ภาวะเมตาโบลิคซินโครมเกินในวัยรุ่น

จากผลการศึกษาพบว่า ปิดเทอม 1 ครั้งเด็กและเยาวชนจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น  3-4 กก. เพราะใช้เวลาว่างไปกับการดูทีวี เล่นเกม และกินอาหารจังก์ฟู้ด โดยเฉพาะเด็กในเขตเมือง ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมาคือ โรคอ้วน สายตาสั้นเทียม ฟันผุ ติดเกมและนำไปสู่ปัญหาก้าวร้าวในที่สุด

ดร.อุรุวรรณ แย้มบริสุทธิ์ นักวิจัยประจำหน่วยมนุษยโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ภาวะอ้วนของเด็กไทยทั้งในเด็กเล็กและเด็กโตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากปัจจัยสาเหตุหนึ่งจากพันธุกรรมแล้ว การที่เด็กมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภาวะอ้วนลงพุงและ เมตาโบลิค ซินโดรม ซึ่งเป็นกลุ่มภาวะผิดปกติของร่างกายก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน แล้วในที่สุดจะนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่นับเป็นปัญหาสุขภาพที่น่ากลัวอย่างยิ่ง สำหรับคนไทยในยุคปัจจุบัน

ภาวะเมตาโบลิค ซินโดรม (Metabolic Syndrome) ประกอบด้วยกลุ่มอาการหลายอย่างรวมกัน คือเด็กและวัยรุ่นจะอ้วนและมีค่าเส้นรอบเอวมากเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งใช้เป็นดัชนีคัดกรองตัวแรก เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes mellitus) ซึ่งจะมีภาวะดื้ออินซูลิน (ร่างกายผลิตอินซูลินได้มากแต่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ยาก เมื่อน้ำตาลในเลือดมากจะส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น จอประสาทตาเสื่อม ทำให้ตาบอดในที่สุด) นอกจากนี้ยังประกอบด้วยภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (Hypertriglyceridemia) ภาวะไขมันดีต่ำ ซึ่งช่วยในการผลักไขมันไม่ดีออกจากร่างกาย ไขมันดีจะพบในร่างกายคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (High-Density Lipoprotein Cholesterol (HDL-C))  เมื่อตรวจพบสิ่งเหล่านี้ แสดงว่าผู้ป่วยมีปัญหาภาวะเมตาโบลิค ซินโดรม ส่งผลต่อความผิดปกติของเมตาบอลิซึมในร่างกายเพิ่มขึ้น

กลไกการเกิดภาวะ เมตาโบลิค ซินโดรม ประกอบด้วยปัจจัยหลัก 2 ส่วน คือ ภาวะอ้วนและภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยมีภาวะอ้วนเป็นปัจจัยพื้นฐาน ผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วนจะมีการสะสมเนื้อเยื่อไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันตัวเซลล์ไขมันเองก็มีการขยายขนาดและสร้างสารที่ทำให้ร่างกายเกิด กระบวนการอักเสบตามมา ทำให้ร่างกายมีการอักเสบเพิ่มขึ้นและยาวนานขึ้น ยิ่งผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนลงพุงจะมีเนื้อเยื่อไขมันสะสมบริเวณพุงและอวัยวะภายในมากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ ทำให้มีการปล่อยกรดไขมันอิสระจำนวนมากไปสะสมตามเนื้อเยื่อตับและตับอ่อน ทำให้อินซูลินทำงานไม่ปกติ จึงไม่สามารถพาน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้เกิดปัญหาภาวะดื้อต่ออินซูลิน นอกจากนี้ภาวะดื้อต่ออินซูลินยังมีผลต่อการยับยั้งภาวะการสลายไขมันในเนื้อ เยื่อไขมัน ทำให้กรดไขมันอิสระในเลือดเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดไขมันสะสมที่ตับ เกิดปัญหาระบบการทำงานของตับเสื่อมลง และภาวะดื้อต่ออินซูลินทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดทำงานผิดปกติ (Endothelial Dysfunction) และมีการเพิ่มขึ้นของ Fibrinogen และ สาร PAI-1 และสะสมในหลอดเลือด เกิดหลอดเลือดแดงแข็งตามมา

ส่วนแนวทางการป้องกันภาวะ เมตาโบลิค ซินโดรม ผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่ต่อสุขภาพเด็ก เน้นบทบาทของคุณพ่อคุณแม่ในการเลี้ยงดู โดยแต่ละช่วงวัยจะมีการดูแลแตกต่างกัน สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 2 ปี ควรเลี้ยงดูด้วยนมแม่และเริ่มให้อาหารเสริมตามวัยควบคู่ไปด้วยเมื่อเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ขณะเดียวกันควรระวังเรื่องคุณภาพของอาหารเสริมด้วย เพราะถ้าเป็นอาหารเสริมที่มีคุณภาพไม่ดีนักหรือมีแคลอรีมากเกินไปก็อาจส่งผล ทำให้น้ำหนักมากเกินได้  แต่โดยทั่วไปแล้วในช่วงวัยแรกเกิดถึง 2 ปี นี้ก็ไม่ควรจำกัดอาหารไขมันมากนัก เนื่องจากอาจมีผลต่อการเจริญเติบโต แต่ยังต้องควบคุมการให้นมและอาหารในปริมาณที่เหมาะสมคือไม่มากไม่น้อยเกิน ไป  แต่หลังจากอายุ 2 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะช่วง 2-5 ปี คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลในเรื่องของการ เตรียมอาหารให้ครบ 5 หมู่  จึงต้องระมัดระวังอาหารจำพวกไขมัน และอาหารที่มีรสหวานไม่ให้มากเกินไป เนื่องจากทำให้เด็กมีน้ำหนักเพิ่มง่ายและเด็กติดรสหวาน  รวมทั้งอาหารรสเค็มจัดซึ่งเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง  แนะนำให้มีเมนูอาหารผักทุกวันเพื่อให้เด็กเคยชินกับการบริโภคผัก

แม้โรคร้ายที่เกิดจากภาวะ เมตาโบลิค ซินโดรม น่ากลัวสักเพียงไร หากเราเรียนรู้ในการป้องกันพร้อมปรับพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกายให้ เหมาะสม  โรคร้ายที่น่ากลัวก็จะไม่ย่างกรายเข้ามาอย่างแน่นอน

ที่มา: เดลินิวส์ 15 พฤษภาคม 2554

“กินเปลี่ยนโลกเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์การนำข่าวหรือเรื่องเล่าต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า”

Relate Post