กรมประมงประสาน อย. แก้ฉลากปลาดอลลี่ หลังคนไทยถูกหลอกแท้จริงเป็นปลาสวายเวียดนาม
นางสมหญิงเปี่ยม สมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้ประสานงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อให้ปรับปรุงฉลากที่ระบุชนิดปลานำเข้าจากประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะปลาดอลลี่จากเวียดนาม ซึ่งแท้จริงแล้ว คือปลาสวาย ที่มีชื่อสายพันธุ์ว่าดอลลี่เท่านั้น ไม่ใช่ปลาดอลลี่ ที่เป็นพันธุ์ปลาที่ต้องนำเข้าจากเมืองหนาวแต่อย่างใด หลังมีผู้บริโภคหลายรายสอบถามมายังกรมประมงว่า ปลาดอลลี่ที่คนไทยนิยมบริโภคในปัจจุบัน เป็นปลาเมืองหนาวนำเข้าจริงหรือไม่ เนื่องจากตามร้านอาหารต่างๆ จำหน่ายในราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น
นางสาวนันทิยา อุ่นประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยหันไปบริโภคปลาชนิดใหม่ที่ขายตามท้องตลาด ซึ่งแปรรูปเป็นชิ้นเนื้อปลาแล่ และใช้ชื่อเรียกว่า”ปลาดอลลี่”แท้จริงแล้วปลาชนิดนี้ก็คือ ปลาสวายที่เลี้ยงในประเทศเวียดนามดังนั้นกรมประมงจึงขอเชิญชวนให้คนไทยหันกลับมาบริโภคปลาสวายซึ่งมีคุณภาพดี ราคาถูกในบ้านเราและไม่ถูกหลอกให้ซื้อปลาสวายจากเวียดนามในชื่อ “ดอลลี่” อีกต่อไป ทั้งนี้ประเทศเวียดนามผลิตปลาสวายที่เลี้ยงให้มีเนื้อสีขาวชมพูและตั้งชื่อว่า”ดอลลี่”นั้น เป็นการสร้างมูลค่าให้กับปลาสวาย โดยการใช้ชื่อนี้ทำให้คนไทยจำนวนมากเข้าใจผิดว่าเป็นปลาชนิดใหม่ ประกอบกับปลาสวายที่เลี้ยงในบ้านเราจะมีเนื้อสีเหลือง ไขมันมาก เพราะได้รับอาหารประเภทแป้งและไขมัน ซึ่งเป็นการผลิตแบบลดต้นทุน และเลี้ยงในบ่อขนาดใหญ่อย่างหนาแน่น ทำให้เศษอาหารที่ให้เหลือปลากินไม่หมดเกิดการเน่าเสียหมักหมมอยู่ก้นบ่อ ปลาที่เลี้ยงจึงมีกลิ่นคล้ายกลิ่นโคลน วิธีแก้ไขเพียงย้ายหรือถ่ายน้ำให้สะอาด 5-7 วันก่อนการจับก็จะหมดกลิ่นไม่พึงประสงค์นี้ ส่วนการเลี้ยงปลาสวายที่ให้เนื้อออกสีขาวชมพูเช่นเดียวกับปลาสวายของเวียดนามนั้น ไม่ยากสามารถทำได้โดยการให้อาหารที่เหมาะสมไม่มีไขมันมากเกินไป และเลี้ยงในที่น้ำถ่ายเทได้ดีสม่ำเสมอ ก็จะได้คุณภาพปลาสวายที่มีเนื้อขาวชมพูเช่นเดียวกับปลาสวายเวียดนามเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง http://food.spokedark.tv/2013/02/27/dolly/#.UXeJdIJf6U_ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 สิงหาคม 2554 http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/policy/20110804/403324/ประมลประสานอย.เพิกถอนฉลากปลาดอลลีเวียดนาม.html
ที่มารูป: http://www.horapa.com/content.php?Category=Inter&No=998
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”