พืชผักสวนครัวอะไรเอ่ย? ไม่ต้องปลูกแต่เป็นยาดี สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

ผู้อ่านเคยสำรวจพืชผักในบ้านตัวเองหรือไม่ว่ามีอยู่กี่ชนิด ท่านอาศัยบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถว คอนโดฯ หรือบ้านในต่างจังหวัดที่มีบริเวณกว้างขวางกว่าสังคมเมืองก็ไม่เกี่ยง เพราะนักรณรงค์ให้กินพืชผักบอกเกณฑ์พื้นฐานว่า บ้านประเภทไหนไม่สำคัญ ขอให้บ้านนั้นปลูกพืชผักกินไห้นับได้เกิน 10 ชนิด เข้าข่ายครอบครัวรักสุขภาพ ท่านลองนั่งนึกนับดูสักหนึ่งนาที…

บางท่านนับไปนับมาไม่ครบ ขอนับมะม่วง กล้วย และผลไม้อื่นๆ ให้ครบ ผลไม้บางชนิดพออนุโลม เนื่องจากยอดมะม่วง ปลีกล้วย เป็นส่วนของพืชผักกินได้และมีรสอร่อย แต่ผลไม้บางชนิดไม่จัดว่าเป็นพืชผัก แต่ก็ขอส่งเสริมให้ปลูกกินผลไม้ด้วย เพราะเป็นอาหารที่มีสารออกฤทธิ์ทางยาสมุนไพรดีๆ ทั้งนั้น

สำหรับท่านที่นับไม่ครบ 10 ชนิด อย่าท้อถอย ให้เริ่มปลูกพืชผักในบ้านเพิ่มขึ้น ใครมีที่ดินแบ่งเป็นแปลงผักบ้าง ใครอยู่ตึกปลูกผักในกระถางหรือในกระบะเก็บกินรสอร่อยเหมือนกัน แต่ที่ไม่ต้องปลูก เพียงแต่เมื่อต้นนี้ขึ้นหรืองอกแล้วอย่าไปถอนทิ้ง เก็บไว้กิน หมั่นรดน้ำ เราจะได้ผักรสอร่อยและเป็นสมุนไพรที่ดีต้นหนึ่ง


ทายซิว่าคำตอบตรงกันหรือไม่? เฉลยว่า ตำลึง เป็นไม้เถา (มีมือเกาะ) ชอบขึ้นทั่วไปในที่ร่มและชื้น หน้าฝนทีไร บ้านใดที่ปล่อยที่ให้ดูรกๆ ชื้นๆ ตำลึงจะมาพาดผ่านให้เก็บกินยอดอ่อน ตำลึงเป็นพืชปลูกขายเช่นกัน ใครสนใจปลูกเนื่องจากบ้านตนเองไม่มีตำลึงที่นกนำมาปลูกไว้ การปลูกง่ายมาก โดยการตัดเถาตำลึงแก่ๆ ยาวสัก 1 ศอก ขุดดินให้เป็นร่องยาวตื้นๆ แล้ววางเถาลงไปตามร่อง เถาครึ่งหนึ่งอยู่ในร่อง เอาดินกลบไว้ รดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 1 สัปดาห์จะแตกใบอ่อนๆ ตำลึงเป็นไม้ไม่เลือกดิน แต่จำไว้ว่าเมื่อตำลึงโตแล้วเขาต้องการปุ๋ย และอย่าให้ถูกแดดมาก ควรรดน้ำให้ดินชุ่มอยู่เสมอ เพียงเท่านี้เราจะได้ตำลึงไว้กิน และเป็นยาดีอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่โบราณในตำรายาอายุรเวทของอินเดียมีบันทึกไว้แต่พันปีก่อน กล่าว่า รากตำลึง เป็นยาเย็น กระตุ้นกำหนัด แก้อาเจียน แก้ตกขาว แก้รู้สึกร้อนที่ผิวหนัง ใบตำลึง มีรสหวาน แต่มีกลิ่นด้วยออกฉุนๆ ถือเป็นยาเย็น แก้โรคเกี่ยวกับท้องและลำไส้ รักษาเสมหะและปิตตะ ดอกตำลึง แก้ผิวหนังผื่นคัน แก้ดีซ่าน ลูกตำลึง บางท่านอาจไม่เคยเห็น ลูกดิบสีเขียวพอสุกจะสีแดง มีกลิ่นและรสหอมหวานแต่ย่อยยาก กินมากทำให้ท้องอืด ลูกตำลึงถือเป็นยาเย็นเช่นกัน ใช้แก้ไข้ แก้รู้สึกร้อนที่ผิวหนัง แก้หลอดลมอักเสบ แก้หืด แก้โรคเกี่ยวกับเลือด เป็นต้น

สำหรับสรรพคุณยาไทย กล่าวถึง ใบตำลึง เป็นยาเย็นดับพิษร้อน แก้พิษไข้กาฬ แก้เริม งูสวัด แก้ผิวหนังผื่นคัน เถาตำลึง แก้ตาฝ้า ตาช้ำ ตาแดง ตาแฉะ แก้อาเจียน รากตำลึง รสเย็น แก้ดวงตาขึ้นฝ้า ดับพิษทั้งปวง


ถ้าคัดเลือกสรรพคุณเด่นแต่โบราณนำมาแนะนำให้ใช้ เริ่มจากแก้พิษคัน แก้ผดผื่นคัน ถือว่าตำลึงเป็นยาสมุนไพรที่หาง่ายและมีประสิทธิภาพดี สรรพคุณนี้ยังยอมรับในหมู่ชาวบ้านประเทศอินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และในแอฟริกาด้วย หากไปถูกพิษคันจากสัตว์ หรือจากต้นไม้คันอะไรก็ตาม ให้รีบล้างน้ำที่บริเวณคันก่อน แล้วเด็ดใบตำลึงสดๆ มา 4-5 ใบ ล้างน้ำ แล้วนำมาใส่ฝ่ามือทั้งสองข้าง จากนั้นขยี้ให้ใบตำลึงแหลกมีน้ำติดมือ ใช้น้ำทาทันที หรือนำใบตำลึงไปตำให้ละเอียด ใช้น้ำทาก็ได้

อาการคันเกิดได้หลายสาเหตุ แต่เท่าที่ทางมูลนิธิสุขภาพไทยได้เก็บข้อมูลมา ตุ่มคันจากน้ำเสีย คันจากยุงกัด คันจากละอองข้าวสาร คันลมพิษ คันจากหอยคัน หรือผดผื่นคันจากอากาศร้อน ใช้ใบตำลึงสยบได้หมด

การใช้ตำลึงเป็นยากินนั้น ใช้แก้ไข้ตัวร้อนได้ดี ใช้ใบตำลึงสด 5-10 ใบ ตำให้ละเอียด ผสมน้ำ 1 แก้ว ดื่มรวดเดียว เป็นยาเย็นลดไข้ และถ้าเป็นเด็กมีไข้สูงนำใบตำลึงมาขยี้ หรือตำให้ละเอียดใช้น้ำทาตัวช่วยลดไข้ ลดความร้อนในร่างกายได้ดี มีผู้รู้ชาวไทยแนะนำด้วยว่า ตำรับยาโบราณ ชื่อยาเบญจโลกวิเชียรหรือยาห้าราก (รากชิงชี่ รากย่านาง รากคนทา รากเท้ายายม่อม รากมะเดื่ออุทุมพร) ถ้าจะให้สรรพคุณแก้พิษไข้ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ให้ใช้น้ำจากรากตำลึงเป็นกระสายยาเพื่อผสมในตำรับยานี้ด้วย

บางท่านที่เริ่มมีอาการร้อนๆ ในร่างกาย อาจใช้วิธีต้มแกงจืดใบตำลึงหมูสับ รับประทาน หรือท่านที่ไม่นิยมเนื้อสัตว์ใส่แค่ใบตำลึงต้มแกงจืด ซดน้ำเคี้ยวตำลึงก็จะช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำได้ดี ท่านที่ต้องการความแรงของฤทธิ์ยาเย็น เนื่องจากอาการร้อนในรุมเร้ามาก อาจคั้นน้ำใบสดตำลึงให้ได้สัก 1 แก้ว ดื่มกินได้เลย

และในวงวิชาการสมัยใหม่ยอมรับว่า ตำลึงเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพดีต้นหนึ่งเพื่อใช้ช่วยเหลือผู้เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากมีการวิจัยพบว่า ทั้งส่วนของใบ เถา ราก ผล ของตำลึงมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และตำลึงยังเป็นพืชผักที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ซึ่งช่วยชะลออาการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ และในผู้เป็นเบาหวานมักจะประสบกับปัญหาอาการแทรกซ้อนจากความเสื่อมของอวัยวะ ต่างๆ

ที่สำคัญเหนืออื่นใด ตำลึงเป็นพืชผักที่อุดมด้วยโภชนาการ เป็นพืชที่ให้วิตามินเอสูงมาก แม้ว่าเป็นรองจากใบยอ แต่ใบตำลึงกินง่ายกว่าหาได้ง่ายกว่า และเด็กเล็ก สาวหนุ่ม คนชรากินได้ง่ายรสอร่อย ใบตำลึงยังมีวิตามินซีสูง วิตามินบี 1, บี 2 และบี 3 ที่จำเป็นต่อระบบประสาท บำรุงผิวหนัง และมีธาตุเหล็ก ที่สำคัญต่อการผลิตเลือดในร่างกายเรา ตำลึงยังมีเส้นใยอาหารสูง ช่วยขับถ่าย ลดสารพิษสะสมในร่างกาย

หากนับพืชผักในสวนให้ครบ 10 ชนิด อย่าลืมตำลึงเด็ดขาด ไม้เลื้อยขึ้นเองได้ไม่ต้องปลูก ขอให้ใส่ใจรดน้ำบำรุงดิน รับรองว่าจะมีใบให้เด็ดกินเป็นอาหารและยาตลอดปี

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ 25 ก.ย. 52

Relate Post