กรมอนามัยเผยผักพื้นบ้านไทยอุดมด้วยสารอาหารป้องกันสารพัดโรค แถมรับประทานแล้วไม่อ้วน
นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการศึกษาผักพื้นบ้านในปี 2554 กรมอนามัยได้เก็บตัวอย่างผักพื้นบ้าน รวม 45 ชนิด จาก 4 ภาค ประกอบด้วยภาคกลาง 12 ชนิด ภาคเหนือ6 ชนิด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5ชนิด และภาคใต้ 22 ชนิด โดยศึกษาปริมาณสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย 9 ชนิด ได้แก่ 1.พลังงาน 2.โปรตีน 3.ไขมัน 4.คาร์โบไฮเดรต 5.เบต้าแคโรทีน 6.วิตามินซี 7.ใยอาหาร 8.ธาตุเหล็ก และ 9.แคลเซียม
จากการศึกษาพบว่าผักพื้นบ้านของไทยทุกชนิดให้พลังงาน โปรตีน ไขมันและคาร์โบไฮเดรตน้อยมาก จึงกล่าวได้ว่าผักเหล่านี้กินแล้วไม่ทำให้อ้วน โดยผักที่มีแคลเซียมสูงที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ 1.หมาน้อยมี 423 มิลลิกรัม 2.ผักแพวมี390 มิลลิกรัม 3.ยอดสะเดามี 384 มิลลิกรัม 4.กระเพราขาวมี 221 มิลลิกรัม 5.ใบขี้เหล็กมี 156 มิลลิกรัม 6.ใบเหลียงมี 151 มิลลิกรัม 7. ยอดมะยมมี 147 มิลลิกรัม 8.ผักแส้วมี 142 มิลลิกรัม 9.ดอกผักฮ้วนมี 113 มิลลิกรัม และ 10.ผักแมะมี 112 มิลลิกรัม
ทั้งนี้แคลเซียม มีบทบาทหลักคือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระดูก และป้องกันโรคกระดูกพรุน ช่วยในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งช่วยในการแข็งตัวของเลือด และควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนบางชนิด
ขณะที่ ผักที่มีธาตุเหล็กสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ใบกระเพราแดงมี 15 มิลลิกรัม 2. ผักเม็กมี 12 มิลลิกรัม 3.ใบขี้เหล็กมี 6 มิลลิกรัม 4.ใบสะเดามี 5 มิลลิกรัม และ 5.ผักแพวมี 3 มิลลิกรัม โดยธาตุเหล็กมีบทบาทในด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ สมรรถภาพในการทำงาน สร้างภูมิต้านทานโรค และเกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ ธาตุเหล็กจะถูกดูดซึมได้ดีต้องรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีควบคู่ด้วย
ส่วนผักที่มีใยอาหารสูง 10 อันดับ ได้แก่ 1.ยอดมันปู มี16.7 กรัม 2.ยอดหมุย มี 14.2 กรัม 3. ยอดสะเดา มี 12.2 กรัม 4.เนียงรอก มี 11.2 กรัม 5..ดอกขี้เหล็ก 9.8 กรัม 6.ผักแพว 9.7กรัม 7.ยอดมะยม 9.4 กรัม 8.ใบเหลียง 8.8 กรัม 9.หมากหมก 7.7 กรัม และ 10.ผักเม่า มี 7.1 กรัม ซึ่งใยอาหารในผัก ทำให้ร่างกายขับถ่ายอุจจาระได้เร็วขึ้น ท้องไม่ผูก ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทำให้การดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง ส่งผลให้ลดระดับการใช้อินซูลิน นอกจากนี้ใยอาหารบางชนิด ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผักที่มีเบต้าแคโรทีน สูง 10 อันดับ ได้แก่ 1.ยอดลำปะสีมี 15,157 ไมโครกรัม 2.ผักแมะมี 9,102 ไมโครกรัม 3.ยอดกะทกรกมี 8,498 ไมโครกรัม 4.ใบกระเพราแดงมี7,875 ไมโครกรัม 5.ยี่หร่ามี 7,408 ไมโครกรัม 6.หมาน้อยมี 6,577 ไมโครกรัม 7.ผักเจียงดามี 5,905 ไมโครกรัม 8.ยอดมันปูมี 5,646 ไมโครกรัม 9.ยอดหมุยมี 5,390 ไมโครกรัม และ 10.ผักหวานมี 4,823 ไมโครกรัม
ส่วนผักที่มีวิตามินซีสูง 10 อันดับ ได้แก่ 1. ดอกขี้เหล็กมี 484มิลลิกรัม 2.ดอกผักฮ้วนมี 472 มิลลิกรัม 3.ยอดผักฮ้วนมี 351 มิลลิกรัม4.ฝักมะรุมมี 262 มิลลิกรัม 5.ยอดสะเดามี 194 มิลลิกรัม 6.ผักเจียงดามี 153 มิลลิกรัม7.ดอกสะเดามี 123 มิลลิกรัม 8.ผักแพวมี 115 มิลลิกรัม 9.ผักหวานมี 107 มิลลิกรัม และ 10.ยอดกะทกรกมี 86 มิลลิกรัม โดยทั้งเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี เป็นสารอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดการอักเสบ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคในร่างกาย ทำให้ร่างกายแก่ชราช้าลงด้วย
ที่มา: โพสต์ทูเดย์ วันที่ 3 มกราคม 2555 http://www.posttoday.com/ผลวิจัยพบผักพื้นบ้านไทยอุดมด้วยสารอาหาร
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”