เครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการภาคประชาชนตำบลตำนาน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำ “โครงการอาหารสุขภาพจากผักพื้นบ้านชุมชนตำบลตำนาน” เพื่อศึกษารวบรวมและ ฟื้นฟูองค์ความรู้จากผักพื้นบ้าน พร้อมสนับสนุนให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญ และประโยชน์ของอาหารพื้นบ้านที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ
นางชุติมา เกื้อเส้ง หัวหน้าโครงการและประธานเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการภาคประชาชนฯ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในชุมชนพบว่าชาวบ้านป่วยเป็นโรคโดยไม่ทราบสาเหตุ ทุกคนมีแนวคิดอยากปลูกผักกินเองเพื่อป้องกันโรคภัยจากสารเคมีที่แฝงมากับ อาหารที่ซื้อจากตลาด แต่ชาวบ้านไม่มีความรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของผักพื้นบ้าน รวมถึงไม่รู้วิธีการปรุงอาหารจากผักเหล่านี้ เนื่องจากภูมิปัญญาในการประกอบอาหารท้องถิ่นถูกกลืนหายไปตามสภาวะเศรษฐกิจ ทางเครือข่ายจึงดำเนินงานแก้ปัญหานี้เพื่อให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญ พร้อมกลับมาปลูกพืชและปรุงอาหารจากผักพื้นบ้าน
โครงการนี้เริ่ม จากการสร้างชุดองค์ความรู้เพื่อให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของผักพื้นบ้าน โดยร่วมกับแกนนำชุมชนลงสำรวจผักพื้นบ้าน พบว่ามีผักพื้นบ้านมากถึง 126 ชนิด และยังพบด้วยว่าเป็นพืชผักริมรั้ว ซึ่งเป็นทั้งอาหาร สมุนไพร และยาเกือบทั้งหมด บางชนิดเกือบสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น ขี้พร้าไฟ ฟักข้าว หนามชิด ผักพื้นบ้านยังเชื่อมโยงกับสภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนและสภาพสังคม เพราะการเกษตรแผนใหม่ทำให้ผักพื้นบ้านหลายชนิดสูญหายไป
ด้าน นายสรรค์ อัศโรดร อายุ 66 ปี แพทย์พื้นบ้าน กรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ กล่าวว่า ผักพื้นบ้านส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะเป็นผักที่ขึ้นเองตามฤดูกาล ไม่ต้องปลูก ไม่ต้องลงทุนดูแลรักษา รวมทั้งไม่ต้องใช้ปุ๋ยสารเคมี แต่ปัจจุบันยังขาดการอนุรักษ์ และไม่เห็นความสำคัญจึงทำให้ผักพื้นบ้านถูกทำลายไป
“ปัจจุบันคนป่วย ด้วยโรคเบาหวาน ความดัน หลอดเลือดหัวใจกันมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการกินอาหารที่มันและหวานมากเกินไป โรคเหล่านี้ถ้าเข้าใจแล้วหันมากินเปรี้ยวให้มากกว่าอาหารที่มัน และกินอาหารพื้นบ้านจะช่วยรักษาอาการเหล่านี้ได้ เช่น น้ำพริกทุกชนิดจะมีมะนาว หัวหอม กระ เทียม พริกขี้หนู สมุนไพรเหล่านี้ช่วยละลาย ไขมัน เมื่อรวมกับวิตามินและเกลือแร่ที่เราได้จากผักเหนาะนานาชนิด เช่น สะตอ กระโดน ถ้าเรากินสม่ำเสมอจะช่วยได้ เพราะการกินอาหารพื้นบ้านตามที่ครอบครัวได้รับการถ่ายทอดมาแทบจะไม่ต้อง ศึกษาเรื่องโปรตีน คาร์โบ ไฮเดรตอะไรเลย เพราะภูมิปัญญาโบราณนั้นมีความสมดุลในธาตุต่างๆ ของร่างกายและอาหารอยู่แล้ว” นายสรรค์กล่าว
นางรมย์ เกื้อเส้ง อายุ 54 ปี แกนนำกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านหมู่ 13 ตำบลตำนาน เล่าว่า ทุกวันนี้ซื้อผักจากตลาดน้อยมาก ส่วนใหญ่จะไปเก็บผักพื้นบ้านจากริมรั้วซึ่งมีอย่างมากมาย ทั้งตำลึง ผักหวาน มะเขือ ซื้อเฉพาะวัตถุดิบที่จำเป็นและหาไม่ได้ในชุมชนเท่านั้น ส่วนมากคนในท้องถิ่นจะไม่ค่อยสนใจผักพื้นบ้านเพราะมันยุ่งยาก บ้างก็ขี้เกียจไปเก็บไปหา ซื้อเอาดีกว่าเพราะติดความสะดวกสบาย แต่การทำกับข้าวโดยใช้ผักพื้นบ้านจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวไปได้ ไม่ต่ำกว่าวันละ 50 บาท เวลาทำเสร็จก็จะอธิบายให้คนในครอบครัว ลูกหลานว่าผักพื้นบ้านที่นำมาทำกับข้าวในแต่ละวันนั้นมีประโยชน์อย่างไร บอกสรรพคุณให้เขาได้รู้เลยว่ากินแล้วมีประโยชน์อะไรบ้าง ปัจจุบันคนในหมู่บ้านเริ่มหันมาสนใจอาหารพื้นบ้านกันมากขึ้น
นาง งามจิตต์ จันทรสาธิต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวว่า ถ้าชุมชนหันมาสนใจปลูกผักพื้นบ้านแล้วพัฒนาตำรับอาหารหรือเมนูอาหารที่อาจ ต้องปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยบ้าง น่าจะจูงใจให้คนหันมาบริโภคผักพื้นบ้านกันได้มากขึ้น เพราะบางครั้งผักพื้นบ้านดีๆ คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้วว่ากินอย่างไรถึงจะอร่อย มีประโยชน์อะไร นำไปปรุงอาหารได้อย่างไร โครงการนี้จะส่งผลดีกับชุมชน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแต่ละชุมชน สิ่งที่ได้นอกเหนือไปจากการที่ชาวบ้านจะได้ฟื้นฟูรักษาตำรับอาหารพื้น บ้านกลับมาแล้ว ยังได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชนให้กลับคืนมาอีกด้วย
ที่มา : ข่าวสด 5 เม.ย. 53