บัวกว๊านบ้านเรา งามกลางพะเยา

ทุ่งดอกบัวหลวงสีชมพูกว้างใหญ่กินพื้นที่ริมฝั่งกว๊านพะเยาดูสวยงาม

นกน้ำหลายชนิดและฝูงปลาในกว๊านอาศัยทุ่งดอกบัวนี้เป็นบ้านและที่หลบภัย

นอกจากธรรมชาติจะพึ่งพากันและกัน ชาวบ้านริมกว๊านพะเยาก็ได้ประโยชน์จากทุ่งดอกบัวนี้เช่นกัน

ฝักบัวเริ่มแก่เป็นสีเขียวเข้ม เด็กๆ บ้านสันหนองเหนียว หมู่บ้านริมกว๊านพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา ชวนทุ่งแสงตะวันไปเก็บฝักบัวและไปเรียนรู้เรื่องบัวหลวงพร้อมกัน

“เก็บได้เยอะมั้ย” “ฝักนี้มีค้างคาวมากินด้วย” “ฝักนี้เก็บได้รึยังครับพ่อบูรณ์”

เด็กๆ ส่งเสียงถามไถ่เจื้อยแจ้วระหว่างที่พากันมาเก็บฝักบัวริมกว๊านกับ พ่อสมบูรณ์ บัวเทศ รองประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน และกลุ่มบัวสวนผสมเพื่อการท่องเที่ยวบ้านสันหนองเหนียว นอกจากจะพาเด็กๆ มาเก็บฝักบัวแล้ว พ่อสมบูรณ์ยังใจดีถ่ายทอดความรู้เรื่องบัวหลวง การอนุรักษ์ปลาและกว๊านพะเยาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วย

ก่อนจะมีทุ่งดอกบัวสีชมพูอวดดอกสวยๆ พ่อสมบูรณ์เล่าให้ฟังว่ากลุ่มประมงพื้นบ้านฯ และชาวบ้านริมกว๊านที่มีอาชีพประมง เคยประสบปัญหาเรื่องทรัพยากรปลาในกว๊านลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงของชาวบ้านเป็นอย่างมาก ดังนั้น กลุ่มประมงฯ จึงช่วยกันตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาขึ้นมา

payao2

“การตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่กว๊านเริ่มขึ้นเมื่อปี 2540 ทางกลุ่มเอาบัวมาลง เพื่อให้ปลาเข้ามาอาศัยและวางไข่ จากนั้นปลาก็เพิ่มจำนวนขึ้น ชาวประมงก็ไม่ต้องออกเรือไปหาปลาไกลๆ ฝักบัว ดอกบัว ใบ ราก ถือเป็นผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งที่เราได้รับจากบัวหลวง เช่น บางครั้งคนในกลุ่มเองจะเข้ามาเก็บฝักและดอกบัวไปขาย บางครั้งจะเก็บฝักบัวไปกินเล่น ส่วนดอกบัวจะเก็บไปบูชาพระ เรียกได้ว่าบัวหลวงนี้มีประโยชน์เยอะแยะเลยครับ” พ่อสมบูรณ์เล่า

น้องโอ๊ต ด.ช.ณัชนน มีทอง บอกว่าชอบกินฝักบัวเพราะมีรสหวานและกรอบอร่อยดี

“บัวในกว๊านพะเยานั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ทั้ง 2 แบบให้รสชาติต่างกันด้วย”

ในกว๊านพะเยามีความหลากหลายทางพืชพันธุ์ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและมนุษย์ บัวที่ขึ้นอยู่ในกว๊านพะเยาจึงมีทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์จากที่อื่นมาปลูก จนในที่สุดก็งอกงามผสมกลม กลืนกับพืชท้องถิ่น ชาวบ้านสามารถหาประ โยชน์จากการเก็บฝักและดอกบัวไปขาย

เมื่อได้ความรู้จากพ่อสมบูรณ์ในการเลือกฝักบัวของกินเล่นแสนอร่อยแล้ว น้องนน ด.ช.นนทวัฒน์ ใจจาน บอกเคล็ดลับให้ฟังว่า

“ฝักบัวที่แก่จัดจะมีสีม่วง ถ้ายังหนุ่มหรือยังอ่อนอยู่หน้าของฝักบัวจะเป็นสีเขียว ฝักที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปจะหวานมันกรอบอร่อย ส่วนเม็ดบัวถ้าก้นเป็นสีดำแล้ว ดีบัวจะขม”

ช่วงนี้กว๊านพะเยาแล้งจัด เด็กๆ เดินเก็บฝักและดอกบัวโดยไม่ต้องกลัวตกน้ำ ไกลออกไปเราสามารถมองเห็นรั้วไม้ไผ่ปักล้อมรอบเขตอนุรักษ์ภายในเนื้อที่ 20 ไร่เอาไว้ รั้วนี้สร้างขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ผักตบชวาไหลเข้ามาปิดท่าเรือประมงพื้นบ้าน และป้องกันไม่ให้ผักตบชวาเข้ามาในป่าบัว ไม่เช่นนั้นบัวหลวงจะสูญพันธุ์และน้ำอาจเน่าเสียได้

payao3

กว๊านพะเยาถือเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ รองจากบึงบอระเพ็ดและหนองหาร มีอาณาบริเวณกว้างถึง 12,831 ไร่ 1 งาน 26 ตารางวา หรือประมาณ 20.53 ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย 1.93 เมตร

ทะเลสาบขนาดใหญ่แห่งนี้มีฐานะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำใหญ่ที่สุดของระบบนิเวศลุ่ม น้ำอิงและภาคเหนือตอนบน มีแหล่งทรัพยากร ธรรมชาติที่สำคัญ มีความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เป็นถิ่นที่อยู่ ที่หากิน ที่วางไข่ และเลี้ยงลูกอ่อนของปลานานาชนิด รวมทั้งเรื่องราววิถีชีวิตผู้คนโดยรอบกว๊านพะเยาด้วย

เด็กๆ เติบโตได้เที่ยวเล่นริมกว๊านจนคุ้นเคย พวกเขารับรู้ถึงความผูกพันระหว่างผู้คนและกว๊านพะเยาเป็นอย่างดี วันนี้เด็กๆ ได้ใกล้ชิดซึมซับความสำคัญของการมีอยู่ของทะเลสาบน้ำจืดแห่งนี้มากขึ้นด้วย ฝักบัวหวานๆ และดอกบัวสวยๆ ที่ขึ้นอยู่ในกว๊านพะเยา

การได้เรียนรู้เรื่องบัวหลวงในวันนี้เป็นการปลูกความรัก และความผูกพันที่ยิ่งใหญ่ เพื่อให้พวกเขารักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนให้ยังคงหล่อเลี้ยงทุกชีวิตต่อไป

ติดตามรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน บัวกว๊านบ้านเรา เช้าวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม เวลา 06.25 น. ช่อง 3 www.payai.com

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

โดย ภัทรภร ยอดนครจง

ที่มา: ข่าวสดรายวัน 06 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7190