สวนเกษตรผสมผสานแห่งนี้เป็นของครอบครัว “สิทธิสังข์” ใช้ชื่อว่า “สวนสิทธิสังข์เกษตรผสมผสาน” แต่ข้าพเจ้าชอบเรียกส่งเดชเพื่อจะได้จำง่ายๆ ว่า “สิทธิสังข์การเกษตร”
บนเนื้อที่ประมาณ ๑๕ ไร่ มีบิ้งนาประมาณ ๑๐ ไร่ มีป่าหัวไร่ปลายนา หรือกบาลแสร (กบาล แปลว่า หัว, สแร แปลว่า นา) ในภาษาเขมรประมาณ ๓ ไร่ เป็นป่าเต็งรังที่เพื่อนข้าพเจ้าเอาผักหวานมาปลูกแซมตั้งแต่หน้าฝนปีที่แล้วจนถึงหน้าฝนปี ๒๕๕๕ นี้เกือบ ๓๐๐ ต้น
แม้ผักหวานเป็นผักป่าที่เอาใจยากมาก แต่การสู้อุตส่าห์ปลูกก็เพื่อสงวนรสชาติอร่อยของผักที่กำลังสูญหายไปจากป่าหัวไร่ปลายนาของชาวบ้านแถบ ต.ทุ่งมน-สมุด อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ให้ฟื้นคืนกลับมาอยู่คู่ป่าอีกครั้ง ให้ชาวบ้านได้เก็บได้กินเหมือนที่เคยทำในอดีต
และแม้ว่าจะลงผักหวานป่าไปแล้วกว่า ๓๐๐ ต้น อาจจะเหลือยืนต้นให้เจ้าของสวนและมวลผู้คนที่มาหาของป่าได้เก็บกินไม่ถึงครึ่งนึง แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้มันสูญพันธุ์จากป่าไปเปล่าๆ
ว่าไปก็ต่างจากแถวบ้านข้าพเจ้าซึ่งมีพิกัดไม่ห่างจากตีนภูพานในแถบจังหวัดกาฬสินธุ์มากนัก ชาวบ้านแถบนั้นจึงยังไม่นิยมปลูกผักหวานป่า เพราะได้เก็บได้กินบนภู หรือหากจะซื้อหาผักหวานมาแกงใส่ไข่มดแดงก็ไม่ได้ยากมาก ต่างจากผักหวานป่าแถบเมืองสุรินทร์ ซึ่งเพื่อนบางคนที่บ้านเกิดอยู่ที่ อ.จอมพระ ก็เพิ่งเคยเห็นต้นผักหวานป่าเป็นครั้งแรก เหมือนเด็กกรุงเทพฯบางคนไม่เพิ่งเคยเห็นต้นข้าว
ข้าพเจ้าเคยได้ยินมาเช่นกันว่า ผักหวานป่าที่วางขายในตลาดสดเมืองสุรินทร์ส่วนมาก เป็นผักที่รับมาจากช่องจอมบ้าง ช่องสะงำ อันเป็นด่านชายแดนไทย-กัมพูชาบ้าง ซึ่งมีเรื่องตลกขื่นๆ มาเล่าให้ฟังว่า ผักหวานป่าที่ชาวเขมรกัมพูชาเก็บมาใส่ถุงขายตามด่าน หากขายอยู่ที่ชายแดนราคาตกอยู่ที่กิโลกรัมละ ๒๐-๕๐ บาท แต่เพียงที่พ่อค้าคนกลางไปรับซื้อและข้ามฝั่งมาขายที่ชายแดนไทย ราคาจะพุ่งขึ้นไปทันทีที่ก้าวข้ามเส้นเขตแดนไปอยู่ที่กิโลกรัมละ ๑๒๐-๑๕๐ บาทในทันที
ว่าไปจึงน่าเห็นใจคนปลูก หรือเห็นใจชาวบ้านที่ไปเก็บผักหวานมาขาย และน่าตกใจแทนผู้บริโภคในตัวเมืองที่ทางเลือกในเรื่องอาหารมีไม่มาก โดยเฉพาะอาหารป่าที่ราคาไม่แพงมาก และยังคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้เกือบเต็มร้อย
การปลูกผักหวานแซมป่าหัวไร่ปลายนาของครอบครัวสิทธิสังข์ จึงเป็นตัวอย่างของชาวนารุ่นใหม่ที่พยายามแสวงหาคำตอบสำหรับชีวิตเรียบง่าย ด้วยความเชื่อเบื้องหลังว่า หากเราคงความหลากหลายไว้ในแปลงนา ไม่ได้ไถดะเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจทั้งหมด สักวันหนึ่งพวกเราจะเป็นเจ้าของอาหารสะอาด และอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งส่งผลดีโดยตรงต่อผู้ปลูกและเพื่อนบ้าน โดยไม่ได้นับรวมด้วยว่า ในป่ามียารักษาโรค และมีที่อยู่อาศัยจากต้นไม้ที่จะกลายเป็นเงินบำนาญโดยไม่ต้องรอไปจนถึงปลดวัยเกษียณ อีกทั้งยังไม่ได้นับด้วยว่า ป่าหัวไร่ปลายนาผืนเล็กๆ ก็มีส่วนสร้างความสดชื่นผ่อนคลายให้แก่ผืนแผ่นดินนี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
โดย กฤษณา พาลีรักษ์