“ระหว่างปี 2552-2553 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่พืชตัดต่อพันธุกรรม หรือพืชจีเอ็มโอ (genetically modified crop) กลายมาเป็นบรรทัดฐานของเกษตรกรในสหรัฐอเมริกา ปริมาณไข่ของผีเสื้อโมนาร์ชในแถบมิดเวสต์ลดลงถึงร้อยละ 81”
นั่นคือการค้นพบโดยงานวิจัยชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยมิเนโซต้า และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอโอว่า ซึ่งชี้นิ้วไปยังบริษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่ “มอนซานโต้” ว่าเป็นตัวการสำคัญการทำร้ายและทำลายสัตว์โลกที่สวยงามและไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ชนิดนี้
ในสหรัฐอเมริการ้อยละ 94 ของเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง และร้อยละ 72 ของผู้ปลูกข้าวโพดใช้เมล็ดพันธุ์ตัดต่อพันธุกรรมยี่ห้อราวด์อัพ เรดดี้ ของมอนซานโต้ ซึ่งไปทำลายล้างแหล่งวางไข่ที่สำคัญของมันคือต้นมิลก์วีดที่อยู่ที่ดินที่ทำการเพาะปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง
ทั้งข้าวโพดและถั่วเหลืองราวด์อัพ เรดดี้ ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้มันแข็งแรงสมบูรณ์ทนทานต่อโรคให้ผลผลิตต่อต้นมากๆ แต่ตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้มันต้านทานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยี่ห้อราวด์อัพของมอนซานโต้ อันเป็นระบบคิดบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในการผูกมัดเกษตรกรไว้ในมือ เป็นวิธีคิดเดียวกับระบบเกษตรพันธะสัญญา แต่ใช้การตัดต่อพันธุกรรมมามัดมือเกษตรกรเอาไว้นั่นเอง
เมื่อพืชที่ปลูกมีภูมิต้านทานต่อสารเคมีดังกล่าว เกษตรกรก็ฉีดมันอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่มีการแบ่งแยกวัชพืชซึ่งรวมถึงมิลก์วีดเข้าไปด้วย ผลก็คือเป็นการทำลายผีเสื้อโมนาร์ชให้ลดลงเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว
โดยปรกติในแต่ละปีผีเสื้อโมนาร์ชจากสหรัฐจะอพยพไปเม็กซิโกใน แต่นักวิจัยพบว่าจำนวนผีเสื้อที่อพยพไปเม็กซิโกลดน้อยลงไปทุกที ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเกิดต่ำลงในสหรัฐ
ในปีนี้จำนวนผีเสื้อที่เข้าไปอยู่ตามต้นไม้กินบริเวณราว 7 เอเคอร์ ลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และถือเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบย้อนหลังไปถึงปี 2549 ที่มีผีเสื้อครอบคลุมบริเวณถึง 45 เอเคอร์
แต่แน่นอนว่ากระแสการเกษตรแบบนี้ยากที่จะต้านทานไหว มันเป็นวิถีที่เกษตรกรสมัครใจเลือกว่าเข้าท่าที่สุดสำหรับพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องช่วยอะไรกันไม่ได้มากนัก
สำหรับผีเสื้อโมนาร์ชหากพวกมันต้องการจะอยู่รอดต่อไปมันก็ต้องปรับตัวไปวางไข่ในแหล่งอื่นๆ แทน และหากมนุษย์อยากจะช่วยอนุรักษ์เจ้าปีกลายดำส้มที่สวยงามนี้เอาไว้ ก็คงต้องหาทางปลูกมิลก์วีดเพิ่มขึ้นนอกเขตแหล่งเพาะปลูกพืชตัดต่อพันธุกรรมเหล่านี้
หรือไม่ก็รอว่าเมื่อไรบริษัทพวกนี้จะลงทุนตัดต่อพันธุกรรมพืชผลทนทานโรค ทนแล้ง ทนหนาว มาแทนการทนทานยาฆ่าแมลงและปราบวัชพืช
…
ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 แลไปข้างหน้า โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com
“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”