ประเทศไทยทำนาปลูกข้าวมาแต่โบราณ เพราะเรากินข้าวเป็นอาหารหลักแทบทุกมื้อ
แต่เมื่อการทำนาถูกเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไว้กินในครอบครัว มาสู่การปลูกเพื่อการค้า เน้นปริมาณเป็นสำคัญ ชาวนาเปลี่ยนมาทำนาข้าวปรับปรุงพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง แทนการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ให้ผลผลิตต่ำกว่า ปลูกได้เพียงหนึ่งครั้งในรอบปี ผืนนากว้างใหญ่ทั่วประเทศจึงมีแต่ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ส่วนข้าวพื้นเมืองทั่วประเทศกว่า 5,928 สายพันธุ์ กำลังจะสูญหายไปและถูกลืมไปจากผืนนา
ข้าวสังหยด ข้าวเล็บนก ข้าวหัวนา ข้าวไข่มดริ้น ข้าวนางหงส์ดำ ข้าวยอดม่วง ข้าวจมูกมูสังข์ ฯลฯ ชื่อพันธุ์ข้าวแปลกหูนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัด พัทลุงที่เกือบจะตายไปกับวันเวลา และการเปลี่ยนแปลงของโลกการค้า
น่ายินดีที่การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวเหล่านี้มีขึ้นจริงจังที่ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง โดย จักรกฤษณ์ และ นลินี สามัคคี สองสามีภรรยา ร่วมด้วยชาวบ้านใน อ.บางแก้ว ที่รวมตัวกันในนามศูนย์บ้านเรียนรู้เกษตรธรรมชาติบางแก้ว รวมทั้งเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์เพาะ ขยายถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำนาแบบดั้งเดิม เปิดโอกาสให้ผู้สนใจและเด็กๆ ในชุมชนเข้ามาเรียนรู้
น้องจ๋า ด.ญ.วิภารัตน์ เทพวัน อายุ 12 ปี เด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลบางแก้ว ใช้เวลาว่างมาเรียนรู้ที่ศูนย์ ในวันหยุดเป็นประจำ
“ได้เรียนรู้หลายอย่างค่ะ เช่น ถอนกล้า ดำนา รู้จักพันธุ์ข้าว สีข้าวกับครกสีข้าวพื้นบ้าน หนูชอบสีข้าวที่สุดค่ะ เพราะได้ออกกำลัง ออกแรงหมุนกับเพื่อน สนุกค่ะ”
ส่วนเรื่องพันธุ์ข้าว น้องจ๋าเล่าความหลากหลายของพันธุ์ข้าวในบ้านเกิดให้ฟังว่า
“ข้าวสังหยดจะมีสีแดง เนื้อขุ่น ข้าวเข็มทองรูปร่างจะเหมือนข้าวสังหยดค่ะ คือเรียวยาว ปลายงอน แต่เมล็ดข้างในของข้าวเข็มทองจะมีสีเหลือง ข้าวขืนดินจะมีเปลือกสีดำเหมือนสีดินค่ะ ข้าวนกก็จะมีเมล็ดสั้นๆ ป้อมๆ ค่ะ”
ส่วนพันธุ์ข้าวที่คนบางแก้วภูมิใจกันนั้นคือพันธุ์ใด น้องอิง ด.ญ.ฐิตาพร กีสะบุตร อายุ 12 ปี เล่าว่า
“ข้าวที่ขึ้นชื่อของบางแก้วต้องข้าวสังหยดค่ะ ถือเป็นสัญลักษณ์ของบางแก้ว ข้าวสังหยด ข้าวหอมจันทร์ ข้าวไข่มดริ้น ข้าวหัวนา จะมีช่วงเวลาการดำนาไม่เท่ากัน เพราะข้าวแต่ละพันธุ์ใช้เวลาเติบโตไม่เท่ากัน ข้าวสังหยดใช้เวลา 5 เดือนครึ่ง จะเก็บเกี่ยวประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ค่ะ”
เฉพาะแค่พันธุ์ข้าวที่เด็กๆ เล่า ก็ทำให้ทราบลักษณะเฉพาะของพันธุ์ข้าวไทยแต่ละพันธุ์ว่าหลากหลายเพียงใด เมล็ดมีทั้งเล็กและใหญ่ เรียวยาว ป้อมสั้น สีสันของเปลือกก็มีทั้งสีเหลือง สีน้ำตาลอ่อน สีดำ ช่วงฤดูการหว่านดำเก็บเกี่ยวก็ยังแตกต่างกันด้วย
ความหลากหลายของข้าวพันธุ์พื้นเมืองนี้ เกิดจากพันธุกรรมของแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกัน เพราะแต่ละภาคของไทยแตกต่างกันในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวจึงเกิดจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ และการคัดเลือกของชาวนาในอดีต
ข้าวสังหยดเป็นข้าวพื้นเมืองลุ่มทะเลสาบพัทลุง ปลูกได้เฉพาะนาปี ฤดูกาลหนึ่งปลูกได้หนึ่งครั้ง มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีเมล็ดสีแดง หอม เหนียวนุ่ม รสอร่อย ย่อยง่าย
ในอดีตข้าวสังหยดเคยเป็นสินค้าส่งออกไปขายมาเลเซีย เป็นของกำนัลสร้างชื่อให้อำเภอบางแก้ว ไม่ว่าข้าวสังหยดจะถูกนำไปปลูกที่ไหน ก็อร่อยสู้สังหยดที่บางแก้วไม่ได้ ด้วยลักษณะภูมิประเทศดี มีปุ๋ยและดินดี
จักรกฤษณ์ สามัคคี เล่าภูมิปัญญาของชาวนาบางแก้วกับการใช้ปุ๋ยจากธรรม ชาติ เอื้อให้ข้าวสังหยดเป็นข้าวเลื่องชื่อว่า
“ชาวนาในบางแก้วจะใส่ “มายา” ซึ่งก็คือปุ๋ยที่ได้จากมูลค้างคาวและมูลสัตว์อื่นๆ เช่น ไก่ หมู วัว ควาย เมื่อถอนกล้าเสร็จแล้วชาวนาจะจุ่มหัวกล้าในมายา เพื่อเร่งให้รากเจริญเติบโต สมัยก่อนปุ๋ยธรรมชาติจะมากับน้ำในเดือน อ้าย เพราะภาคใต้จะมีฝนตกชุกในเดือนอ้าย ปุ๋ยจากธรรมชาติจะไหลจากต้นน้ำตะโหมดมาสะสมในที่ราบลุ่ม ดินตะกอน ทับถมนานวันทำให้ดินดีอุดมสมบูรณ์ ข้าวสังหยดบางแก้วจึงอร่อยโดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี”
การอนุรักษ์ข้าวสังหยดไม่เพียงช่วยให้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองไม่หายไปจากผืนนา เมืองพัทลุง จังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของภาคใต้เท่านั้น แต่ทางศูนย์แห่งนี้ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำนาแบบดั้งเดิม โดยยึดหลักเกษตรธรรมชาติด้วย
นลินี สามัคคี เล่าแนวคิดการปลูกข้าวเพื่อคน เพื่อท้องนาว่า
?
“เราผลักดันให้ชาวนาที่บางแก้ว และกลุ่มเครือข่ายในอำเภอเขาชัยสน ควนขนุน ป่าพะยอม หันกลับมาทำนาแบบดั้งเดิม ไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยยาสารเคมี โดยใช้ปุ๋ยจากมายา ปุ๋ยจากน้ำหมักชีวภาพ การใช้เคมีนอกจากจะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ยังทำให้ข้าวสังหยดมีรสเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม เป็นอันตรายต่อทั้งคนปลูกและคนกิน”
ข้าวสังหยดนาอินทรีย์แม้จะเติบโตช้า ให้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 300-350 กิโลกรัมต่อไร่ เทียบกับข้าวสังหยดที่ปลูกด้วยปุ๋ยเคมีที่ให้ผลผลิตมากถึง 400 กิโลกรัมต่อไร่ แต่กลุ่มเกษตรธรรมชาติบางแก้วก็พอใจกับแนวทางของตน เพราะเป็นวิถีการอนุรักษ์อย่างปลอดภัย
ต้นฤดูฝนของภาคใต้ ในเดือนกันยายน กล้าข้าวต้นอ่อนพร้อมแล้วสำหรับการปักดำ สมาชิกชาวนาและลูกหลานช่วยกันลงแขกดำนา หนึ่งมือปักหนึ่งมือโอบ ทีละแถวสองแถวจนเต็มนา
ด.ญ.อุบลรัตน์ ดวงแก้ว หรือ น้องแพร อายุ 10 ขวบ ก้มหน้าก้มตาปักดำ โดยดูแบบจากผู้ใหญ่ ร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งใจดูวิธีดำนาที่ถ่าย ทอดจากผู้ใหญ่ มือน้อยๆ ช่วยปักดำต้นกล้า ทำให้เข้าใจและเห็นค่าของข้าวที่กิน
“กว่าจะได้ข้าวมากิน เหนื่อยค่ะ รอจนอีก 5 เดือนก็ได้กินข้าวสังหยดแล้วค่ะ”
“คนบางแก้วทำนาแบบเกษตรธรรมชาติ มาจากปุ๋ยมายา ปุ๋ยธรรมชาติ ทำให้ข้าวสังหยดหอมอร่อย เราต้องช่วยอนุรักษ์พันธุ์ข้าวสังหยด ข้าวพื้นเมืองของเรา โดยช่วยกันปลูกให้เยอะๆ”
ในบรรดาข้าวพื้นเมืองภาคใต้มีพันธุ์ข้าวหลายพันธุ์ที่ยืนหยัดผ่านวิกฤตข้าว มาจนถึงปัจจุบันอย่างน่ายินดี นอกจากข้าวสังหยดแล้วจะมีชนิดพันธุ์ใดอีกบ้าง
เรียนรู้ร่วมกันในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน ทุ่งนาของเรา…มีข้าวสังหยด วันเสาร์ที่ 24 ต.ค. เวลา 06.25 น. ทางช่อง 3 www.payai.com
ที่มา : สดจากเยาวชน | ข่าวสด? 23 ต.ค. 52