เข้าสูปลายฝนต้นหนาว ในสวนผักของผม มันรกเขียวไปด้วยหญ้าขึ้นแทรกเต็มไปหมด แต่ต้นชะมวงก็เริ่มมีใบเขียวเป็นพุ่ม เป็นใบ เรียกว่ากำลังเข้าฟอร์มแข่งขันกับวัชพืชที่ไม่ได้เชื้อเชิญ
ต้นจิกม่วงที่พึ่งไปซื้อมาจากสวนของยายดีเมื่อสองปีก่อน ก็ตั้งตัวได้แล้ว อีกทั้งตะลิงปลิง ต้นมะกอก ผักเสี้ยน ก็ออกดอกออกผลกันทั่ว เดินย่ำไปในสวนช่วงนี้ดินมันนุ่มมาก ยังมีโซนว่างสำหรับผักโขมและกระทือ วันนี้ก็เลยไปหาซื้อพันธุ์จากสวนยายดีอีก
“ยาย มีกระทือมั้ยครับ” ผมถามยายดี
เป็นคนทางไหนนี่ รู้จักกระทือด้วย
ผมเขินไม่กล้าตอบ เพราะยายดีคงรู้ดีว่าต้นทางคำถามนี้มันต้องเป็นคนบ้านๆ หรือมาจากบ้านนอกแน่ๆ
“มา…ตามมาทางนี้” “กระทือ มี” ยายเอาหน่อมาจากบ้านที่พิจิตร
ยายดีในวัยเจ็ดสิบ ย้ายมาอยู่เชียงใหม่เกือบยี่สิบปีแล้ว มีอาชีพปลูกพืชผักพื้นบ้านขายตามตลาด
แกมีผักหลายชนิด นับจำนวนกว่าร้อยทีเดียว ทั้งเก็บไปขายบ้าง ปลูกไว้กินบ้าง ไว้ดูเล่น คู่บ้านคู่สวน รายได้จากการขายผักก็นำมาซื้อกับข้าว ค่าหยูกยา และเลี้ยงหลานอีกสามคน
กระทือของยายดี ปลูกเข้าแถวสลับกับต้นแคประมาณ 20 กอ ยายดีเล่าให้ฟังว่า กระทือกำลังจะสูญพันธุ์ไปพร้อมกับพืชผักอีกหลายชนิด เป็นพืชหายาก เพราะสมัย นี้ไม่มีใครนิยมปลูก ไม่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป หลังจากขิงและข่าพืชในตระกูลเดียวกันยึดตลาดและความต้องการของคนกิน
“เอ้ามีมั้ย…ไปร้านตามสั่ง สั่งผัดเผ็ดไก่ใส่กระทือ”
“ไม่มีครับ…มีแต่ไก่ผัดขิง”
“เออ…นั่นงัย”
แต่กระทือทำให้ยายกินข้าวได้ ไม่เบื่ออาหาร มีแรงทำงาน หั่นใส่ไปในแกงเผ็ดสักเง่า สักแง่งหนึ่ง รับรองอร่อย ยายดีเสิร์ชข้อมูล กูเกิลส่วนตัวของแกเอง พร้อมอธิบายสรรพคุณแบบเข้าใจง่าย ผมซื้อกระทือจากยายดี-สี่กอ พร้อมผักโขมอีกสามสี่ต้น ผักโขมนำยอดมาแกงเลียง ใส่ปลาย่าง หรือมาลวกจิ้มน้ำพริก ก็อร่อยไม่แพ้กัน
กระทือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingibr zerumbet (L.) Roscoe ex Sm.
รสขมและขื่นเล็กน้อย ขับลมแก้ปวดมวน แน่นท้อง แก้บิด บำรุงน้ำนม
เสร็จจากงานสวน บรรยากาศปลายฝนต้นหนาว ช่วงบ่ายๆ ก็ขับรถกันไปกับเพื่อนๆ สามสี่คนที่รีเควทกันมาหลายครั้งคราว่า เสาร์-อาทิตย์สักวัน อยากขับรถไปดูทุ่งหญ้าสีเขียวอ่อนที่แม่ริมให้เย็นตาสักหน่อย หลังจากเหน็ด เหนื่อยจากงานมาตลอดสัปดาห์ แต่ก็ไม่วายใครบางคนยังหอบงานมาทำต่อ เลยต้องหย่อนรากที่ร้านกาแฟวาวี titaGALLERY นั่งเหม่อมองน้ำในเหมือง ทุ่งหญ้าเขียวอ่อน กับทิวไผ่ สวนลิ้นจี่ ลำไย ไหล่เชิงดอยไปเรื่อย
ใครคนหนึ่งเสนอว่า
“หิวแล้ว อยากกินลาบ”
“น่าสนใจ เห็นด้วย” เสียงสนับสนุนไปแนวเดียวกัน
ก็เลยถอนรากก้นออกจากร้านกาแฟ เลี้ยวเข้าซอยหลังตลาด
สุดแม่ริมเข้าไปประมาณลูกอมละลายไม่ถึงครึ่งเม็ด ก็เจอลานจอดรถร้านลาบลุง เสาร์คำ เมนูนำเสนอ ลาบไก่ ลาบหมูคั่ว ลาบปลา ต้มยำปลา ไส้อั่ว ไส้ย่าง น้ำพริกข่า หันมองไปรอบๆ ลานบ้านเต็มไปด้วยหย่อมต้นผักพื้นบ้าน เช่น ผักเพี้ยฟาน ที่อ้ายไพฑูรย์ พรหมวิจิตร เคยบันทึกไว้ในเว็บไซต์ e-LANNA อีกทั้งผักแปม ต้นดีกระทิง ที่เป็นผักกินกับลาภ (บ) เป็นอะไรไม่รู้ชอบสะกดคำนี้ด้วยตัว ภ ทั้งที่มันก็อีกตั้งหลายวันกว่าหวยจะออก
มองไปในจานผักที่น้องเขายกมาเสิร์ฟ ก็มีหลายอย่าง ทั้งสะระแหน่ ถั่วฝักยาว แตงกวา ขิงขาวหั่นแฉลบพอดีคำ
“ถ้าอยากกินผักพวกนั้นก็ไปเก็บเอาคนเดียว ตามสบายเลย” ลุงเสาร์คำบอกลูกค้า ขณะนั่งเรียงบิลอยู่ในห้องครัว
“เป็นผักพื้นเมืองเฮา ปลอดสารพิษ กินดีมีประโยชน์”
ว่าแล้วลูกค้าก็เดินออกไปเก็บผักกันคนละกำมือมาวางสมทบกับผักตลาดที่ทางร้าน เตรียมไว้ก่อน แล้วลุงเสาร์คำในวัยเจ็ดสิบสองออกมาคุยกับลูกค้าอย่างเป็นกันเอง
แต่ก่อนลุงอยู่แผนกทำอาหาร ทำกับแกล้มให้เพื่อนฝูงที่ไปมาหาสู่กัน เพื่อนๆ ก็ติดใจในรสชาติ จึงช่วยกันเชียร์ให้เปิดร้านอาหารเป็นเรื่องเป็นราว หลังจากนั้นก็มีลูกค้าแวะมาอุดหนุนอย่างไม่ขาดสาย จนปัจจุบันเปิดมาได้ร่วมสามสิบปีแล้ว
ด้วยรสชาติอาหารพื้นเมืองที่ถูกปาก มีผักพื้นบ้านให้ลูกค้าได้ลิ้มชิม รส เดินไปเก็บตามใจชอบ แล้วราคาก็ไม่แพง แล้วลุงเสาร์คำยังแนะนำให้ได้รู้จักกับผักพื้นเมืองอีกหลายชนิด หลังจากอิ่มมื้อนี้คงต้องไปหาพันธุ์มาปลูกกันล่ะครับ ช่วงเช้าสวนผักยายดี ที่สันทราย พักเหนื่อยร้านกาแฟ ต่อด้วยลาบลุงเสาร์คำที่แม่ริม นับเป็นโปรแกรมที่คุ้มค่าจริงๆ
ที่มา: อาทิตย์เก็บตก..ซอดแจ้ง ธารรพี ชมพูพร ไทยโพสต์ 3 ตุลาคม 2553