ถ้า…ฉันจะเป็นชาวนา

“หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” เป็นคำนิยามถึงคนที่ประกอบอาชีพชาวนาได้อย่างชัดเจนที่สุด

ทว่า แม้จะมีความเหนื่อยยากอยู่ในถ้อยคำ แต่คนยุคนี้กำลังเดินทางไปทำความรู้จักกับอาชีพ “กระดูกสันหลังของชาติ” นั้นอย่างไม่เกรงกลัวต่อความเหน็ดเหนื่อยใดๆ

……………..

“ตอนเจ้าหน้าที่ส่งรายละเอียดมาให้ดู บอกว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เราก็เฮ้ย….ปลูกข้าวแค่ 3 เดือนมันจะได้ผลผลิตเหรอ เพราะเราคิดเองมาตลอดเลยว่า ข้าวต้องใช้เวลาปลูกนานเป็นปี แต่นี่ 3 เดือน ก็เพิ่งมารู้ว่า จริงๆ มันไม่ได้รอนาน ส่วนเรื่องการทำนาจะยากมั้ย ในใจคิดว่า มันคงต้องยากมาก”

เสาวลักษณ์ เดชาพานิชกุล สารภาพถึงความรู้ที่มีแบบกระท่อนกระแท่นเกี่ยวกับการปลูกข้าว ก่อนจะเดินทางไปเข้าร่วมโครงการ “ปลูกข้าวกินเอง” ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดขึ้น

“จะได้ทำนาจริงๆ แล้ว” เสาวลักษณ์บอกอย่างตื่นเต้น เพราะนี่ถือเป็นครั้งแรกที่คนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดอย่างเธอจะมีโอกาสได้ลงไปสัมผัสกับผืนนา สถานที่อันเป็นต้นทางแห่งการผลิต “อาหาร” ของคนไทยและคนทั่วโลก

ไม่ใช่แค่เสาวลักษณ์คนเดียวเท่านั้นที่อยากลองทำนา ทว่า ยังมีคนในเมืองใหญ่อีกจำนวนไม่น้อยที่ใฝ่ฝันว่า สักวัน “ฉันจะเป็นชาวนา”

1.) ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองหลวงดึงดูดให้คนในชนบท (หนี) ออกจากบ้าน เพื่อเดินทางเข้ามาหาขุมทรัพย์ใหม่ให้ชีวิต จนเหลือแต่คนแก่และเด็กรับหน้าที่เฝ้าบ้าน  “ชาวนา” เป็นอาชีพที่ใครๆ ก็มองผ่าน เพราะไม่ได้มีความสง่างามในการใช้ชีวิต

ต่อเมื่อสังคมเมืองเติบโตจนเกินขนาด เกิดสภาพแออัดเกินจะรับไหว กระแส “คนเมือง (หนี) ออกจากบ้าน” จึงเกิดขึ้นบ้าง และพฤติกรรมที่ดูจะคล้ายกันมากๆ นั่นก็คือ การหนีไปหาธรรมชาติ คราวนี้ “ชาวนา” กลับเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่หลายๆ คนให้ความสนใจ แต่ถามว่า จะหันไปประกอบอาชีพชาวนาเลยหรือไม่ อาจยังมีความไม่มั่นใจในคำตอบ

กิจกรรมเชื่อมโยงคนเมืองหลวงเข้ากับสังคมภาคเกษตรในรูปแบบของ “การเรียนรู้ด้วยตนเอง” หรือ “การเวิร์คชอป” จึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยตอบโจทย์ความต้องการของคนในกระแสหลัก และหนึ่งกิจกรรมที่กำลังได้รับความสนใจ นั่นก็คือ “โครงการปลูกข้าวกินเอง” ที่ดำเนินการโดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า พระนครศรีอยุธยาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ เพราะมีพื้นที่เกษตรเกือบ 2 ล้านไร่ ทว่า ปัจจุบันการทำนาประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจการทำนา ทำให้ประชากรชาวนาลด จำนวนลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวที่มีคุณภาพและปลอดภัย โครงการปลูกข้าวกินเองจึงเกิดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนกรุงเทพมหานครและส่วนต่างๆ ได้หันมาสนใจอาชีพชาวนา และได้ลงมือ “ทำนา” เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยไว้บริโภคเอง

“ทุกวันนี้สิ่งที่ประชาชนคาดหวังก็คือ ต้องการผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษ เพราะฉะนั้นวิธีที่จะให้แน่ใจว่า สิ่งที่เขาจะบริโภคนั้นปลอดสารพิษจริง นั่นก็คือ เขาควรจะลงมือทำเอง ให้เขาได้รู้ว่า การผลิตข้าวที่เป็นรายได้หลัก เป็นสินค้าที่ทำชื่อเสียงให้ประเทศไทยนั้น กระบวนการเพาะปลูกมันยุ่งยาก มันเหนื่อยแค่ไหน เขาจะได้รู้คุณค่าของข้าว ถ้าข้าวแพงขึ้นไปอีกหน่อยเขาก็จะได้ อืม…ไม่เป็นไร เพราะมันผลิตยาก” ผู้ว่าฯ วิทยา อธิบาย

โครงการนี้รับสมัคร “ชาวนามือ สมัครเล่น” ที่เป็นคนเมือง (หลวง) เข้ามาเป็นสมาชิกโครงการ โดยทุกคนจะได้รับที่นาคนละ 1 ไร่ เพื่อใช้เพาะปลูกด้วยตนเอง เสียค่าใช้จ่ายตลอดโครงการราว 8,000 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรม (ทำนาออร์แกนิค) และค่าท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีก 4 ครั้ง ที่สำคัญเมื่อจบโครงการทุกคนก็จะได้รับข้าวสารจากแปลงนาของตัวเองกลับบ้านไป อีกคนละ 15 ถัง หรือ 225 กิโลกรัม นับว่าเป็นการลงทุนทำกิจกรรมที่คุ้มแสนคุ้ม

“เป็นใครก็ได้ที่อยากเรียนรู้เรื่องการทำนา แต่ส่วนใหญ่ที่สมัครมาจะเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยทำนา บางคนไม่เคยรู้เลยว่า ข้าวที่กินมันมีที่มาจากไหน ยังไง ทำไมเกษตรกรถึงลำบาก เมื่อเขาได้มาลงมือทำ เขาได้รู้คุณค่าของการทำนา สมมติข้าวจำเป็นต้องขึ้นราคาเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ เขาก็จะเข้าใจว่า ทำไมต้องขึ้นราคา เพราะเขาเคยผ่านกระบวนการผลิตมาแล้ว เขารู้ว่ามันเหนื่อย มันลำบาก มันร้อน มันยาก มันเสี่ยงที่จะโดนภัยธรรมชาติ มันเสี่ยงที่จะหว่านไปแล้วไม่ได้ผลอย่างที่อยากได้หรือตั้งใจ โครงการนี้จะสอนให้เขาเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรกรอย่างแท้จริง”

ผู้ว่าฯ วิทยา ย้ำว่า โครงการปลูกข้าวกินเองไม่ได้มุ่งหวังให้คนเมืองเปลี่ยนอาชีพของตัวเองมาเป็น เกษตรกร แต่เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจชีวิตเกษตรกร ซึ่งเป็นชีวิตอีกด้านที่คนเมือง (ส่วนใหญ่) ไม่เคยสัมผัส นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีการผลิตข้าวแบบปลอดสารพิษ เพื่อเป็นพื้นฐานในการผลิตพืชผักปลอดสารพิษอื่นๆ ได้อีกมากมาย

2.) อาจเพราะสังคมเมืองหลวงที่ค่อนข้างยุ่งเหยิงวุ่นวาย ชีวิตบั้นปลายแสนสบายในไร่นาจึงกลายมาเป็นความใฝ่ฝันของคนส่วนใหญ่ที่อาศัย และใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ตรี วงศ์วิทวัส หนุ่มเมืองกรุงวัย 30 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่ฝันอยากมีชีวิตในบั้นปลายแสนสงบ ทว่า ณ วันนี้เขายังไม่แน่ใจเลยว่า สิ่งที่วาดฝันไว้นั้นจะสามารถเป็นไปดั่งใจนึกหรือเปล่า

“ผมอยากไปอยู่บ้านนอก ผมว่ามันสงบเงียบดี” ตรี บอก ทั้งๆ ที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าชีวิต “บ้านนอก” จริงๆ นั้นเป็นเช่นไร

“ถามว่ามันเป็นความคิดที่โรแมนติกเกินไปมั้ย ผมว่ามันก็คงโรแมนติกแหละ ผมเลยพยายามหาช่องทางทำให้มันเป็นเรื่องจริง” หนุ่มวัย 30 หมายถึงการเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวกินเอง ซึ่งเขามีโอกาสชวนคุณพ่อ-คุณแม่ที่ไม่เคยสัมผัสชีวิตชาวนาได้มาร่วมทำความรู้จักกับอาชีพชาวนาเป็นครั้งแรกในชีวิต

ไม่ต่างจาก เสาวลักษณ์ เดชาพานิชกุล พนักงานบริษัทเอกชนสาววัย 35 ปี ที่มีความชื่นชอบธรรมชาติเป็นทุนเดิม แต่ยังไม่เคยลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวเลยสักครั้ง เมื่อสบโอกาสเหมาะเธอจึงยืนยันที่จะเข้าร่วมโครงการอย่างหนักแน่น

“การทำงานในกรุงเทพฯ หรือในบริษัท มันไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตอย่างที่เราต้องการ มันเป็นเพียงแค่ pattern ที่เราต้องก้าวเดิน แต่ชีวิตของเรา เราอยากอยู่เอง กินเอง อยากมีวงจรชีวิตที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งธรรมชาติมันเป็นสิ่งที่แน่นอน ก็คิดว่าบั้นปลายอยากมีสวนเกษตรที่ปลูกพืชหมุนเวียน ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี เก็บสิ่งนั้นมากินเก็บสิ่งนี้มาใช้ ไม่ต้องซื้อเลยได้ก็คงดี”

แม้จะเพิ่งสนใจเรื่องราวทางการเกษตรมาได้ไม่นาน แต่เสาวลักษณ์ก็ยืนยันว่า จะเอาจริงเอาจังกับวิถีทางเกษตร เพราะเธอมั่นใจว่า เกษตรสามารถเลี้ยงตัวเธอและทุกๆ คนได้

“ทุกวันนี้คนกำลังกลับไปจุดเดิม จากเทคโนโลยีกลับไปสู่ธรรมชาติ กลับไปสู่ชีวิตที่ต้องพึ่งพาและอยู่กับธรรมชาติอีกครั้ง และการที่คนเมืองเดี๋ยวนี้จะหันมาเป็นชาวนา มันก็มาจาก inside ที่มีความตั้งใจเป็นตัวตั้ง โอเคมันเป็นกระแส แต่การกระทำของเราจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เราทำจริงมั้ย”

ด้าน จินตนา กลิ่นสุคนธ์ วัย 56 ปี ที่เกิดและเติบโตอยู่ริมคลองบางกอกน้อย แสดงทัศนะถึงอาชีพชาวนาว่า ชาวนาเป็น อาชีพที่ต้องอาศัยความอดทน และมีการดำเนินชีวิตที่ยากลำบาก ต่างจากอาชีพอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง นับวันคนที่ประกอบอาชีพนี้มีแต่จะลดลง ในขณะที่ “ข้าว” ซึ่งเป็นผลผลิตจากชาวนากลับมีความสำคัญต่อสังคมโดยรวม

“ข้าวเกี่ยวข้องกับทุกๆ อย่างทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม พี่สนใจเรื่องนี้ก็พยายามศึกษาค้นคว้า พอค้นไปเรื่อยๆ ก็พบว่า เรื่องของข้าวมีการเมืองเข้ามาแทรกเยอะมาก อย่างเรื่องคลองชลประทาน ใครขุดคลอง 2 ฝั่งคลองนั้นก็เป็นเจ้าของที่ดิน ชาวนาที่ ใช้น้ำเป็นได้แค่เพียงผู้เช่า ข้าวมีความสำคัญมากจริงๆ การมาร่วมโครงการครั้งนี้พี่ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่อยากเห็นผลผลิตของตัวเอง และเก็บข้อมูลสำหรับการเขียนหนังสือ “ข้าวกับชาวนาไทย” ที่พี่พยายามจะเขียนให้เสร็จ”

3.) ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่คนเมือง (หลวง) ส่วนใหญ่เริ่มหันไปสนใจอาชีพชาวนานั้นเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งในสายตาของผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการเกษตรไทยมายาวนานอย่าง วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เห็นว่า การผลิตอาหารเพื่อบริโภคเองเป็นเรื่องที่ดี และเป็นแนวโน้มที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ

“ปลายปี 2551 เป็นต้นมา วิกฤตอาหารมีผลกระทบไปทั่วโลก ในอเมริกาหรือญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่ผู้บริโภคทั่วไปหันมาผลิตอาหารเอง อย่างอเมริกามีครอบครัวที่ผลิตอาหารเองเพิ่มมากขึ้น 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ผมมองว่า การหันไปผลิตเองมันสะท้อน 2 ด้าน ด้านหนึ่งตอบสนองเรื่องเศรษฐกิจของคนโดยทั่วไป ถ้าไปดูตัวเลขค่าใช้จ่ายครัวเรือนของคนไทย ค่าใช้จ่ายด้านอาหารสูงมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ เลย เพราะฉะนั้นการที่คนหันมาสนใจผลิตเองมันสะท้อนถึงการปรับตัวเรื่องการผลิต อาหารของโลก ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

อีกด้านคือ กระแสสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่เห็นได้ชัดมาก กระแสนี้มันแทรกเข้าไปอยู่กับคนรุ่นใหม่ มันมีนัยของการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม…ปัญหาผลผลิตทางการเกษตร ปัจจุบันมีสารพิษตกค้าง มันคือเรื่องของสุขภาพ และสำคัญกับตัวเอง เมื่อเราจัดการกับสิ่งตกค้างในตัวเองได้ มันก็จะมีหลักประกันสุขภาพที่ดี”

เพราะฉะนั้นการที่คนเมือง หรือคนส่วนใหญ่หันไปทำการเกษตรปลอดภัยตัวเอง จึงได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการใกล้ชิดกับธรรมชาติ และเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับภาคเกษตรที่เคยห่างเหินมาแสนนานได้

“ระยะยาวน่าจะดี ต่อเกษตรกรด้วย เพราะการที่คนในเมืองหันไปสนใจเกษตร ทำความเข้าใจเกษตรกร มันจะมีผลต่อการปฏิรูปการเกษตร หรือนโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้เราเข้าใจสังคมเกษตร และร่วมมือกันสร้างประเทศให้สมดุล” วิฑูรย์ สรุป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 9 พฤษภาคม 2555 โดย : นิภาพร ทับหุ่น http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20120509/450712/ถ้า…ฉันจะเป็นชาวนา.htm

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post

ตลาดสด ตลาดนัด ความสำคัญต่อปากท้องของคนไทย

ผลสำรวจตลาดสดหลายแห่ง พบว่ารูปแบบการจัดการตลาดยังคงเป็นแบบดั้งเดิม ในขณะที่บางตลาด มีการนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประกอบการจัดการตลาด

Read More