“พาณิชย์” เตรียมตรวจสอบผู้ค้าตลาด-ห้างค้าปลีก แอบอ้างใช้ชื่อจีไอชมพู่พันธุ์เพชรสายรุ้ง หลอกขายผู้บริโภคราคาสูง มีโทษปรับ 2 แสนบาท
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้รับการร้องเรียนจากผู้ว่าราชการจ.เพชรบุรี ระบุว่าได้มีผู้ค้าชมพู่ในตลาดอตก.นนทบุรี และเขตจตุจักร รวมถึงห้างสรรพสินค้าบางแห่ง ได้นำชมพู่สายพันธุ์อื่น คือ ชมพู่เพชรสุวรรณมา แอบอ้างติดป้ายเป็น ชมพู่เพชรพันธุ์เพชรสายรุ้ง มาจำหน่ายในท้องตลาดในราคาค่อนข้างสูง ซึ่งกรมจะลงไปตรวจสอบเพราะถือเป็นการแอบอ้างและโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด คิดว่าเป็นชมพู่เพชรสายรุ้งแท้ และเป็นการกระทำผิดตามพ.ร.บ.สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 ตามมาตรา 27 มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
ที่ผ่านมา กรมได้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาตร์ (จีไอ) ให้กับชมพู่พันธุ์เพชรสายรุ้ง เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2551 ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ที่ระบุว่าการใช้ชื่อ ชมพู่เพชร ต้องเป็น พันธุ์เพชรสายรุ้ง เท่านั้น ห้ามมิให้ใช้กับชมพู่สายพันธุ์อื่น
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานี้ผลผลิตชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง ของจ.เพชรบุรี ได้เริ่มทยอยออกสู่ตลาดบ้างแล้ว และจะทยอยออกสู่ตลาดมากตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.พ.-พ.ค. โดยความแตกต่างระหว่างชมพู่เพชรพันธุ์เพชรสายรุ้ง กับชมพู่เพชรสุวรรณนั้นเห็นได้ชัดเจนคือ ชมพู่เพชร พันธุ์เพชรสายรุ้ง ก้นผลแคบ สีชมพูเข้ม เนื้อแข็งกรอบ เนื้อหนา มีสีเขียวอ่อนปนชมพู มีแถบสีชมพู (เส้นเอ็น) เป็นริ้ว มีเมล็ด 1-3 เมล็ด และมีรสชาติหวานกลมกล่อม มีเปอร์เซ็นต์ความหวาน 8-15 องศาบริกซ์
ขณะที่ชมพู่เพชรสุวรรณมีก้นผลกว้าง ขอบสีแดง เนื้อนิ่ม ไม่กรอบ ค่อนข้างบาง มีสีเขียวปนคล้ำ มีเส้นเอ็นสีแดงเห็นชัดเจน มีเมล็ด 1-3 เมล็ด มีรสจืด-หวาน และมีเปอร์เซ็นต์ความหวาน 6-11 องศาบริกซ์ เท่านั้น ดังนั้นผู้บริโภคควรตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะเลือกซื้อ เพื่อป้องกันการแอบอ้างใช้จีไอ
***ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างชมพู่เพชรสายรุ้งกับชมพู่เพชรสุวรรณ****
ที่มา : สำนักงานจังหวัดเพชรบุรี
ลักษณะ ชมพู่เพชรสายรุ้ง ลักษณะ ชมพู่เพชรสุวรรณ
ลักษณะก้นผล ก้นผลแคบ สีชมพูเข้ม ลักษณะก้นผล ก้นผลกว้าง ขอบตูดแดง
ลักษณะก้นเนื้อ แข็ง กรอบ เนื้อหนา ลักษณะก้นเนื้อ นิ่ม ไม่กรอบ เนื้อค่อนข้างบาง
สีเขียวอ่อนปนชมพู มีแถบสีชมพู (เส้นเอ็น)เป็นริ้ว สีเขียวปนแดงคล้ำ มีเส้นเอ็นสีแดงเห็นชัดเจน
เมล็ด 1-3 เมล็ด เมล็ด 1-3 เมล็ด
รสชาติ หวานกลมกล่อม รสชาติ จืด-หวาน
% ความหวาน 8-15 องศาบริกซ์ % ความหวาน 6-11 องศาบริกซ์
ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี
ที่มา:โพสต์ทูเดย์ 07 มีนาคม 2554