ท่องเที่ยวโดยชุมชน? ทางเลือกสู่การแก้วิกฤติโลก

วิกฤติโลกทั้งด้านอาหาร และการใช้ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกต้องปรับตัว เพื่อ ป้องกันหายนะจากการทำลายสภาพแวดล้อม และภาวะโลกร้อน คำว่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์, การท่องเที่ยวเชิงเกษตร, การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ, การท่องเที่ยวเพื่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ฯลฯ จึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่เข้ามามีบทบาทเป็นเครื่องมือพัฒนาคนและชุมชน ยังทำให้เกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism CBT) ซึ่งเปรียบเหมือนสะพานเชื่อมโยงคนต่างวัฒนธรรมให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่ง กันและกัน มีการเผยแพร่ สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่นักท่องเที่ยวเรื่องการจัดการทรัพยากรโดย ชุมชน รวมทั้งการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ชาวบ้านมีส่วนร่วม-จัดการทรัพยากรโดยคนภายในชุมชน

นายพรหมมินทร์ พวงมาลา หัวหน้าโครงการวิจัยการค้นหาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแม่กำปอง กิ่ง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เล่า ถึงวิธีการจัดการว่า เนื่องจากชุมชนแม่กำปอง มีเนื้อที่ 3,000 ไร่ ตั้งอยู่บนภูเขา และส่วนหนึ่งเป็นผืนป่าขนาด 6 ตารางกิโลเมตร รอบบริเวณมีต้นน้ำลำธารขุนน้ำแม่กวง จึงจัดการไปใน 3 แนวทางควบคู่กัน คือ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ, อนุรักษ์ทรัพยากรและวิถีชุมชน ที่มีการทำเมี่ยงและชา, ทำผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนจำหน่าย อาทิ กลุ่มนวดแผนไทย ไกด์ท้องถิ่น กลุ่มศิลปวัฒนธรรม กลุ่มช่างฟ้อน กลุ่มนักดนตรี กลุ่มประดิษฐ์บายศรี กลุ่มแม่บ้านแปรรูปหมอนใบชา รวมทั้งรับสมัครบ้านที่พร้อมเป็นที่พักนักท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เพื่อพัฒนาหมู่บ้าน และให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

กระทั่ง ชาวบ้านเริ่มเข้าใจรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเปิดรับนักท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2543 หากการพัฒนาองค์ความรู้ของคนในชุมชน ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น และวิถีชีวิต ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนเกิดความตื่นตัว และตระหนักว่าการท่องเที่ยวยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องไม่ไหลไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่เน้นปริมาณนักท่องเที่ยว หรือรายได้ แต่มาจากความเข้มแข็งของชุมชน ในการคงไว้ซึ่งภูมิปัญญา ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติ

สิ่ง ที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ภายหลังจากที่ชาวบ้านร่วมกันทำวิจัย จนสามารถดำเนินการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้ ก็คือชาวบ้านสามารถรวบรวมพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ พืชสมุนไพร ไม้ดอกที่มีคุณค่าอย่างดอกเอื้องดิน ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาตามวิถีชีวิตของชุมชน มีการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน และนำองค์ความรู้ไปต่อยอดพัฒนาสู่รูปแบบการท่องเที่ยวภายใต้การจัดการของคน ในชุมชนอย่างเป็นระบบ นักวิจัยรายเดิม กล่าว

ชูวิถีชีวิต-ท้องถิ่นนิยม เป็นจุดขาย

นาย จักร กินิสี หัวหน้าโครงการวิจัยรูปแบบการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ ที่เชื่อมโยงกับองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของนกในเขตอุทยานแห่งชาติอิน ทนนท์ อธิบายว่าโดยเนื้อแท้แล้วการท่องเที่ยวเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน สิ่งที่ยั่งยืนคือวิถีชีวิต ฉะนั้นหากชุมชนหรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลงทาง มุ่งปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อเอาใจนักท่อง เที่ยวที่มาพร้อมกับกระแสทุนนิยม การท่องเที่ยวนั้นก็จะไม่ยั่งยืนและล่มสลายไปในที่สุด

เช่นเดียวกับ นายนพพร นิล ณรงค์ ที่ปรึกษาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ย้ำว่ากระแสทุนนิยมที่รุกเข้าสู่ชุมชนและสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้ความสุขของคนเราลดลง? และมองข้ามรากเหง้าของตน เอง ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เครื่องแต่งกายประจำถิ่น หรือเผ่าต่างๆ เดิมเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้สวมใส่ภาคภูมิใจ แสดงถึงความมีอารยธรรมของท้องถิ่น และมักจะเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ตลอดจนความเป็นอยู่ของชนถิ่นนั้นๆ หากปัจจุบันกระแสเสื้อยืด กางเกงยีนส์ ทำให้คนแต่งกายเหมือนกันหมด โดยหลงคิดว่าเท่ห์ จะย้อนกลับไปแต่งชุดประจำถิ่น ก็เพื่ออวดแขกบ้านแขกเมือง หรือนักท่องเที่ยวเท่านั้น

ถือว่าสวนทางกับการท่องเที่ยวกระแสหลัก ซึ่งจะเห็นว่าโรงแรมหลายแห่งมีความพยายามในการย้อนกลับไปหาอดีต ดึงจุดเด่นของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างตุง โคม หรือเครื่องใช้ไม้สอย มาประดับตกแต่งสถานที่ ทั้งที่ขาดความเป็นธรรมชาติ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีชุมชนใดที่สามารถจัดการท่องเที่ยวด้วยตนเองได้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือวิถีชีวิตประจำวัน มีความเรียบง่ายและเสน่ห์ในตัวเอง หากบริหารจัดการอย่างเหมาะสมก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าไปเยี่ยมเยือน ได้อย่างดียิ่ง

ความต่าง…ก่อเกิดคุณค่า-พลัง-ความสุข

นายพจนา สวนศรี ผู้ประสานงานสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน กล่าวว่าภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทุกวันนี้ ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป โดยนักท่องเที่ยวจะเดินทางท่องเที่ยวในเวลาสั้นลง เน้นท่องเที่ยวคนเดียวหรือเป็นกลุ่มย่อยๆ ต้องการท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดธรรมชาติเพื่อหลีกหนีชีวิตแบบจำเจ ที่สำคัญเป็นการท่องเที่ยวแบบไม่แพง ใช้เวลาในการเตรียมตัวก่อนเดินทางมากขึ้น

การท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่มีจุดเด่นคือชุมชนเป็นแหล่งข้อมูล หรือแหล่งเรียนรู้เอง มีวิถีชีวิตชุมชนที่เรียบง่ายเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง รวมถึงจัดการทรัพยากรบนพื้นฐาน 3 ประการ คือฐานการเรียนรู้และจัดการโดยชุมชน, ฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น, และฐานพิธีกรรม จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เพราะมีความแตกต่างกับการท่องเที่ยวกระแสหลักอย่างชัดเจน

การท่องเที่ยวโดยชุมชน จะเน้นคุณค่าของการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพชีวิต/การมีส่วนร่วมของชุมชน และสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากร ทำให้เกิดความยั่งยืนในการท่องเที่ยว ในขณะที่การท่องเที่ยวกระแสหลัก เน้นมูลค่าจากการท่องเที่ยว และตัวนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ตลอดจนอาศัยอำนาจเป็นเครื่องมือบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้นักท่องเที่ยว เสพสุข ทำให้ทรัพยากรเกิดความเสื่อมโทรม และไม่มีความยั่งยืน? ผู้ประสานงานสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน อธิบาย

นับได้ว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนโดยแท้ ทำให้ชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักท่องเที่ยว หนุนเสริมความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น ที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต และทรัพยากรของตนเองได้ ก่อให้เกิดคุณค่า พลัง และความสุขติดตามมาอย่างยั่งยืน

Relate Post