่ไม่สร้างแรงจูงใจด้านการตลาด เช่น ขนาดต้นที่ใหญ่ อายุในการให้ผลผลิตช้าและให้ผลผลิตต่ำกว่าถั่วเหลืองซึ่งได้รับการปรับปรุงพันธุ์ให้อายุสั้นได้ผลผลิตจำนวนมาก แต่หากมองในมิติของความมั่งคั่งทางอาหารแล้วถั่วมะแฮะเป็นของขวัญล้ำค่าที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์
ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างคนที่ส่งเสริมการบริโภคถั่วชนิดต่างๆ อย่างหลากหลาย กินอาหารที่ปลอดภัยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สุขภาพและเป็นธรรมต่อคนในสังคม เนื่องจากความนิยมที่ขาดความเข้าใจนำไปสู่การพยายามปรับเปลี่ยนระบบซึ่งธรรมชาติได้จัดสรรไว้แล้ว อาจเกิดการดัดแปลงพันธุกรรมให้ถั่วมะแฮะให้ผลผลิตมากและใช้เวลาปลูกน้อย สามารถแข็งขันกับถั่วอื่นๆ ในท้องตลาดได้ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการทำลายคุณสมบัติตามธรรมชาติของมันจนเรามองข้ามความสำคัญของถั่วชนิดอื่นๆ อย่างที่เรามองข้ามถั่วมะแฮะและอาจนำไปสู่การผูกขาดเป็นเจ้าของโดยพ่อค้า นายทุนซึ่งเห็นช่องทางหาผลประโยชน์
ดังนั้นหากเราต้องการสร้างความยั่งยืน มั่งคั่งทางอาหารแล้วละก็ เราควรเรียนรู้ธรรมชาติของถั่วชนิดต่างๆ ว่าดีต่อร่างกายอย่างไร ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ที่ถูกต้องแล้วระบบนิเวศที่สมดุลย์ย่อมมีพื้นฐานมาจากชีวิตที่หลากหลายและมนุษย์ควรได้รับประทานอาหารที่หลากหลายเพียงพอ เพื่อความแข็งแรงตามธรรมชาติมิใช่หรือ
ที่มา : วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ