ในยามปกติพืชผักสวนครัวรอบบ้านนอกจากจะเป็นตู้กับข้าวชั้นดีแล้วยังช่วยลดรายจ่ายที่เกี่ยวกับอาหารของแต่ละครัวเรือนได้มากโข ตะไคร้ ข่า กระชาย มะกรูด พริก กะเพรา โหระพา แมงลัก เป็นเครื่องแกง แต่งรสอาหารที่มักจะปลูกไว้รอบบ้านแม้จะดูเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าต้องหาซื้อทุกทีที่จะต้มจะแกงแม้จะ 5 บาท 10 บาท ก็เป็นเงินไม่น้อยทีเดียว เพราะอย่างนี้จึงมักปลูกติดสวนเอาไว้ นอกจากนั้นมักมีผักพื้นบ้านที่ปลูกง่ายไว้เก็บกิน อย่างมะเขือ ถั่วพู ถั่วผักยาว ดอกแค ฯลฯ ปลูกแซมตามสวนตามบ้านเสมอ หรือไม่ก็จำพวกเกิดเองตามริมรั้วรอบบ้านอย่าง ตำลึง ที่นิยมกินกันทั่วไปอีกทั้งไม่ต้องลงแรงดูแลรักษา
สังคมน้ำขัง (เมื่อก่อนน้ำเคยหลาก) อย่างพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่นครสวรรค์ลงมาจรดปากน้ำ แม้ทางปลายน้ำภาพที่เราคุ้นตาจะเปลี่ยนเป็นเมืองไปมากแล้ว แต่ความเป็นสังคมเกษตรไม่เคยหมดสิ้นไปจากเราอย่างสิ้นเชิง ชานเมืองรอบด้านของพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยังมีชุมชนเกษตรจำนวนมากยังคงทำการผลิตอยู่และเหล่านั้นคืออาหารที่เลี้ยงปากท้องคนกรุง น้ำท่วมยาวนานกว่า 3 เดือน นอกจากผลผลิตทางการเกษตรอันเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวนา ชาวสวน จะเสียหายทั้งหมด การกินการอยู่โดยไม่มีทางหารายได้ให้เพิ่มพูนเป็นเวลาหลายเดือนจึงเป็นภาระหนักของทุกครอบครัว จนกระทั่งน้ำลดก็มีแต่เรื่องต้องจ่ายออกมากมาย ทั้งซ่อมแซมบ้านช่อง ลงทุนทำการผลิตรอบใหม่ที่ต้องซื้อทุกอย่าง ตั้งแต่เครื่องมือเครื่องใช้ที่เสียหายไปกับน้ำท่วม ปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไปจนถึงเมล็ดพันธุ์
จากคาราวานเมล็ดพันธุ์เล่าเรื่องเป็นผ้าป่าฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม
เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม คือคนกลุ่มเล็กๆ ที่เกาะเกี่ยวกันผ่านการปลูกผัก ปลูกข้าว มาเจอกันแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกและเก็บรักษารุ่นต่อรุ่น แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการปลูก กิน และคุณค่าที่ควรรักษาอาหารท้องถิ่นเอาไว้ ก่อนหน้านี้ตั้งใจจะมีคาราวานเล่าเรื่องเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ไปตามชุมชนที่ทีเพื่อนมิตรทำงานอยู่ โดยอาศัยช่วงปลายปีหลังเก็บเกี่ยว แต่เกิดน้ำท่วมใหญ่จนหลายพื้นที่เสียหายหนัก จึงคิดหาทางแบ่งเบากันตามกำลัง ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านจึงเริ่มต้นขึ้น
เริ่มแรกเพียงแต่หาทางช่วยกันลดภาระค่าใช้จ่ายเฉพาะหน้า คนในพื้นที่น้ำท่วมเองก็ต้องการอะไรที่ปลูกได้ไวเก็บกินได้เร็ว เพราะเบื่อมาม่า ปลากระป๋องกันเต็มกลืน ชนิดที่เด็กเห็นปลากระป๋องแล้วร้องไห้โห เมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านจากพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ประสบกับน้ำท่วมรวมรวมกันมามากมาย ถั่วเขียวสำหรับเพาะงอก ผักกาดพื้นเมืองต่างๆ ผักบุ้ง ต้นกล้าพริก มะเขือ หน่อกล้วย หัวมันต่างๆ ข่า ตะไคร้ ผักประจำสวนประจำครัวมากมายนับได้มากกว่า 50 ชนิด ครั้งแรกที่จัดเป็นผ้าป่าเรานำเมล็ดพันธุ์ไปมอบให้พี่น้องเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์ เมื่อวันที่ 12-13 ธันวาคม 54 ที่ผ่านมา ภาพที่เราเห็นคือพอน้ำลดเห็นดินตรงไหนก็ไม่รีรอปลูกอะไรได้ก็ลงมือทันที วันที่ 31 ธ.ค.54 – 1 ม.ค.55 ทางโครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน อุบลราชธานี ก็จักงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ และได้นำเมล็ดพันธุ์ผักที่มีไปมอบให้พี่น้องในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูลซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นกัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ม.ค.55 เราก็ได้ระดมต้นกล้าผัก และเน้นไปที่ข่า ตะไค้ กระชาย ขมิ้นขาว และเมล็ดผักสวนครัวอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อมอบให้พี่น้องแถบชุมชนคลองลัดมะยม คลองบางระมาด คลองบางเชือกหนัง ตลิ่งชัน และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เราพอเชื่อมร้อยระดมความเอื้อเฟื้อนี้ไปถึงได้ เช่น พื้นที่คลองโยง คลองมหาสวัสดิ์ และชุมชนเครือข่ายของโครงการสาวนผักคนเมืองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน อิสระภาพและความมั่งคั่งที่จะพาเราผ่านวิกฤติ
ทำไมถึงย้ำแล้วซ้ำอีกว่าต้องเป็นเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นข้าว ผัก เราก็อยากจะให้เป็นพืชผักพื้นบ้าน ให้เป็นพันธุ์แท้ เก็บเมล็ดพันธุ์เองได้ เพราะค่าเมล็ดพันธุ์นั้นเรียกได้ว่าแพงลิบ มูลนิธิชีววิถี ศึกษาต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเมื่อปี 52 พบว่าเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ถึงร้อยละ 37 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดสูงกว่าค่าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงรวมกันซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 33 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นหากจะหาสาเหตุของการลืมตาอ้าปากไม่ได้เสียทีของเกษตรกร ก็น่าจะพอสรุปได้ว่าเพราะเราละเลยการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ละทิ้งความรู้ในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ จนสุดท้ายเรากำลังละทิ้งเมล็ดพันธุ์ไปโดยไม่ช่วยกันรักษาไว้เพื่อเป็นสมบัติของทุกคน แต่ปล่อยให้บรรษัทเกษตรครอบครองสิทธิบัติตลอดจนสิทธิในการพัฒนาและค้าเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านยังไม่สูญหายไปไหน ยังมีผู้คนเห็นความสำคัญเก็บรักษาความมั่งคั่งความหลากหลายของพืชผักไว้ เมื่อถึงยามวิกฤติดินฟ้าอากาศแปรปรวนหลายพื้นที่ผลผลิตเสียหายหนัก เป็นหนี้เป็นสิน ข้าวยากหมากแพง หากจะลงทุนเริ่มเพาะปลูกกันใหม่พันธุ์ข้าวปลูกในตลาดก็ราคาแพงระยับ มีแต่พี่น้องทางไกลเคยช่วยเหลือแบ่งปันกัน ขนข้าวขนผักมาสู่ ก็ล้วนแต่เป็นผักเป็นข้าวพื้นบ้านไม่มีราคาค่างวดในสังคมจีดีพีแต่ทำให้อิ่มท้องได้แน่นอน อาจจะได้รสหลากหลายกว่าด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ไม่สามารถมองข้ามชีวิตจริงอีกด้านไปได้ พี่น้องทำนายังต้องการพันธุ์ข้าวจำนวนมาก พี่น้องทำสวนต้องการพันธุ์ผักจำนวนมาก และหนทางเดียวที่มีตอนนี้คือการซื้อหาเมล็ดพันธุ์ที่ตอบสนองต่อตลาด ปลูกแล้วต้องได้ขาย เพราะฉะนั้นก้าวต่อไปเราจะสามารถรุกคืบอย่างไรเพื่อให้มีเมล็ดพันธุ์ดี ราคาไม่สมเหตุสมผล เก็บพันธุ์ได้ หรือมีเกษตรกร ชุมชนที่มีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อสร้างทางเลือก การแข่งขันทางการตลาด ลดการผูกขาดปัจจัยการผลิต เพื่ออิสรภาพที่แท้จริงของทั้งเมล็ดพันธุ์และชีวิตชาวนา ชาวสวน ชาวไร่รวมไปถึงคนกิน
แวะพูดคุยกับเราทำความรู้จักผักพื้นบ้าน ข้าวพื้นบ้าน ของกินบ้านๆ ความมั่งคั่งทางอาหาร ความมั่นคงของชีวิต และทอดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านร่วมกันได้ที่งานกรีนแฟร์ในวันที่ 9-12 ก.พ. 55 นี้ ที่ซุ้มกินเปลี่ยนโลกและเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม : )
โดย แก้วตา ธัมอิน โครงการรณรงค์กินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี